สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) และ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านดาราศาสตร์ ดึงบุคลากรสองหน่วยงานร่วมพัฒนาเทคโนโลยีด้านดาราศาสตร์วิทยุขั้นสูง ตามแผนจัดตั้งกล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติในปี 2560-2564
พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านดาราศาสตร์ ระหว่างสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดขึ้นเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2559 ณ สำนักงานสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) จังหวัดเชียงใหม่ มีรองศาสตราจารย์บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ และ ดร.ศรัณย์ สัมฤทธิ์เดชขจร ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ปฏิบัติการแทนผู้อำนวยการสำนักพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ร่วมลงนามพร้อมผู้บริหารทั้งสองหน่วยงานร่วมเป็นพยาน
รองศาสตราจารย์บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า สดร. มีแผนดำเนินการสร้างกล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 40 เมตร และ 13 เมตร ในปี 2560-2564 ระยะแรกจะเริ่มดำเนินโครงการพัฒนาเครือข่ายดาราศาสตร์วิทยุและยีออเดซี่ และสร้างกล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางขนาดกลางประมาณ 40 เมตร เพื่อส่งเสริมการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐานและเทคโนโลยีวิศวกรรมขั้นสูง ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานดาราศาสตร์ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของประเทศ ปัจจุบันยังไม่มีกล้องโทรทรรศน์วิทยุใช้งานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ สามารถเป็นจุดเชื่อมระหว่างเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์ทางไกล VLBI (Very Long Baseline Interferometer) ใกล้เคียง เช่น เอเชียตะวันออก และออสเตรเลีย เป็นต้น ประเทศไทยอยู่ในตำแหน่งที่ตั้งที่เป็นศูนย์กลางของภูมิภาค จึงเหมาะสมอย่างยิ่งต่อการติดตั้งกล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางขนาดกลางประมาณ 40-50 เมตรขึ้นไป เพื่อเชื่อมต่อและร่วมสังเกตการณ์กับเครือข่าย VLBI ของโลก ซึ่ง สดร. มีความร่วมมือกับหลายหน่วยงาน เช่น จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เยอรมัน อังกฤษ เป็นต้น
รศ.บุญรักษา กล่าวเพิ่มเติมว่า การวิจัยด้านดาราศาสตร์วิทยุ ต้องใช้เทคโนโลยีวิศวกรรมขั้นสูงในหลายสาขา อาทิ การติดตั้งโครงสร้างกล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาดใหญ่ การสื่อสารและคลื่นความถี่ และการประมวลผลระดับสูง รวมถึงเครื่องมือสำหรับเก็บข้อมูลที่มีประสิทธิภาพและความแม่นยำสูงมาก จึงจำเป็นต้องมีบุคลากรที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านร่วมดำเนินการและพัฒนาโครงการฯ ดังกล่าว นอกจากนี้ สิ่งสำคัญคือข้อมูล ต่อไปเราจะมีโครงการที่ต้องรวบรวมข้อมูลงานวิจัยอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งต้องมีการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ขึ้นมารองรับกระบวนการจัดเก็บข้อมูลจำนวนมากเหล่านี้
ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) เป็นหน่วยงานที่มีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการสื่อสารไร้สายและประมวลผลดิจิทัล เราจึงใช้โอกาสนี้ร่วมกันดำเนินการในส่วนที่มีความซับซ้อนสูง โดยนำเทคโนโลยีด้านอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ มาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดาราศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการติดตั้งและพัฒนาอุปกรณ์ขั้นสูงสำหรับงานดาราศาสตร์วิทยุ ซึ่งในกระบวนการพัฒนาจะก่อให้เกิดบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเพิ่มขึ้นจำนวนมาก นักวิจัยจะมีโจทย์มาให้ ซึ่งจะช่วยให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น องค์ความรู้และความเชี่ยวชาญที่เกิดขึ้นไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะงานด้านดาราศาสตร์เท่านั้น ยังสามารถนำไปต่อยอดประยุกต์สำหรับงานเทคโนโลยีขั้นสูงและสาขาวิชาอื่นต่อไปในอนาคต ต้องขอบคุณเนคเทคที่ทำให้ความร่วมมือระหว่างสองหน่วยงานเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมและหวังว่าความร่วมมือในวันนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติต่อไป
ดร.ศรัณย์ สัมฤทธิ์เดชขจร ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ปฏิบัติการแทนผู้อำนวยการสำนักพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวว่า ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) เป็นหน่วยงานที่มุ่งเน้นการวิจัย พัฒนา และสร้างสรรค์ผลงานเชิงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อใช้เป็นฐานความรู้ ประยุกต์ใช้งานสู่สังคมไทยและสากล โดยเน้นด้านอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ การลงความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ สดร. จะได้ขยายขอบข่ายความร่วมมือทางด้านอื่น ๆ เพิ่มมากขึ้นนอกเหนือไปจากความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนา และด้านวิศวกรรม ซึ่งอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ก็เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยพัฒนาเทคโนโลยีดาราศาสตร์ขั้นสูงสำหรับโครงสร้างพื้นฐานด้านดาราศาสตร์ของไทย เรามีทีมบุคลากรที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเข้ามาร่วมพัฒนาและสามารถตอบโจทย์การใช้งานอุปกรณ์เครื่องมือต่าง ๆ ของนักวิจัยได้ ซึ่งในอนาคตคาดว่าจะขยายผลไปสู่ความร่วมมือด้านอื่น ๆ ต่อไป และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าองค์ความรู้ที่เกิดจากการพัฒนาและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันจากความร่วมมือระหว่างสองหน่วยงานจะช่วยให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาและก้าวหน้าเพิ่มมากขึ้น
การจัดตั้งกล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานดาราศาสตร์ที่สำคัญทางวิทยาศาสตร์ของชาติ ก่อให้เกิดความร่วมมือกับเครือข่ายดาราศาสตร์วิทยุทั่วโลกเพื่อการพัฒนางานวิจัยทางด้านดาราศาสตร์วิทยุและทางด้านธรณีวิทยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาผลการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของเปลือกโลกซึ่งอาจมีผลกระทบต่อการเกิดภัยพิบัติบนพื้นโลก เช่น การเกิดแผ่นดินไหว หรือสึนามิ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังจะก่อให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง ทำให้ประเทศไทยเป็นผู้นำทางด้านดาราศาสตร์วิทยุในภูมิภาคอาเซียน ยังผลให้ดาราศาสตร์ในภูมิภาคอาเซียนเป็นที่ยอมรับในระดับสากลมากขึ้นด้วย
ในโอกาสเดียวกันนี้ ผู้บริหารศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติและคณะ ได้เดินทางไปเยี่ยมชมหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา หรือ หอดูดาวแห่งชาติ บริเวณ กม.ที่ 44.4 อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ และโครงการก่อสร้างอุทยานดาราศาสตร์สิรินธร ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ สดร. ให้การต้อนรับ
ข่าวเด่น