การตลาด
สกู๊ป .... อ.ส.ค. สานพระราชปณิธานเร่งขยายธุรกิจนมวัวแดง


 


 ย้อนกลับไปเมื่อเดือนก.ย. ปี 2503 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จประพาสทวีปยุโรป   ซึ่งการเสร็จในครั้งนั้น ได้ทรงประทับแรมอยู่ ณ ประเทศเดนมาร์ค  ระหว่างนั้นทรงให้ความสนพระทัยเกี่ยวกับกิจการการเลี้ยงโคนมของชาวเดนมาร์คเป็นอย่างมาก  และต่อมากลายเป็นจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ความร่วมมือด้านวิชาการการเลี้ยงโคนมระหว่างประเทศไทยและประเทศเดนมาร์ค  โดยในวันที่ 20 ต.ค. 2504 ได้มีการลงนามสัญญาการให้ความร่วมมือช่วยเหลือทางวิชาการการเลี้ยงโคนม ระหว่างรัฐบาลเดนมาร์คกับรัฐบาลไทย

จากความร่วมมือดังกล่าว  Danish   Agricultural Marketing board  ได้จัดสรรเงินช่วยเหลือจำนวน 4.33 ล้านโครเนอร์ (หรือประมาณ 23.5 ล้านบาท ในสมัยนั้น) สำหรับดำเนินโครงการเป็นระยะเวลา 8 ปี โดยรัฐบาลเดนมาร์คได้ส่งผู้เชี่ยวชาญมาร่วมดำเนินการในปี 2509  พร้อมกับสนับสนุนเงินจำนวน 2.87 ล้านโครเนอร์ สำหรับดำเนินงานในช่วง 8 ปี  เพื่อสนองพระราชปณิธานและความสนพระทัยในอาชีพการเลี้ยงโคนมหลังจากเสด็จนิวัติประเทศไทย

ต่อมาในปี 2514 รัฐบาลไทยได้รับโอนกิจการฟาร์มโคนมและศูนย์ฝึกอบรมการเลี้ยงโคนม ไทย-เดนมาร์ค จัดตั้งเป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีชื่อว่า “องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.)” มี สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 160 ถ.มิตรภาพ อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี เพื่อดำเนินบทบาทในการส่งเสริมการเลี้ยงโคนมและพัฒนาอุตสาหกรรมนมต่อไป รัฐบาลไทยได้กำหนดให้วันที่ 17 ม.ค. ของทุกปีเป็นวันโคนมแห่งชาติ
 

นายณรงค์ฤทธิ์  วงศ์สุวรรณ  ผู้อำนวยการ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.)   รัฐวิสาหกิจภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์    กล่าวว่า   เพื่อสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงได้พระราชทาน“โคนมอาชีพพระราชทาน” แก่เกษตรกรไทยและก่อตั้งฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์คขึ้นที่ อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี ทาง อ.ส.ค. จะเร่งขับเคลื่อนพัฒนาและส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงโคนมควบคู่กับการพัฒนาอุตสาหกรรมนมไทยให้เป็นที่ยอมรับและเป็นอาชีพที่มั่นคง และยั่งยืนคู่สังคมไทย

ปัจจุบัน อ.ส.ค.ได้กำหนดแนวทางการพัฒนาและส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงโคนมไว้ในแผนวิสาหกิจ 2560-2564  ไว้อย่างชัดเจน  เช่น   การสร้างความมั่นคงให้“โคนมอาชีพพระราชทาน” ด้วยการส่งเสริมการจัดการการเลี้ยงโคนมอย่างมืออาชีพ, การสร้างแหล่งความรู้และเตรียมพร้อมผลักดันประเทศไทยให้ เป็นศูนย์กลางข้อมูลด้านกิจการโคนมและอุตสาหกรรมนมอย่างครบวงจร  , การสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม และสหกรณ์โคนมทั่วประเทศ , การวิจัยและพัฒนาฟาร์มโคนมต้นแบบ  โดยการใช้พลังงานทางเลือกต้นทุนต่ำ  เพื่อสืบสานพระราชปณิธานของพระองค์ท่านสืบไป

 
 
นายณรงค์ฤทธิ์  กล่าวต่อว่า  โคนมอาชีพพระราชทานเกิดจากสายพระเนตรอันกว้างไกลของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ต้องการสร้างอาชีพใหม่ๆให้แก่ประชาชนชาวไทย เพื่อให้มีความรู้ความสามารถมีอาชีพที่เลี้ยงตนเองและครอบครัวได้  ซึ่งตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมาทรงมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมและสนับสนุนอาชีพการเลี้ยงโคนมของเกษตรกรให้มีรายได้และมีอาชีพที่มั่นคงและยั่งยืน

ปัจจุบันประเทศไทยมีเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมอยู่ที่ประมาณ  16,000 ราย  ในจำนวนดังกล่าวเป็นสมาชิกผู้เลี้ยงโคนมของ อ.ส.ค. จำนวนประมาณ 4,000 ราย   มีโคนมในประเทศไทย ทั้งหมด 600,000 ตัว  โดยภาคกลางเป็นแหล่งเลี้ยงโคนมมากที่สุด เฉลี่ยร้อยละ 67 ของประเทศ  สามารถผลิตน้ำนมดิบมีปริมาณเฉลี่ย 3,300 ตันต่อวัน  จากจำนวนน้ำนมดิบดังกล่าว  แบ่งเป็นน้ำนมดิบที่ผลิตสำหรับโครงการอาหารเสริม (นม)โรงเรียน 38%  และน้ำนมดิบที่ใช้สำหรับผลิตนมพาณิชย์  62%

จากจำนวนน้ำนมที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ปัจจุบัน อ.ส.ค.มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์นมออกมาในรูปแบบต่างๆ เพื่อเข้าทำตลาดไม่ว่าจะเป็นนมยูเอชที หรือนมแช่เย็น  ซึ่งจะประกอบไปด้วย โยเกิร์ต  นมเปรี้ยว และนมพาสเจอรืไรส์  โดยในส่วนของผลิตภัณฑ์นมที่สร้างรายได้หลักให้กับ อ.ส.ค. ในปัจจุบัน คือ นมยูเอชที คิดเป็นอัตราส่วนประมาณ 90-95%  และจากการที่รายได้จากกลุ่มนมแช่เย็นยังมีสัดส่วนอยู่น้อยมาก  จึงทำให้ อ.ส.ค.มีแผนที่จะขยายธุรกิจในกลุ่มสินค้าดังกล่าวมากขึ้นเพื่อเพิ่มรายได้

นายณรงค์ฤทธิ์  กล่าวอีกว่า  แนวทางการดำเนินธุรกิจของ อ.ส.ค.นับจากนี้  จะเดินหน้าปรับปรุงเครื่องจักรให้มีความทันสมัยอย่างต่อเนื่อง  เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจในอนาคต โดยเฉพาะการผลิตนมแช่เย็น เช่น นมพาสเจอร์ไรส์ นมเปรี้ยว และโยเกิร์ต เนื่องจากปัจจุบันการผลิตนมดังกล่าวเข้าทำตลาดมีสัดส่วนเพียง 5 % เท่านั้น ดังนั้นนับตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นไป อ.ส.ค.จึงมีแผนที่จะทำการตลาดนมดังกล่าวมากขึ้น เพื่อให้มีสัดส่วนรายได้เพิ่มขึ้นปีละ 10%

 พร้อมกันนี้ ยังมีแผนที่จะขยายตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศมุสลิม  โดยในปี 2560 ที่จะถึงนี้  อ.ส.ค. มีแผนที่จะเข้าไปขยายธุรกิจในประเทศมาเลเซีย  เพื่อเป็นการทดลองผลการตอบรับของตลาด  ก่อนที่จะขยายธุรกิจไปยังกลุ่มประเทศมุสลิมอื่นๆ  ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาตลาดว่าจะนำสินค้าเข้าไปทำตลาดต่อไปเป็นประเทศใด
 

 ขณะเดียวกันก็จะเดินหน้าขยายตลาดในประเทศพม่า  ลาว และกัมพูชาควบคู่กันไป เพราะหลังจากทดลองนำสินค้าเข้าไปทำตลาดในช่วงหลายปีก่อนผ่านตัวแทนจำหน่ายพบว่า ได้ผลการตอบรับเป็นอย่างดี ดังนั้น อ.ส.ค. จึงมีแผนที่จะเข้าไปทำการตลาดเพิ่ม  ซึ่งหลังจากเดินหน้าขยายธุรกิจต่อเนื่องคาดว่าอีก 5 ปีนับจากนี้น่าจะมีรายได้รวมไม่ต่ำกว่า 10,000-12,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ที่คาดว่าจะมีรายได้อยู่ที่เกือบ 9,000 ล้านบาท เติบโตจากปี 2558 ประมาณ 7% แบ่งเป็นนมพาณิชย์กว่า 7,000 ล้านบาท และนมโรงเรียน 1,000 ล้านบาท ในมูลค่าดังกล่าวเป็นรายได้จากต่างประเทศ 1,100-1,200 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีรายได้ 900 ล้านบาท

การออกมาสานต่อพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในครั้งนี้ ดูจากแผนวิสาหกิจ 5 ปี นับจากปี 2560-2564 ควบคู่ไปกับการขยายธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศน่าจะทำให้ภาพรวมผลิตภัณฑ์นมของ อ.ส.ค.หรือที่รู้จักกันดีในนามของนมวัวแดง น่าจะสร้างแบรนด์พร้อมสร้างยอดขายให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างได้อย่างแน่นอน

 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 27 ต.ค. 2559 เวลา : 19:29:44
26-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 26, 2024, 6:24 am