หนี้ครัวเรือนไตรมาส 2/2559 ชะลอต่อเนื่อง...คาดสิ้นปีอยู่ในกรอบ 81.0 - 82.0% ต่อจีดีพี
ประเด็นสำคัญ:
- สถานการณ์หนี้ครัวเรือนล่าสุด ณ สิ้นไตรมาส 2/2559 หนี้ครัวเรือนอยู่ที่ระดับ 81.3% ต่อจีดีพี ลดลงเล็กน้อยจากระดับ 81.5% ต่อจีดีพีในไตรมาส 1/2559 จากหลายผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่เผชิญข้อจำกัดในการเติบโต
- ส่วนแนวคิดเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงนิยามของหนี้ครัวเรือน โดยรวมหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) และตัดหนี้ที่ครัวเรือนก่อขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ด้านการดำเนินธุรกิจออกจากการคำนวณ น่าจะทำให้สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีปรับลดลงมาที่ 75.0% ต่อจีดีพี ณ สิ้นไตรมาส 2/2559 อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนแปลงตามนิยามดังกล่าวไม่ได้ทำให้ครัวเรือนมีภาระหนี้ลดลง ซึ่งเท่ากับว่าหนี้ครัวเรือนที่สูงจะยังเป็นข้อจำกัดในการใช้จ่ายของครัวเรือนต่อไป
- ข้อจำกัดด้านรายได้และภาระหนี้เดิม ยังอาจมีผลทำให้ครัวเรือนชะลอการก่อหนี้เพิ่ม ซึ่งเมื่อประกอบกับการระมัดระวังนโยบายเครดิตของสถาบันการเงินอย่างต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี คงทำให้ภาพรวมหนี้ครัวเรือนในปีนี้เติบโตชะลอลงมาที่กรอบ 3.5 – 4.0% ซึ่งต่ำกว่าปีก่อนหน้าที่เติบโต 5.2% ด้วยเหตุนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับประมาณการสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีในปี 2559 ลงมาที่กรอบ 81.0 – 82.0% ต่อจีดีพี จากกรอบคาดการณ์เดิมที่ 81.5 – 82.5% ต่อจีดีพี
- หนี้ครัวเรือนล่าสุด ณ สิ้นไตรมาส 2/2559 ... สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีลดลง 2 ไตรมาสติดต่อกัน มาที่ระดับ 81.3% ต่อจีดีพี จากระดับ 81.5% ต่อจีดีพีในไตรมาส 1/2559 ทั้งนี้ การปรับลดลงดังกล่าวสะท้อนว่าผลิตภัณฑ์สินเชื่อหลายประเภทเผชิญข้อจำกัดในการเติบโต ทั้งสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่ถูกเหนี่ยวรั้งด้วยการชำระคืนจากโครงการรถยนต์คันแรก ส่วนสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค อย่างสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ถูกกดดันจากการชะลอเบิกใช้ของครัวเรือนเพื่อป้องกันการก่อหนี้เกินตัว ผนวกกับการใช้นโยบายเครดิตที่ระมัดระวังมากขึ้นของธนาคารพาณิชย์เพื่อดูแลประเด็นคุณภาพสินทรัพย์ ซึ่งกดดันการเติบโตของหนี้ครัวเรือนในภาพรวม อย่างไรก็ดี สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งได้รับอานิสงส์จากการเร่งโอนกรรมสิทธิ์ของครัวเรือนเพื่อรับสิทธิ์ประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ของภาครัฐที่สิ้นสุดลงในไตรมาสนี้ ยังเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญซึ่งส่งผลให้ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนปรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า โดยระดับหนี้ครัวเรือนปรับเพิ่มขึ้น 1.08 แสนล้านบาทจากไตรมาสก่อน แตะระดับ 11.24 ล้านล้านบาท หรือเติบโตราว 4.3% YoY ชะลอลงเมื่อเทียบกับอัตราการขยายตัว 4.7% YoY ในไตรมาส 1/2559
- สำหรับแนวคิดเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงนิยามของหนี้ครัวเรือน โดยรวมหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เข้ามาคำนวณในฐานหนี้ครัวเรือนและตัดหนี้ที่ครัวเรือนก่อขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ด้านการดำเนินธุรกิจออกจากการคำนวณ คงทำให้ผลสุทธิแล้ว หนี้ครัวเรือนไทยทั้งในมิติของจำนวนหนี้ครัวเรือน และสัดส่วนต่อจีดีพีปรับลดลง อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนแปลงตามนิยามดังกล่าวไม่ได้หมายความว่าครัวเรือนจะมีภาระหนี้ลดลง ซึ่งเท่ากับว่าหนี้ครัวเรือนที่สูงจะยังเป็นข้อจำกัดในการใช้จ่ายของครัวเรือนต่อไป
ทั้งนี้ เนื่องจากหนี้ กยศ. มีจำนวนราว 2 แสนล้านบาทเท่านั้น ขณะที่ หนี้ครัวเรือนเพื่อประกอบธุรกิจน่าจะมีจำนวนสูงกว่า 1.07 ล้านล้านบาท (คำนวณจากข้อมูลของธนาคารพาณิชย์) ซึ่งทำให้จำนวนหนี้ครัวเรือนมีโอกาสปรับลดลงมาที่ราว 10.37 ล้านล้านบาท หรือปรับลดลง 8.7 แสนล้านบาท จากระดับปัจจุบัน ขณะที่ สัดส่วนต่อจีดีพี คงปรับลดลงมาที่ราว 75.0% ต่อจีดีพี จากระดับ 81.3% ต่อจีดีพี ณ สิ้นไตรมาส 2/2559
- มองไปข้างหน้า ข้อจำกัดด้านรายได้และภาระหนี้เดิม ยังอาจมีผลทำให้ครัวเรือนชะลอ/ยับยั้งการก่อหนี้เพิ่ม ซึ่งเมื่อประกอบกับการที่สถาบันการเงินส่วนใหญ่ยังระมัดระวังนโยบายเครดิตอย่างต่อเนื่อง คงทำให้หนี้ครัวเรือนเติบโตชะลอลงต่อเนื่องจากระดับ 4.3% ในช่วงครึ่งแรกของปีมาอยู่ในกรอบ 3.5 – 4.0% และต่ำกว่าปีก่อนหน้าที่เติบโต 5.2% ด้วยเหตุนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับประมาณการสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีในปี 2559 ลงมาที่กรอบ 81.0 – 82.0% ต่อจีดีพี จากกรอบคาดการณ์เดิมที่ 81.5 – 82.5% ต่อจีดีพี
ทั้งนี้ สินเชื่อที่ยังมีบทบาทในการอธิบายการเติบโตของหนี้ครัวเรือนในช่วงท้ายปี 2559 นี้ คงได้แก่ สินเชื่อที่ได้รับแรงหนุนจากปัจจัยฤดูกาลอย่างสินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคทั่วไป และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่สามารถประคองการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง สำหรับปัจจัยอื่นๆ ที่อาจมีผลต่อหนี้ครัวเรือนที่ต้องติดตาม ประกอบด้วย เส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และรายได้ของครัวเรือน หลังจากข้อมูลล่าสุดยังคงสะท้อนว่าสถานการณ์การจ้างงานและภาวะการมีงานทำของครัวเรือนในหลายกลุ่มยังคงไม่ฟื้นตัวเต็มที่ โดยเฉพาะครัวเรือนภาคเกษตร ตลอดจนครัวเรือนไม่มีรายได้ประจำหรือเป็นลูกจ้างรายวันซึ่งมีผลตอบแทนตามจำนวนวันและค่าล่วงเวลา (OT)
ข่าวเด่น