เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
SCB EIC ปรับประมาณการจีดีพี ปี 59 โต 3% จากเดิม 2.8% ส่วนปี 60 โต 3.3%


 


ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ออกบทวิเคราะห์ เศรษฐกิจไทยปี 2559: ปัจจัยบวกชั่วคราวดันเศรษฐกิจโตกว่าคาด


อีไอซีปรับประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2559 เป็น 3.0% จากเดิม 2.8% จากตัวเลขครึ่งปีแรกที่ออกมาดีกว่าที่คาด เศรษฐกิจไทยในครึ่งปีแรกขยายตัวได้ที่ 3.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ถือเป็นอัตราที่สูงกว่าที่คาดการณ์ โดยได้รับประโยชน์จากปัจจัยบวกชั่วคราวที่สำคัญ ได้แก่ มาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนอสังหาฯ ที่ช่วยเร่งให้เกิดการก่อสร้าง การเร่งใช้จ่ายรายจ่ายประจำและการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาล และการกระตุ้นยอดขายรถยนต์ของค่ายรถต่างๆ โดยมีภาคการท่องเที่ยวที่เติบโตได้ดีมาโดยตลอดเป็นอีกแรงสนับสนุนหลัก
 
การเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยปัจจัยบวกชั่วคราวยังไม่เอื้อต่อสภาวะทางธุรกิจเท่าที่ควร แม้ว่าการเติบโตของเศรษฐกิจไทยจะดีกว่าคาดในช่วงครึ่งปีแรกแต่สภาวะทางธุรกิจกลับแสดงสัญญาณของการชะลอตัว โดยสินเชื่อโดยรวมเติบโตชะลอลง ขณะที่สัดส่วนหนี้เสียในระบบเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งดัชนีความเชื่อมั่นของทั้งผู้บริโภคและนักลงทุนก็ยังคงลดต่ำลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า นอกจากนี้ การที่แรงสนับสนุนจากปัจจัยดังกล่าวได้ลดน้อยลงเมื่อเข้าสู่ช่วงครึ่งปีหลังส่งผลต่อการใช้จ่ายในส่วนที่เกี่ยวข้องที่เคยเติบโตได้ดีในช่วงครึ่งปีแรกกลับมาชะลอลงในไตรมาสที่ 3 เช่น การเบิกจ่ายงบรายจ่ายประจำและดัชนีการก่อสร้างภาคเอกชน การขาดหายไปของปัจจัยหนุนดังกล่าวนั้นจึงอาจทำให้การขยายตัวในครึ่งปีหลังอาจไม่สูงเท่าที่ทำได้ในครึ่งปีแรกและอาจส่งผลทำให้สภาวะทางธุรกิจทรุดตัวลงกว่าเดิม 

อีไอซีมองเศรษฐกิจไทยในปี 2560 ขยายตัวที่ 3.3% รอปัจจัยบวกใหม่ผลักดันการฟื้นตัว ภาครัฐได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระลอกใหม่เพื่อรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจหลังมาตรการฯ ชุดเก่าเริ่มอ่อนแรงลง เช่น มาตรการส่งเสริมคุณภาพชีวิตเกษตรกรรายย่อย และมาตรการสนับสนุนการเบิกจ่ายของภาครัฐ นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปยังคงมีปัจจัยบวกใหม่รออยู่ ได้แก่ ภาระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2560 ที่จะลดลง การหมดภาระของการผ่อนชำระรถยนต์จากโครงการรถคันแรก และการฟื้นตัวของราคาน้ำมัน ซึ่งจะทำให้การใช้จ่ายภาคเอกชนทั้งการบริโภคและการลงทุนมีแนวโน้มฟื้นตัวหลังจากซบเซามาเป็นเวลานาน ในส่วนของมูลค่าการส่งออกสินค้าก็จะเริ่มฟื้นตัวได้เล็กน้อยที่ 1.5% จากราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันและการส่งออกสินค้ากลุ่มอุปโภคบริโภคที่คาดว่าจะยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง ขณะที่ปัจจัยสนับสนุนหลักในช่วงที่ผ่านมาอย่างด้านการท่องเที่ยวและการลงทุนภาครัฐในโครงสร้างพื้นฐานยังคงมีแนวโน้มเติบโตดี

เศรษฐกิจไทยยังคงมีความเสี่ยงรอบด้าน กำลังซื้อภาคเอกชนยังคงถูกกดดันจากสภาวะตลาดแรงงานที่ไม่เอื้ออำนวย ขณะที่ภาระหนี้ครัวเรือนก็ยังอยู่ในระดับสูง อีไอซีเห็นว่าความเสี่ยงด้านกำลังซื้อเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การบริโภคในประเทศฟื้นตัวได้อย่างจำกัดและมีความอ่อนไหวต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ขณะเดียวกัน ความเสี่ยงจากภายนอกมีเพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจโลกที่ถูกกดดันด้วยปัญหาหนี้และความเสี่ยงทางการเมืองที่สูงขึ้นในหลายภูมิภาคสำคัญ อย่างไรก็ตาม สถานะทางการเงินระหว่างประเทศของไทยยังคงอยู่ในเกณฑ์ดีสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนในตลาดเงินได้ดี อีไอซีคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยจะคงอยู่ที่ระดับ 1.5% ไปจนถึงปลายปี 2560 ขณะที่ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าเช่นเดียวกับเงินสกุลอื่นในภูมิภาคไปอยู่ที่ 35.5 และ 37.0 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงปลายปี 2559 และปลายปี 2560 ตามลำดับ
 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 13 ต.ค. 2559 เวลา : 15:13:45
26-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 26, 2024, 1:46 pm