ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ เดินหน้าดันเศรษฐกิจไทย เปิดตัวนิทรรศการ Baht & Brain โชว์ 5 กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เพื่อขับเคลื่อนประเทศ
ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) เดินหน้าผลักดันเศรษฐกิจไทยผ่านการกระตุ้นแนวคิดการเปลี่ยนดีเอ็นเอและทุนทางวัฒนธรรมความเป็นไทย ทำให้เกิดออกมาเป็นผลิตภัณฑ์และบริการสู่สายตาโลก ผ่านนิทรรศการ Baht & Brain ขานรับนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” ด้วยการเปลี่ยนคุณค่าให้กลายเป็นมูลค่า ผ่าน 5 กลุ่มอุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ กลุ่มการเกษตรและอาหาร (Smart Farming) กลุ่มหัตถกรรม (New Craft) กลุ่มบริการ (New Service) กลุ่มไลฟ์สไตล์ (Thai Lifestyle) และกลุ่มกีฬา (New Sport) พร้อมมุ่งมั่นสานต่อพระราชปณิธานในการประยุกต์นวัตกรรมเข้าสู่ภาคธุรกิจโดยเฉพาะอุตสาหกรรมการเกษตร ในการส่งเสริม สนับสนุนผู้ประกอบการให้มีการใช้นวัตกรรมมากขึ้น พร้อมเปิดตัวอย่างเกษตรสร้างสรรค์ ได้แก่ สมาร์ทฟาร์ม ระบบเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรด้วยเทคโนโลยี
ทั้งนี้ องค์ความรู้ข้างต้นจะถูกจัดแสดงอยู่ภายในนิทรรศการ Baht & Brain อันเป็นส่วนหนึ่งของงาน Creative Thailand 2016 ซึ่งเป็นงานมหกรรมความคิดสร้างสรรค์ของไทย ภายใต้สโลแกน “Think BIG: กล้าคิด กล้าทำ สร้างสรรค์ สร้างชาติ” ระหว่างวันที่ 19 – 23 ตุลาคม 2559 ณ บริเวณโถงนิทรรศการ อีเว้นท์ฮอลล์105 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา
นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผู้อำนวยการศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) เปิดเผยว่า จากนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” ที่ทางภาครัฐตั้งเป้าให้ประเทศไทยปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมนั้น หนึ่งปัจจัยหลักที่สำคัญที่ทำให้นโยบายดังกล่าวประสบความสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพคือ ความคิดสร้างสรรค์ จึงทำให้เกิดเป็นโครงการ Creative Thailand 4.0 ที่เป็นความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐ และเอกชน เพื่อเป็นแรงผลักดันให้ผู้ประกอบการต่างๆภายในประเทศสามารถสร้างมูลค่าจากผลิตภัณฑ์และส่งออกความสามารถเหล่านี้สู่สายตาประชาคมโลก ซึ่งผู้ประกอบการเหล่านี้เป็นกำลังสำคัญที่จะทำการรักษาพื้นที่ในตลาดของการแข่งขันในยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลและความคิดสร้างสรรค์เป็นตัวตัดสิน
นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า เพื่อเป็นการกระตุ้นแนวคิดดังกล่าวให้เกิดความสำเร็จแบบเป็นรูปธรรม ทางศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ได้ถ่ายทอดออกมาเป็นนิทรรศการ Baht & Brain ที่ต้องการสื่อสารถึงแนวคิด “การเปลี่ยนความคิดสร้างสรรค์ให้เป็นเม็ดเงิน” หรือการเปลี่ยน “คุณค่า” ให้กลายเป็น “มูลค่า” ที่มุ่งเน้นใช้ประโยชน์จากดีเอ็นเอและทุนทางวัฒนธรรมความเป็นไทย ทำให้เกิดออกมาเป็นผลิตภัณฑ์และบริการสู่สายตาโลก โดยภายในนิทรรศการ Baht & Brain จะประกอบด้วยพื้นที่หลักทั้งหมด 5 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 Thailand 4.0 เริ่มด้วยการทำความรู้จักยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยด้วยกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และบริการที่มีมูลค่าสูง (Creative, Culture & High Value Services) ส่วนที่ 2 New Engine of the World หันมองกรณีศึกษาของประเทศต่างๆ เช่น อเมริกา อังกฤษ ญี่ปุ่น เกาหลี ถึงเรื่องยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศผ่านกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และบริการที่มีมูลค่าสูง ส่วนที่ 3 Thai Creative & Cultural Industry พบ 5 กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ พร้อมตัวอย่างธุรกิจจากการใช้ทุนทางวัฒนธรรมที่เป็นดีเอ็นเอของไทย ส่วนที่ 4 How to Start? ทำความรู้จักหน่วยงาน และมาตรการของภาครัฐ และการเข้ามามีส่วนร่วมของภาคเอกชน ส่วนที่ 5 Shift Thailand ร่วมแสดงความคิดเห็น เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาและขับเคลื่อนประเทศไทยให้หลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง
นายอภิสิทธิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากโจทย์ของโครงการ Creative Thailand 4.0 ทำให้ต้องหันกลับมาพิจารณาถึงจุดแข็ง และความได้เปรียบที่ประเทศไทยมีเป็นทุนเดิม นั่นก็คือ ความหลากหลายทางชีวภาพ และความหลากหลายเชิงวัฒนธรรม ซึ่งทั้ง 2 สิ่งนี้สามารถนำมาต่อยอดเพื่อให้เกิด “ความได้เปรียบในเชิงแข่งขัน” ในเวทีตลาดโลกได้ โดยเมื่อนำมาพิจารณาต่อถึงความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ จึงสรุปได้เป็น 5 กลุ่มอุตสาหกรรมที่สามารถปรับตัวผ่านการใช้ความได้เปรียบของประเทศไทย เพื่อต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ หรือบริการที่มาพร้อมนวัตกรรมและกลิ่นอายความเป็นไทย โดย 5 กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ดังกล่าวได้แก่
1. กลุ่มการเกษตร และอาหาร (Smart Farm) – ตั้งเป้าให้ประเทศไทยกลายเป็น “แหล่งอาหารเลี้ยงโลก” ผ่านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำการเกษตร เช่น การเพิ่มผลผลิตผ่านวิดีโอตัวอย่างของฟาร์มปลูกฮอบส์สำหรับทำเบียร์จาก Deva Farm รวมไปถึงแนวคิดการเพิ่มโอกาสในการผลิตอาหารเลี้ยงประชากรทั่วโลกจากแมลงของประเทศไทย
2. กลุ่มหัตถกรรม (New Craft) – ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับงานหัตถกรรม ให้มีรูปทรงและการใช้งานที่หลากหลายมากขึ้น เช่น ผ้าทอสแตนเลส โดย Ausara Surface ร่วมกับนักออกแบบชาวไทยที่แสดงในงานแอลแฟชั่นวีค 2016 และการนำเทคนิคการผลิตโคมไฟไม้ไผ่มาใช้ในการสร้างสถาปัตยกรรมของห้างหุ้นส่วนจำกัด กรกต อินเตอร์เนชั่นนอล
3. กลุ่มบริการ (New Service) – พัฒนารูปแบบการให้บริการของธุรกิจบริการต่างๆให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคในยุคดิจิทัลมากขึ้น อาทิ แพลตฟอร์มโลคอลอะไลก์ (Local Alike) โมเดลธุรกิจท่องเที่ยวแบบเจาะลึกท้องถิ่นให้บริการผ่านทางอินเทอร์เน็ต เพื่อความสะดวกสบายในการหาข้อมูลและการใช้บริการท่องเที่ยวจากอินเตอร์เน็ต
4. กลุ่มไลฟ์สไตล์ (Thai Lifestyle) – ถ่ายทอดวัฒนธรรมและวิถีความเป็นไทยสู่กิจกรรมบันเทิง อาทิ การขายลิขสิทธิ์รายการเกมโชว์ของบริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ วงดนตรีหมอลำที่สร้างชื่อเสียงระดับโลก เดอะพาราไดซ์บางกอก (The Paradise Bangkok Molam International Band) และภาพยนตร์แอนนิเมชั่นที่ประสบความสำเร็จในเวทีนานาชาติจาก The Monk Studios
5. กลุ่มกีฬา (New Sport) – นำเสนอกีฬาประจำชาติไทย ผ่านการพัฒนาด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มมูลค่า อาทิ การเปลี่ยนมวยไทยเป็นทรัพย์สินทางปัญญาผ่านการจัดทำหลักสูตรสอนมวยไทยแบบออนไลน์ และการต่อยอดในรูปแบบของแอนนิเมชั่นและเกม
นอกจากนี้ ภายในนิทรรศการได้มีการจัดพื้นที่พิเศษเพื่อจัดแสดงพระอัจฉริยภาพของสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่ทรงงานเพื่อการพัฒนาประเทศในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะด้านการเกษตรที่เป็นหัวใจหลักสำคัญของประเทศไทย อาทิ ทฤษฎีเกษตรพอเพียงในการจัดสรรพื้นที่ทำการเกษตร โครงการชั่งหัวมัน โครงการกังหันน้ำชัยพัฒนาเพื่อบำบัดน้ำเสีย และโครงการฝนหลวงเพื่อขจัดปัญหาขาดแคลนน้ำของเกษตรกร ซึ่งภารกิจของทางศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบมีความสอดคล้องกับแนวพระราชดำริ ในการส่งเสริม สนับสนุนเกษตรกรและผู้ประกอบการให้มีการใช้นวัตกรรมมากขึ้น พร้อมเปิดตัวอย่างเกษตรสร้างสรรค์ ได้แก่ สมาร์ทฟาร์ม ระบบเพิ่มผลผลิตด้วยเทคโนโลยี ด้วยการใช้ข้อมูลดาวเทียมและระบบเซนเซอร์ในการทำการเกษตร ทำให้สามารถลดหรือเลือกเพาะปลูกพืชให้ตรงกับสภาพดิน
นิทรรศการ Baht & Brain จะถูกจัดแสดงขึ้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของงาน “Creative Thailand 2016, Think BIG: กล้าคิด กล้าทำ สร้างสรรค์ สร้างชาติ” ระหว่างวันที่ 19 – 23 ตุลาคม 2559 ณ บริเวณโถงนิทรรศการ อีเว้นท์ฮอลล์ 105 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ชั้น 6 ดิ เอ็มโพเรียม โทรศัพท์ 02-664-8448 หรือเว็บไซต์ www.tcdc.or.th
ข่าวเด่น