นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประทศไทย ( ธพว. หรือ SME Development Bank) เปิดเผยว่า จากการที่ธนาคารได้เปิดโครงการกองทุนร่วมลงทุนพันธกิจ SMEs เชิงเกษตรและที่เกี่ยวข้อง วงเงิน 100 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมและพัฒนาการเติบโตของธุรกิจ SMEs ที่มีศักยภาพ และสนับสนุนธุรกิจ SMEs ในกลุ่ม S - Curve ตามนโยบายรัฐนั้น คณะกรรมการร่วมลงทุน (Venture Capital Committee) ได้อนุมัติหลักการ ให้ ธพว.เข้าร่วมลงทุนธุรกิจ SMEs เชิงเกษตรและเกษตรแปรรูป 2 กิจการ คือ บริษัท ฟาร์มเห็ดระยอง แอนด์ วีวีไบโอเทค จำกัด 20 ล้านบาท และบริษัทโจ-ลี่ แฟมิลี่ จำกัด 20 ล้านบาท เช่นกัน
บริษัท ฟาร์มเห็ดระยอง แอนด์ วีวีไบโอเทค จำกัด เป็นผู้ประกอบการธุรกิจผลิตและจำหน่ายเห็ดออรินจิ ภายใต้ตรา “Super Mushroom” ตั้งอยู่ที่ จังหวัดระยอง เป็นผู้ผลิตเห็ดออรินจิ 1 ใน 3 ของประเทศไทยที่มีมาตรฐานและคุณภาพสูง ได้รับความเชื่อถือจากลูกค้าอย่างต่อเนื่อง วางจำหน่ายผ่าน Modern Trade ภัตตาคาร และร้านค้าอาหารชั้นนำ ด้วยความ โดดเด่นของความสดใหม่มากกว่าเห็ดออรินจิที่นำเข้าจากต่างประเทศ อีกทั้งปลอดสารพิษ เนื่องจากเพาะปลูกในระบบปิดที่มีมาตรฐานและความปลอดภัย โดยได้รับการรับรองจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การเข้าร่วมทุนของ ธพว.จำนวนเงิน 20 ล้านบาท ระยะเวลา 7 ปี บริษัทจะนำเงินไปใช้เพื่อปรับปรุงเครื่องจักรและอุปกรณ์สำหรับการผลิต รองรับการขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น รวมถึงมีเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ เนื่องจากโอกาสทางธุรกิจมีความต้องการของผู้บริโภคสูงอย่างต่อเนื่อง เป็นไปตามกระแสความนิยมอาหารเพื่อสุขภาพ ประกอบกับภาครัฐได้ส่งเสริม SMEs โดยเฉพาะด้านอุตสาหกรรมการเกษตร และเกษตรแปรรูปในรูปแบบต่างๆ ทั้งนี้ ธพว. พร้อมเข้าไปสนับสนุนกิจการ ด้านเงินทุน และความช่วยเหลือในด้านต่างๆ เพื่อต่อยอดกิจการขยายเติบโตยิ่งขึ้น
สำหรับผู้ประกอบการ SMEs อีกรายที่ธนาคารเข้าร่วมลงทุน คือ บริษัทโจ-ลี่ แฟมิลี่ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผลไม้แปรรูปอบกรอบ จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งคณะกรรมการร่วมลงทุนได้อนุมัติหลักการเบื้องต้น ให้ ธพว.เข้าร่วมลงทุน 20 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 5 ปี เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการรายนี้ขยายไลน์การผลิต มีเงินทุนซื้อวัตถุดิบ และเป็นเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจผลไม้แช่แข็ง เน้นผลไม้ประเภททุเรียน ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมอย่างมากโดยเฉพาะในประเทศจีน ประกอบกับนักท่องเที่ยวต่างประเทศชื่นชอบผลไม้ไทย จึงเป็นโอกาสของธุรกิจที่จะขยายตัวและเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงผู้ประกอบการรายนี้ มีส่วนช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจากการช่วยรับซื้อพืชผลทางการเกษตรจากเกษตรกรไทย มูลค่าไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาทต่อปี ทำให้เกษตรกรไทยมีรายได้ต่อครัวเรือนเพิ่มขึ้น และช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ผลไม้ไทยให้เป็นที่รู้จักในต่างประเทศด้วย
กรรมการผู้จัดการ ธพว. กล่าวอีกว่า การร่วมลงทุนของธนาคารในกิจการเชิงเกษตรแปรรูปดังกล่าวนี้เพื่อเป็นการสนับสนุนนโยบายภาครัฐ ก่อให้เกิดการสร้างรายได้สู่ชุมชน หรือแรงงานท้องถิ่น มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ เป็นการส่งเสริมและพัฒนาการเติบโตของ SMEs ที่มีศักยภาพ แต่ขาดแคลนเงินทุน สามารถเดินหน้ากิจการต่อไปได้ โดยมี ธพว.ร่วมสนับสนุนเป็นหุ้นส่วนทางการเงินและช่วยส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบการในด้านต่างๆ สู่ความสำเร็จของธุรกิจต่อไป
ข่าวเด่น