ประกัน
คปภ.-สมาคมธนาคารไทยย้ำหลักการสิทธิขั้นพื้นฐานของลูกค้าในการเลือกซื้อประกันภัยผ่านธนาคาร


 


นายปรีดี  ดาวฉาย  ประธานสมาคมธนาคารไทยเปิดเผยในการแถลงข่าวร่วมระหว่างสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และสมาคมธนาคารไทย เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2559 ว่าสมาคมธนาคารไทยตระหนักและให้ความสำคัญกับหน้าที่ในฐานะการเป็นผู้นำเสนอผลิตภัณฑ์ประกันภัยของธนาคาร  และได้ร่วมกับธนาคารสมาชิกในการกำหนดหลักการกำกับดูแลและตรวจสอบคุณภาพของกระบวนการเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัย โดยให้ความสำคัญในกระบวนการให้บริการลูกค้า 3 ขั้นตอน คือ กระบวนการก่อนการเสนอขาย ระหว่างการเสนอขาย และหลังการขาย
 

นอกจากการกำหนดหลักการกำกับดูแลและตรวจสอบคุณภาพดังกล่าวแล้ว สมาคมธนาคารไทยยังพร้อมให้ความร่วมมือกับ คปภ. ต่อแนวนโยบายต่างๆ ที่จะส่งเสริมให้บรรลุถึงเป้าหมายร่วมกัน คือ การทำให้ประชาชนในทุกระดับชั้นเข้าถึงการประกันภัย และส่งเสริมการให้ความรู้ด้านการประกันภัยต่อสาธารณชน โดยเน้นย้ำถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของลูกค้าที่จะได้รับจากการเลือกซื้อประกันภัยผ่านธนาคาร ประกอบด้วย 
1. สิทธิที่จะได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง 
2. สิทธิที่จะเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ และ บริการทางการเงินได้อย่างอิสระ
3. สิทธิที่จะร้องเรียนเพื่อความเป็นธรรม 
4. สิทธิที่จะได้รับการพิจารณา ค่าชดเชยหากเกิดความเสียหาย 


ข้อแนะนำในการซื้อประกันภัยผ่านธนาคาร

สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ตระหนักถึงความสำคัญของการซื้อประกันภัยของประชาชนผ่านช่องทางธนาคาร และเพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุดจาก   การซื้อประกันภัย สำนักงาน คปภ. จึงได้จัดทำข้อแนะนำสำหรับประชาชนในการซื้อประกันภัยผ่านธนาคาร ดังนี้
1. ผู้ซื้อควรเข้าใจว่าการซื้อประกันชีวิต ไม่ใช่การฝากเงินกับธนาคาร
2. ผู้ซื้อควรขอดูใบอนุญาตเป็นนายหน้าประกันชีวิต หรือประกันวินาศภัยของพนักงานธนาคาร  ตามประเภทของกรมธรรม์ประกันภัย 
3. ผู้ซื้อควรเลือกแบบประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองตรงกับความต้องการของตนเอง 
4. ผู้ซื้อควรวางแผนและประมาณการรายรับ-รายจ่าย เพื่อให้สามารถจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยให้ครบตลอดระยะเวลาของสัญญาประกันภัย 
5. ผู้ซื้อควรเข้าใจถึงความคุ้มครอง และข้อยกเว้นของกรมธรรม์นั้นๆ หากไม่เข้าใจ ต้องสอบถามจากผู้ขายให้ชัดเจนก่อนตัดสินใจซื้อ รวมทั้งควรเก็บเอกสารประกอบการเสนอขายของธนาคารไว้
6. ผู้ซื้อมีสิทธิเลือกซื้อประกันภัยด้วยความสมัครใจ และปฏิเสธได้ หากไม่เป็นไปตามความต้องการของตนเอง ทั้งนี้ ธนาคารไม่อาจใช้การทำประกันภัยเป็นเงื่อนไขต่อรองในการให้สินเชื่อ หรือธุรกรรมอื่น 
7. ในกรณีที่ต้องกรอกใบคำขอเอาประกันภัย ผู้ซื้อควรกรอกด้วยตนเอง หรือหากไม่ได้กรอก       ด้วยตนเอง ผู้ซื้อจำเป็นต้องตรวจสอบความถูกต้อง โดยไม่ให้ข้อความที่เป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริง ก่อนลงลายมือชื่อในใบคำขอเอาประกันภัย
8. ผู้ซื้อควรสอบถามถึงสิทธิและระยะเวลาในการยกเลิกกรมธรรม์ประกันภัย โดยผู้ซื้อสามารถใช้สิทธิยกเลิกกรมธรรม์ประกันชีวิตได้ภายใน 15วัน นับจากวันที่รับกรมธรรม์ประกันชีวิต และได้รับเบี้ยประกันภัยคืนหลังจากหักค่าใช้จ่าย และค่าตรวจสุขภาพ (หากมี) ทั้งนี้ หากผู้ซื้อยกเลิกกรมธรรม์ประกันชีวิตหลังจากระยะเวลาดังกล่าว ผู้ซื้อสามารถใช้สิทธิเวนคืนกรมธรรม์ประกันชีวิตและได้รับมูลค่าเวนคืนตามที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันชีวิต 
9. เมื่อผู้ซื้อชำระเบี้ยประกันภัย ให้ชำระเงินเข้าบัญชีบริษัทประกันภัยเท่านั้น และจะต้องได้รับเอกสารการรับชำระเงินจากธนาคาร พร้อมเก็บไว้เป็นหลักฐาน
10. ผู้ซื้อควรสอบถามถึงช่องทางการติดต่อ หรือการเรียกร้องผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยจากผู้ขาย  
11. เมื่อได้รับกรมธรรม์ประกันภัยแล้ว ผู้ซื้อควรตรวจสอบกรมธรรม์ประกันภัยว่าถูกต้องและเป็นไปตามการเสนอขายจากผู้ขายหรือไม่ หากไม่เป็นไปตามที่เสนอขาย สามารถยกเลิกได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้         ในกรมธรรม์ประกันภัย  กรณีเกิดข้อสงสัยหรือข้อผิดพลาดในกรมธรรม์ประกันภัย ให้ติดต่อผู้ขายหรือบริษัทประกันภัยโดยเร็ว 
12. ผู้ขายยังคงมีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมาย และไม่อาจใช้ข้อแนะนำข้างต้นเป็นการอ้างสิทธิเหนือผู้บริโภค
ประชาชนควรศึกษาถึงสิทธิและหน้าที่ของตนเอง รวมถึงความคุ้มครองและข้อยกเว้น
ของกรมธรรม์ประกันภัยให้เข้าใจอย่างถี่ถ้วน ก่อนตัดสินใจซื้อประกันภัย หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม  ได้ที่สายด่วน คปภ. 1186 หรือ www.oic.or.th





 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 11 ต.ค. 2559 เวลา : 14:09:46
24-12-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ December 24, 2024, 8:53 pm