ปี 2559 ถือเป็นอีกหนึ่งปีที่ภาพรวมอุตสาหกรรมหนังสือของไทยอยู่ในภาวะซบเซา เนื่องจากยังคงได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบเศรษฐกิจและกำลังซื้อของผู้บริโภคยังคงอยู่ในภาวะชะลอตัว ซึ่งจากผลกระทบที่เกิดขึ้นดังกล่าว ส่งผลให้มีการคาดการณ์กันว่าภาพรวมของอุตสาหกรรมหนังสือในสิ้นปี 2559 นี้น่าจะยังมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 12,000-13,000 ล้านบาท เท่ากับปี 2558 ที่ผ่านมา
อัตราการเติบโตที่ทรงตัวของอุตสาหกรรมหนังสือที่ชะลอตัวอยู่ในขณะนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นมาเมื่อ 1-2 ปีนี้เท่านั้น แต่สะสมมายาวนานนับตั้งแต่ปี 2553-2554 ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวประเทศไทยมีปัญหามากมายเกิดขึ้นภายในประเทศไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ หรือความวุ่นวายทางการเมือง รวมไปถึงการขาดแรงสนับสนุนจากหน่วยงานของภาครัฐไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนในด้านของการอ่าน หรือการให้งบสนับสนุนในด้านของการซื้อหนังสือเข้าห้องสมุด
นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีก็ถือเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้จำนวนผู้อ่านหนังสือในรูปแบบที่เป็นรูปเล่มมีการปรับตัวลดลง เนื่องจากการอ่านหนังสือในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์มีความสะดวก และพกพาง่าย ปัจจัยดังกล่าวทำให้ผู้บริโภคส่วนหนึ่งเลือกที่จะอ่านหนังสือในรูปแบบอีเล็กทรอนิกส์มากกว่าการหนังสือในรูปเล่ม
จากการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบที่เกิดขึ้นดังกล่าว ส่งผลให้สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จําหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ต้องทำการวิจัย ‘พฤติกรรมผู้บริโภคในการเข้าร้านหนังสือ’ เพื่อให้ทราบถึงความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบัน และเทรนด์ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมหนังสือไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายปรับตัวตามสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงให้ทัน
น.ส.ทิพย์สุดา สินชวาลวัฒน์ กรรมการสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จําหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หลังจากได้ทำการวิจัย ‘พฤติกรรมผู้บริโภคในการเข้าร้านหนังสือ’ ทำให้พบว่า สภาพเศรษฐกิจ สังคม และพฤติกรรมการอ่านของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้อัตราการเข้าร้านหนังสือของผู้บริโภคปรับตัวลดลง โดยเฉพาะร้านหนังสือรายย่อย แต่อย่างไรก็ดี หากมองในด้านของกลุ่มผู้อ่านถือว่าไม่ได้มีอัตราการอ่านหนังสือที่เปลี่ยนแปลงไปมากนัก เนื่องจากผู้อ่านมีการเปลี่ยนแปลงในส่วนของประเภทของหนังสือที่อ่าน และมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการอ่านไปในรูปแบบของอิเล็กทรอนิกส์
ดังนั้น การที่จะดึงดูดให้ผู้บริโภคมาที่ร้านหนังสือมากขึ้นควรเริ่มการจัดทำระบบฐานข้อมูลลูกค้า รวมไปถึงบริหารฐานข้อมูลของลูกค้าอย่างจริงจัง เพื่อที่จะได้นำข้อมูลของผู้บริโภคมาวิเคราะห์ และจัดเตรียมประเภทหนังสือรวมถึงกิจกรรมทางการตลาดต่างๆให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น อีกทั้งยังต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดวางของร้าน ให้ตรงกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภครุ่นใหม่ โดยควรจะเน้นไปที่การสร้าง community engagement ของกลุ่มนักอ่าน ไม่ว่าจะเป็นการจัดโซนให้นั่งอ่านหนังสือพร้อมทั้งคาเฟ่ภายในร้าน จัดกิจกรรมระหว่างกลุ่มนักอ่าน หรือปรับรูปแบบของร้านให้มีลักษณะเป็นกึ่ง co-working space เพื่อรองรับเทรนด์ของกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งจะนิยมใช้บริการร้านหนังสือในรูปแบบดังกล่าว
นอกจากนี้ควรจะมีการสนับสนุนและส่งเสริมให้มีการอ่านหนังสือเพิ่มมากขึ้นในภาพรวม อาจเน้นเจาะไปที่หนังสือบางประเภทที่เข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้ง่าย เช่น นิยายและวรรณกรรม ที่มักจะเป็นประเภทหนังสือที่คนจะเริ่มอ่านเป็นประเภทแรก ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนไปอ่านประเภทอื่นๆตามลักษณะความชอบและแรงสนับสนุนของตลาด
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นดังกล่าว จะเห็นได้ว่าเริ่มมีผ็ประกอบการร้านหนังสือเริ่มปรับตัว เพื่อรับเทรนด์ที่กำลังเกิดขึ้น เห็นได้จากการปรับรูปแบบภายในร้านและบริการของร้านบีทูเอส ซึ่งล่าสุดได้มีการชูคอนเซ็ปต์ ธิงค์ สเปซ บีทูเอส เปิดให้บริการภายในศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล อีสท์วิลล์ ซึ่งถือเป็นสาขาที่มีขนาดพื้นที่ใหญ่ที่สุด คือ 3,000 ตร.ม. ภายในร้านจะแบ่งพื้นที่ออกเป็น 5 โซน คือ 1.พื้นที่จำหน่ายหนังสือไทยและต่างประเทศ 2.พื้นที่งานศิลป์สำหรับคนรักงานอาร์ต 3. พื้นที่หนังและเพลง 4. พื้นที่รวมโรงเรียนสอนทักษะ และ 5. พื้นที่พบปะแลกเปลี่ยนความคิด
ด้านร้านนายอินทร์ก็มีการปรับปรุงร้านภายใต้แนวคิดไลฟ์สไตล์ ด้วยการพื้นที่ภายในร้านแบ่งเป็น 3 โซนหลัก ประกอบด้วย โซนที่ 1 มุมเด็กอายุ 0 – 6 ปี เพื่อส่งเสริมการการเรียนรู้ของเด็กให้มีพัฒนาการที่ดี โซนที่ 2 คือ มุมติวเตอร์ เปิดพื้นที่พร้อมอุปกรณ์การอ่านหนังสือเป็นการติวเข้มในวันหยุด และเวลาว่างระหว่างเพื่อน หรือครูและลูกศิษย์ ซึ่งหลังจากทดลองเปิดให้บริการสาขาในกรุงเทพฯได้ผลการตอบรับเป็นที่น่าพอใจ ในอนาคตร้านนายอินมีแผนที่จะขยายสาขาไปในหัวเมืองใหญ่ โดยเฉพาะในทำเลแหล่งสถาบันกวดวิชา และศูนยการเรียนรู้ ขณะที่โซนที่ 3 จะเป็นมุม How To Corner ศูนย์รวมหนังสือเชิงจิตวิทยา
นอกจากจะปรับภาพลักษณ์ภายในร้านให้เลือกเข้าไปใช้บริการได้งานแล้ว ร้านนายอินทร์ยังมีการเพิ่มกลยุทธ์เชิงรุก ด้วยการเดินสายโรดโชว์จัดมหกรรมการขายหนังสือไปตามพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งในกรุงเทพฯและหัวเมืองใหญ่ ๆ ซึ่งในส่วนของสถานที่ที่จะเข้าไปโรดโชว์ก็จะมีทั้งในส่วนของอาคารสำนักงาน โรงเรียน และโรงพยาบาล เป็นต้น
ขณะเดียวกัน ร้านนายอินทร์ก็หันมาให้ความสำคัญกับเทคโนโลยี เพื่อให้สอดคล้องกับผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน ด้วยการเปิดให้บริการ “นายอินทร์ ดิจิทัช” หรือบริการสั่งซื้อหนังสือออนไลน์ด้วยตัวเองผ่านเครื่องอัตโนมัติแบบ Touch Screen ที่ติดตั้งภายในร้าน ซึ่งนอกจากจะสั่งซื้อหนังสือได้แล้วยังให้บริการค้นหาข้อมูล และพรีวิวหนังสือก่อนการตัดสินใจซื้อ โดยหลังจากสั่งซื้อหนังสือเรียบร้อยก็ยังมีบริการจัดส่งหนังสือถึงบ้าน
ขณะที่ร้านหนังสือกำลังปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค ในส่วนของสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) ก็เดินหน้าเป็นแกนนำจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านหนังสือ และผู้ผลิตหนังสือ ล่าสุดได้เตรียจัดงาน “มหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 21 (Book Expo Thailand 2016)” ระหว่างวันที่ 13-24 ต.ค.นี้ ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
นายจรัญ หอมเทียนทอง นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) กล่าวว่า งาน “มหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 21 (Book Expo Thailand 2016)” ถือเป็นงานแสดงหนังสือระดับชาติที่ได้รับความสนใจและรอคอยจากบรรดาคนรักการอ่านมาตลอด โดยในปีนี้จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่สวนกระแสเศรษฐกิจมีสำนักพิมพ์ไทยตอบรับเข้าร่วมงาน 406 ราย รวมทั้งสิ้น 934 บูธ บนพื้นที่ประมาณ 21,000 ตร.ม. จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “เสนอหน้า” ซึ่งเชื่อมโยงกับนิทรรศการไฮไลท์ของงานคือ “นิทรรศการเสนอหน้า” ด้วยการเปิดเผย “เบื้องหลัง” การผลิตหนังสือสู่ “เบื้องหน้า” กว่าจะผ่านออกมาเป็นหนังสือหนึ่งเล่ม ผ่าน 6 สาขาอาชีพสำคัญในการสร้างสรรค์หนังสือ ได้แก่ นักเขียน บรรณาธิการ นักออกแบบกราฟิก นักแปล นักพิสูจน์อักษร และนักออกแบบภาพประกอบ ซึ่งต่างก็เป็นฟันเฟืองที่สำคัญในการผลิตหนังสือ
จากแนวโน้มเศรษฐกิจที่เริ่มจะฟื้นตัวในช่ววไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ทำให้สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ มั่นใจว่า การจัดงานมหกรรมหนังสือระดับชาติในครั้งนี้ จะประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี โดยเบื้องต้นคาดว่าจะมีผู้เข้าชมงานไม่ต่ำกว่า 2 ล้านคน และมีเงินสะพัดภายในงานไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท แม้ว่าจะเป็นตัวเลขที่ยังต่ำกว่าที่เคยทำได้เมื่อประมาณปี 2552-2553 ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวมีเงินสะพัดภายในงานสูงถึง 800 ล้านบาท แต่ก็ถือว่าเป็นที่น่าพอใจท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวดีมากนัก
นายจรัญ กล่าวว่า ในช่วงสองไตรมาสแรกที่ผ่านมา สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯประสบความสำเร็จอย่างเหนือความคาดหมายในการจัดงานหนังสือในจังหวัดต่างๆทั่วประเทศ ซึ่งผู้ที่เข้าชมงานนั้นมีคนรุ่นใหม่วัยหนุ่มสาวมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้มั่นใจว่า การจัดงานมหกรรมหนังสือฯครั้งนี้จะเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ถึงแม้ว่าสภาพเศรษฐกิจโดยรวมจะค่อนข้างซบเซาส่งผลถึงธุรกิจหนังสือ รวมถึงความนิยมในสื่อออนไลน์ที่ส่งผลให้การอ่านหนังสือในแบบรูปเล่มลดลง แต่ก็มีการปรับตัวจากสำนักพิมพ์ในแง่ของการลดจำนวนการผลิต เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยครั้งนี้จะมีการนำหนังสือราคา 20 บาทมาจำหน่ายเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เพื่อสร้างสีสันและกระตุ้นการอ่านให้มีความคึกคักมากขึ้น
แม้ว่าปีนี้ภาพรวมของอุตสาหกรรมหนังสือจะยังไม่มีการขยายตัวจากปีที่ผ่านมา แต่จากการที่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่างหันมาจับมือร่วมกันจัดกิจกรรมกระตุ้นการอ่านอย่างต่อเนื่อง ผ่านการจัดงานหนังสือในรูปแบบต่างๆ แม้ว่าจะช่วยให้ภาพรวมอุตสาหกรรมขยายตัวไม่ได้ แต่อย่างน้อยก็ช่วยให้ผู้ประกอบการทั้งในกลุ่มของผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายมีรายได้เพิ่มขึ้น และผลักดันให้สิ้นปีมีรายได้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้
ข่าวเด่น