ซีเอสอาร์-เอชอาร์
บ้านปูฯ และมหิดลจัด 'ค่ายเพาเวอร์กรีน ปีที่ 11'


 



บ้านปูฯ และมหิดลจัด 'ค่ายเพาเวอร์กรีน ปีที่ 11' พาเยาวชนสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพ ณ เขาใหญ่ แหล่งมรดกโลกของไทย พร้อมประกาศผลโครงงานชนะเลิศ 'โดรนสำรวจพันธุ์พืชและสัตว์' 
 

เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ผู้นำธุรกิจพลังงานแห่งเอเชียที่มุ่งมั่นพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน ร่วมกับคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดค่ายเยาวชนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม หรือ “ค่ายเพาเวอร์กรีน” ปีที่ 11  ภายใต้หัวข้อ “การจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ กับการอนุรักษ์แหล่งมรดกโลกอย่างยั่งยืน” ให้กับเยาวชนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 และ 5 สายวิทยาศาสตร์จำนวน 70 คน ที่ได้รับคัดเลือกจากผู้สมัครทั้งหมดกว่า 500 คนทั่วประเทศ ณ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีกิจกรรมพิเศษเป็นไฮไลต์ของปีนี้ คือ การเดินป่าสำรวจอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ แหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ และห้องเรียนทางธรรมชาติของไทย เพื่อให้เยาวชนได้เรียนรู้เกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพ นำไปต่อยอดพัฒนาทักษะการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ 21 และพัฒนาประเทศในเชิงเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืนและมีระบบ  
 

นางอุดมลักษณ์ โอฬาร ผู้อำนวยการสายอาวุโส-องค์กรสัมพันธ์ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “ความหลากหลายทางชีวภาพเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและเชื่อมโยงกับการดำเนินชีวิตของมนุษย์มากขึ้น ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงกับชีวิตประจำวันของทุกคน เราจึงเลือก “ความหลากหลายทางชีวภาพ” เป็นหัวข้อของค่ายเพาเวอร์กรีนต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ประกอบกับบ้านปูฯ มีนโยบายสำคัญในการรักษาสมดุลและความหลากหลายทางชีวภาพในกระบวนการดำเนินธุรกิจตั้งแต่ขั้นตอนวางแผนพัฒนาโครงการผลิต ระหว่างการดำเนินผลิต และภายหลังการปิดโครงการ ตัวอย่างโครงการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญคือ โครงการที่เหมืองบารินโตและเหมืองอินโดมินโค ภายใต้การดูแลของ PT.Indo Tambangraya Megah (ITM) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบ้านปูฯ ในประเทศอินโดนีเซีย จึงต้องการต่อยอดการเรียนรู้และสร้างความตระหนักในเรื่องนี้ให้แก่เยาวชน”

 
ตลอด 8 วันในค่ายเพาเวอร์กรีน ปีที่11 ภายใต้แนวคิด “วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม – เรียนรู้สู่การปฏิบัติ” เยาวชนทั้ง 70 คนได้เรียนรู้ภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติในหัวข้อต่างๆ เช่น ความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพ การขึ้นบัญชีเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ การอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน โดยอาจารย์และผู้เชี่ยวชาญระดับแนวหน้าของไทย อาทิ รศ.น.สพ.ดร.นิกร ทองทิพย์ คณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ผสมเทียมช้างด้วยน้ำเชื้อแช่เย็นสำเร็จเป็นรายแรกในไทย และผสมละมั่งหลอดแก้วตัวแรกของโลก และรศ.ดร.นันทศักดิ์ ปิ่นแก้ว อาจารย์ประจำภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ผู้ค้นพบผีเสื้อกลางคืนสิรินธร จากนั้นเยาวชนได้สำรวจความหลากหลายของพืชและสัตว์ ณ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และพัฒนาโครงงานกลุ่มวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม เพื่อนำเสนอแก่คณะกรรมการโครงการฯ และประชาชนทั่วไป ชิงทุนการศึกษารวมกว่า 30,000 บาท 
 

รศ.ดร.รัตนวัฒน์ ไชยรัตน์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการและกิจการนักศึกษา คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะประธานโครงการค่ายเพาเวอร์กรีน 11 อธิบายว่า “ไทยเป็นประเทศที่มีความหลากหลายสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก อุดมไปด้วยทรัพยากรพืช สัตว์ และจุลินทรีย์ซึ่งเป็นปัจจัย 4 ในการดำรงชีวิตประจำวัน คนไทยจึงควรให้ความสำคัญกับการนำสิ่งที่ประเทศมีอยู่แล้วไปพัฒนาต่อยอดให้เกิดประโยชน์และความยั่งยืน ค่ายเพาเวอร์กรีน ปีที่ 11 จึงส่งเสริมให้เยาวชนตระหนักถึงความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพ และมรดกโลกที่ทุกคนเป็นเจ้าของ อีกทั้งนำความรู้ไปปรับใช้เพื่อพัฒนาเป็นนวัตกรรมทางชีวภาพของคนไทย ลดการพึ่งพาพันธุ์พืชและเทคโนโลยีชีวภาพจากต่างชาติ  อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศและพัฒนาขีดความสามารถ ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและเชิงคุณภาพชีวิตของประชากรต่อไปในอนาคต” 
 

ในปีนี้ โครงงานกลุ่มที่ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 รับทุนการศึกษามูลค่า 10,000 บาท และยังคว้ารางวัล   ป๊อปปูล่าร์โหวต จากการโหวตของผู้เข้าร่วมงานนำเสนอโครงงานและประกาศรางวัล รับทุนการศึกษามูลค่า 2,000 บาท คือ โครงงาน”โดรนสำรวจพันธุ์พืชและสัตว์” หรืออากาศยานไร้คนขับ เพื่อใช้สำรวจพันธุ์พืชและสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ โดยมีหลักการทำงาน 3 รูปแบบ คือ 1. ใช้เลนส์ 20 และ 50 ล้านพิกเซลในการถ่ายภาพและวิดีโอ สำรวจพื้นที่ป่าในอุทยานแห่งชาติ 2. ใช้เครื่องไฮเปอร์สเปกตรัม สำรวจเพื่อจำแนกชนิดพันธุ์พืชที่ต้องการ จากการดูดกลืนแสงของพืชที่แตกต่างกัน และนำพันธุ์พืชใกล้สูญพันธุ์มาทำการอนุบาล 3. ใช้เครื่องไนท์และเทอร์มอล ตรวจจับความร้อน เพื่อศึกษาพฤติกรรมของสัตว์ เช่น เส้นทางการหาอาหาร ตรวจสอบจำนวนสัตว์ใกล้สูญพันธุ์นำมาทำการอนุบาล และตรวจจับผู้บุกรุก โดยข้อมูลทั้งหมดจะถูกนำมาแสดงผลผ่านแอพพลิเคชั่นมือถือ เพื่อช่วยสนับสนุนการดูแลพื้นที่ของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ และยังให้ข้อมูลที่น่าสนใจแก่นักท่องเที่ยว เช่น เส้นทางการเดินป่า 
 

นางสาวขวัญฤดี ศรีไพล หรือขวัญ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนสุคิรินวิทยา อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส ตัวแทนทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ กล่าวว่า ตนเดินทางมาไกล จากจังหวัดนราธิวาสเพื่อเข้าร่วมค่ายเพาเวอร์กรีนเพราะต้องการนำความรู้ไปพัฒนาการท่องเที่ยวในชุมชนสุคิริน ที่กำลังมีการส่งเสริมอยู่ในขณะนี้ และต้องการใช้เวลาว่างช่วงปิดเทอมให้เป็นประโยชน์ สำหรับโครงงานกลุ่ม “โดรนสำรวจพันธุ์พืชและสัตว์” นั้นได้นำเทคโนโลยีเข้ามาผสมผสานร่วมกับความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเมื่อตนกลับไปบ้านเกิดแล้ว ก็จะนำแนวคิดนี้ไปเสนอทีมงานเยาวชนเพื่อพัฒนาชุมชนและการท่องเที่ยวและนายอำเภอพิจารณา เพื่อดูว่าจะสามารถต่อยอดไปใช้ประโยชน์ในชุมชนได้อย่างไร



 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 21 ต.ค. 2559 เวลา : 12:13:40
24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 5:57 pm