เป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของปวงชนชาวไทย หลังจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร สวรรคตเมื่อวันที่ 13 ต.ค.ที่ผ่านมา และเพื่อแสดงความไว้อาลัยต่อพ่อหลวงของปวงชนชาวไทย บรรดาผู้ประกอบการในธุรกิจต่างๆ ออกมาแสดงความไว้อาลัยกันอย่างต่อเนื่อง หนึ่งในนั้นคือ ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ซึ่งยินดีให้ความร่วมมือกับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ (กสท.) อย่างเต็มที่ หลังจากมีมติกำหนดแนวปฏิบัติสำหรับผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ กรณีพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร เสด็จสวรรคต
สำหรับแนวทางที่ กสท.ขอความร่วมมือทีวีดิจิทัล มีดังนี้ การถ่ายทอดรายการจากโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ให้สถานีโทรทัศน์ในระบบภาคพื้นดิน โทรทัศน์ผ่านดาวเทียม โทรทัศน์ผ่านทางสาย โทรทัศน์ระบบ IP รวมถึงสถานีวิทยุกระจายเสียงของหน่วยงานรัฐ และสถานีทดลองประกอบกิจการกระจายเสียง เชื่อมโยงสัญญาณเมื่อปรากฏสัญลักษณ์โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย หรือ ทรท. และจะออกจากการเชื่อมโยงเมื่อปรากฏสัญลักษณ์โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย อีกครั้งหนึ่ง โดยห้วงเวลาที่กำหนดให้เชื่อมโยงสัญญาณจะเป็นช่วงของการถ่ายทอดสด พระราชพิธีสวดพระอภิธรรมและประโคมย่ำยาม เฉพาะเวลาเช้าและเย็น และในกรณีที่พระบรมวงศานุวงศ์ กษัตริย์ต่างประเทศ มาร่วมในพระราชพิธี
ทั้งนี้ รูปแบบการนำเสนอรายการนอกเหนือเวลาการเชื่อมโยงสัญญาณจากโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ในห้วงระยะเวลา 30 วัน โดยข้อมูลข่าวสารควรมีความหลากหลาย และควรต้องหาวิธีการเผยแพร่ให้คนต่างชาติได้เข้าใจด้วย ขณะที่การจัดทำรายการเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จะต้องเป็นรายการที่เกี่ยวกับพระเกียรติคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ควรเป็นข้อมูลในภาพรวมที่ทรงมีพระราชดำริพัฒนาประเทศทั้งแผ่นดิน รายการข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับรัชทายาทและพระนามเต็มของรัชกาลใหม่และผู้สำเร็จราชการ ซึ่งได้มีการเผยแพร่ข้อมูลของข่าวที่เป็นจริงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจไปแล้วให้สามารถตัดต่อเอาไปทำซ้ำได้ แต่ห้ามวิพากษ์ขยายความหรือวิจารณ์เพิ่มเติม
สำหรับการออกอากาศรายการที่ไม่ใช่รายการข่าวสาร เช่น รายการกีฬา ละคร เพลง รายการเด็กหรือโฆษณา สามารถกระทำได้ แต่จะต้องเป็นไปตามมติ กสท. นัดพิเศษ ครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 โดยขอให้ช่วยรักษาบรรยากาศของการแสดงความอาลัยการแสดงความจงรักภักดี ของประชาชนทุกส่วน ให้รักษาระดับความเข้มข้นนี้ไว้ในระยะเวลา 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ 13 ต.ค. เป็นต้นมา
หลังจาก กสท.มีประกาศออกมาดังกล่าวผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล นำมาปฏิบัติอย่างเคร่งครัด โดยทุกช่องยกเลิกการออกอากาศของรายการวาไรตี้ ละคร ภาพยนตร์ ข่าวในเชิงไม่สร้างสรรค์ และรายการกีฬาที่ไม่เหมาะสมทั้งหมด พร้อมกับหันมาเชื่อมสัญญาณถ่ายทอดสด และนำเสนอข่าว ควบคู่ไปกับรายการสารคดีที่เกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทั้งหมด
ในส่วนของ อสมท ซึ่งมีสถานีโทรทัศน์ ช่อง 9 MCOT HD และ MCOT FAMILY ช่อง 14 และสถานีวิทยุในเครือ อสมท จำนวน 63 สถานี พร้อมยึดตามแนวปฏิบัติดังกล่าว ด้วยการงดออกอากาศในรายการที่ไม่เหมาะสมทั้งหมด และนำรายการสารคดีที่ อสมท และบริษัท พาโนราม่า เวิลด์ไวด์ จำกัด ผลิตมาออกอากาศแทน ส่วนรายการอื่นๆ ที่เคยนำมาออกอากาศ อสมท ได้แจ้งให้ผู้ผลิตรายการให้งดการผลิตรายการเป็นการชั่วคราวให้ทราบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
นางสายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล ดิจทัล ทีวี จำกัด ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ช่องจีเอ็มเอ็ม 25 กล่าวว่า ช่องจีเอ็มเอ็ม 25 จะทำการออกอากาศ ด้วยผังรายการพิเศษเฉพาะกิจของสถานีอันประกอบด้วยรายการที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเฉลิมพระเกียรติพระราชกรณียกิจ และถวายความอาลัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช หากมีการเปลี่ยนแปลงจะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง
นายสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในส่วนของช่อง 8 จะมีการนำเสนอเนื้อหาด้วยผังรายการที่สอดคล้องกับอารมณ์เศร้าโศกของประชาชนไทยทั้งประเทศ โดยได้จัดผังรายการนำเสนอข่าวสาร ข่าวพระราชพิธี ข่าวพระราชกรณียกิจ รายงานข่าวเพื่อสังคม และกีฬา พร้อมลดโทนเสียงและสีให้เหมาะกับสถานการณ์ สำหรับรายการบันเทิงที่งดการออกอากาศ ได้แก่ ละคร ซีรี่ส์ และวาไรตี้ โดยช่วงนี้จะนำเสนอเพลงพระราชนิพนธ์ ตลอดจนมิวสิควีดิโอเพลง 88 พรรษา และลูกของพ่อแทน ส่วนงานประเภทรื่นเริงได้ประกาศงดภายใน30วันตามที่ได้ประกาศไปแล้ว ได้แก่ คอนเสิร์ตร่างทรงคนเขียนเพลง, ช่อง 8 พบเพื่อนเฟสติวัล เป็นต้น
ด้านนายบรรณสิทธิ์ รักษ์วงษ์ ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ช่องโมโน 29 กล่าวว่า ช่องโมโน ยังคงเน้นการนำเสนอสารคดีเทิดพระเกียรติ สลับกับการรับสัญญาณจากสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย(ทรท.) ซึ่งเป็นแม่ข่ายของช่อง 11 ส่วนการตัดกลับเข้าสู่รายการปกติและการปรับผังรายการของทางสถานีนั้น ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณา เบื้อต้นได้มีการปรับในแต่ละคอนเทนต์ไปบ้างแล้ว เช่น รายการข่าว ได้มีการปรับเนื้อหาให้เป็นข่าวกลางๆ หลีกเลี่ยงการนำเสนอข่าวที่รุนแรง ส่วนภาพยนตร์ต่างๆ ก็ได้มีการปรับแนวหนังให้มีเนื้อหาที่เบาลง
ส่วนช่องพีพีทีวี ก็ได้มีการปรับผังรายการใหม่เช่นกัน เพื่อให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน พร้อมกับแสดงความไว้อาลัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้วยการเน้นคอนเทนต์ของการนำเสนอไปที่รายการข่าว สารคดี และกีฬา ซึ่งคอนเทนต์ดังกล่าวถือเป็นคอนเทนต์หลักที่พีพีทีวีมีอยู่แล้ว จึงทำให้ไม่ต้องปรับเนื้อหาที่จะนำมาออกอากาศมากนัก เมื่อเทียบกับช่องที่มีคอนเทนต์หลักเน้นเป็นรายการวาไรตี้ และละคร
เช่นเดียวกับช่องเวิร์คพอยท์ อัมรินทร์ทีวี เนชั่นทีวี นาวทีวี วอยซ์ทีวี สปริงนิวส์ นิวส์ทีวี ไบร์ททีวี ทีเอ็นเอ็น ทรู4ยู ไทยรัฐทีวี ช่อง3แฟมิลี่ ช่อง3เอสดี ช่อง3เอชดี ช่องวัน และช่อง 7 ที่ออกมาปรับผังรายการใหม่ ด้วยการเน้นการออกอากาศในส่วนของรายการข่าวและรายการสารคดีเป็นหลัก จนกว่าจะมีประกาศการเปลี่ยนแปลงการออกอากาศ
ขณะที่รายการต่างๆ ไม่สามารถออกาอากาศได้ตามปกติ เนื่องจากยังอยู่ในช่วงของการไว้อาลัย ในส่วนของภาคธุรกิจโฆษณา ซึ่งมีรายได้หลักมาจากสื่อทีวีก็ออกมาแถลงถึงข้อปฏิบัติที่เหมาะสมสำหรับการนำเสนอเนื้อหาของการโฆษณาสินค้าเช่นกัน ทั้งนี้ก็เพื่อความเหมาะสม และแสดงความไว้อาลัยต่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
แม้ว่าแนวทางปฏิบัติดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจไปบ้าง แต่เชื่อว่าในช่วงเวลานี้ทุกภาคส่วนเต็มใจให้ความร่วมมือ เพื่อเป็นการถวายความอาลัยต่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งเป็นที่รักของปวงชนชาวไทย อย่างไรก็ดี หากมีประกาศใหม่ออกมาให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ การแข่งขันในด้านของธุรกิจคงกลับมารุนแรงอย่างแน่นอน
ข่าวเด่น