เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
เปลี่ยน'ความเสียใจ'เป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจ


 


แม้ขณะนี้บรรยากาศในประเทศจะเต็มไปด้วยความเศร้าโศก    แต่ในด้านเศรษฐกิจก็ยังต้องเดินหน้าต่อไป  โดยนายสมคิด   จาตุศรีพิทักษ์  รองนายกรัฐมนตรี  กล่าวในการเป็นประธานเปิดงาน CREATIAE THAILAND และงานแสดงสินค้าของขวัญและงานแสดงสินค้าของใช้ในบ้าน เดือนตุลาคม 2559 หรือ BIG + BIH October 2016 ว่า  แม้เวลานี้ชาวไทยทุกคนต่างอยู่ในภาวะเศร้าเสียใจ   ไม่มีกำลังใจจะทำกิจกรรมใดๆ    แต่อยากให้คนไทยได้ใช้เวลานี้ แสดงให้โลกเห็นว่า  คนไทยมีพลังสามัคคีร่วมที่ยิ่งใหญ่   โดยเอาพลังที่เกิดขึ้นมาเป็นพลังในการสร้างสรรค์   เดินหน้าเศรษฐกิจตามแนวพระราชดำรัส  โดยใช้ความคิดสร้างสรรค์สร้างมูลค่าให้สินค้าและบริการ

 
 
 
 
เนื่องจากในอนาคตประเทศไทย จำเป็นต้องขับเคลื่อนด้วยครีเอทีฟอีโคโนมี  ดังนั้นต้องเน้นการนำความคิดสร้างสรรค์ ไปต่อยอดในอุตสาหกรรมต่างๆ   ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาสินค้า บริการ และวัฒนธรรม   โดยสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัว  เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

 
 
 
 
ทั้งนี้การที่จะทำให้ประเทศไทยขับเคลื่อนด้วยครีเอทีฟอีโคโนมีได้   เงื่อนไขสำคัญ ประการแรกต้องสร้าง ผู้นำทางความคิด ที่ขับเคลื่อนอย่างจริงจัง   ไม่ใช่แค่รัฐบาลเท่านั้น   แต่ต้องร่วมมือกันทุกวงการ ทั้งภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา  รวมทั้งต้องวางโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น  เพื่อผลักดันและเอื้อให้เกิดการพัฒนาด้านครีเอทีฟ โดยโครงการดังกล่าว    
 
 
 
 
ด้านนายกอบศักดิ์   ภูตระกูล   ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า  รัฐบาลมีมาตรการที่เตรียมจะทยอยประกาศออกมาในช่วงไตรมาส 4/59  จนถึงต้นปี 60 อีก 3 มาตรการ ได้แก่ มาตรการที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ    มาตรการประชารัฐภาคสังคม และมาตรการด้านการท่องเที่ยว ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นแรงสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัว   โดยเฉพาะในขณะนี้ที่เศรษฐกิจอาจจะชะลอตัวจากปัจจัยภายในประเทศ
         
ขณะที่การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ตามแผนงานนั้น    ขณะนี้รัฐบาลก็พยายามเร่งรัดและผลักดันให้ออกมาเร็วขึ้น   ไม่ว่าจะเป็นโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายต่างๆ โครงการรถไฟรางคู่ โครงการรถไฟความเร็วสูง และโครงการขยายท่าอาศยานสุวรรณภูมิ เฟส 2     เป็นต้น เพื่อทำให้ความเชื่อมั่นด้านการลงทุนกลับมาฟื้นตัว และส่งผลเร่งการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย
         
ขณะเดียวกันรัฐบาลยังคงประเมินตัวเลขการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) ในปีนี้ ที่ 3.0-3.5% แม้ในช่วงนี้เศรษฐกิจอาจชะลอตัวลงบ้าง   ตามแนวโน้มการจับจ่ายใช้สอยที่อาจชะลอออกไปในระยะสั้น    เพราะประชาชนยังไม่อยู่ในอารมณ์ในการจับจ่ายใช้สอยท่ามกลางบรรยากาศของการไว้อาลัยในช่วงนี้   และขณะนี้เร็วเกินไปที่จะตัดสินว่า   เศรษฐกิจไทยในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้จะหดตัวลงจากไตรมาส 3/59 หรือไม่    เพราะยังต้องติดตามสถานการณ์ของภาคการส่งออกไทยว่าจะมีโอกาสดีขึ้นมากกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้หรือไม่   หลังการส่งออกในเดือน ส.ค.59  ขยายตัวสูงถึง 6.5%    ซึ่งหากช่วงปลายปีการส่งออกสามารถพลิกฟื้นได้อย่างต่อเนื่องก็จะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาสสุดท้ายมีโอกาสเติบโตได้ดีขึ้น
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 20 ต.ค. 2559 เวลา : 07:08:31
26-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 26, 2024, 1:31 pm