แบงก์-นอนแบงก์
ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทยกำไรสุทธิงวด 9 เดือน ปี 59 จำนวน 798.3 ล้านบาท


 


นายสุภัค  ศิวะรักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของกลุ่มธนาคาร สำหรับงวดเก้าเดือนสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2559 มีรายได้จากการดำเนินงานจำนวน 9,693.3 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 418.8 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.5 เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันปี 2558 สาเหตุหลักเกิดจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิร้อยละ 19.1 และรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิร้อยละ 8.2 ในขณะที่รายได้อื่นลดลงร้อยละ 42.7 กำไรจากการดำเนินงานก่อนหักหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.6 เป็นจำนวน 4,382.1 ล้านบาท เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการดำเนินงานและการควบคุมต้นทุนที่ดีขึ้นส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลดลง ร้อยละ 0.02 อย่างไรก็ตามกำไรสุทธิลดลงจำนวน 48.2 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.7 เป็นจำนวน 798.3 ล้านบาทเมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันสาเหตุหลักเกิดจากสำรองหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.7
เมื่อเปรียบเทียบผลการดำเนินงานงวดเก้าเดือนปี 2559 และ 2558 รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 1,178.3  ล้านบาท หรือร้อยละ 19.1 เป็นผลจากการลดลงของค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 23.8   รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเพิ่มขึ้น 92.3 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.2 ส่วนใหญ่มาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ธุรกรรมเช่าซื้อและสัญญาเช่าทางการเงิน  และ ค่าธรรมเนียมจากการจัดจำหน่ายหน่วยลงทุน   และรายได้จากการดำเนินงานอื่นลดลง 851.8 ล้านบาท หรือร้อยละ 42.7 ส่วนใหญ่เกิดจากธุรกรรมบริหารเงิน
ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสำหรับงวดเก้าเดือนปี 2559 เปรียบเทียบกับงวดเดียวกันปี 2558 ลดลงจำนวน 0.9 ล้านบาทหรือร้อยละ 0.02 สาเหตุหลักมาจากการลดลงของค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอาคารสถานที่และอุปกรณ์ สุทธิกับการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงาน    อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ต่อรายได้จากการดำเนินงานงวดเก้าเดือนปี 2559 อยู่ที่ร้อยละ 54.8 ลดลงเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปี 2558 อยู่ที่ ร้อยละ 57.3  เป็นผลจากการปรับปรุงแผนการบริหารจัดการเพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายที่ดีผนวกกับรายได้ที่เพิ่มขึ้น
อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Net Interest Margin – NIM) อยู่ที่ร้อยละ 3.76 สำหรับงวดเก้าเดือนปี 2559    ในขณะที่งวดเก้าเดือนปี 2558 อยู่ที่ร้อยละ 3.16 เป็นผลจากการบริหารต้นทุนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
วันที่ 30 กันยายน 2559 เงินให้สินเชื่อสุทธิจากรายได้รอตัดบัญชี (รวมเงินให้สินเชื่อซึ่งค้ำประกันโดยธนาคารอื่นและเงินให้สินเชื่อแก่สถาบันการเงิน) ของกลุ่มธนาคารอยู่ที่ 205.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 เมื่อเทียบกับเงินให้สินเชื่อ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2558 กลุ่มธนาคารมีเงินฝาก (รวมตั๋วแลกเงิน หุ้นกู้ และผลิตภัณฑ์ทางการเงินบางประเภท) จำนวน 216.7 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ 0.8 จากสิ้นปี 2558 ซึ่งมีจำนวน 218.4 พันล้านบาท อัตราส่วน


สินเชื่อต่อเงินฝาก (the Modified Loan to Deposit Ratio) ของกลุ่มธนาคารเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 94.7 จากร้อยละ 91.1 ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2558
สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) อยู่ที่ 9.1 พันล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อเงินให้สินเชื่อทั้งสิ้น (NPL ratio) อยู่ที่ร้อยละ 4.2 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2558 อยู่ที่ร้อยละ 3.1 เนื่องจากความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ลดลงอันเกิดจากสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจโดยรวมยังคงอ่อนแอ อย่างไรก็ตาม ธนาคาร  ซีไอเอ็มบี ไทยยังคงมาตรฐานการอนุมัติสินเชื่อ และนโยบายการบริหารความเสี่ยงที่รัดกุมขึ้น ตลอดจนได้มีแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพการติดตามหนี้ การดำเนินการดูแล และการแก้ไขลูกหนี้ที่ถูกผลกระทบดังกล่าวอย่างใกล้ชิด 

อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ วันที่ 30 กันยายน 2559 อยู่ที่ร้อยละ 81.6 ลดลงจากสิ้นปี 2558 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 106.5  ส่วนเงินสำรองของกลุ่มธนาคาร ณ วันที่ 30 กันยายน 2559 อยู่ที่จำนวน 7.4 พันล้านบาท ซึ่งเป็นสำรองส่วนเกินตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทยจำนวน  2.8 พันล้านบาท
เงินกองทุนรวมของกลุ่มธนาคาร ณ สิ้นวันที่ 30 กันยายน 2559 มีจำนวน 38.1 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนรวมต่อสินทรัพย์เสี่ยงร้อยละ 16.2 โดยเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ร้อยละ 10.8
 
 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 17 ต.ค. 2559 เวลา : 14:44:41
12-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 12, 2025, 12:09 pm