กระทรวงการคลังสนับสนุนการโครงการโอนเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (พร้อมเพย์) และยอมรับว่าการเปิดให้บริการจะมีความล่าช้ากว่ากำหนดการเดิมเล็กน้อย โดยเลื่อนการใช้เป็นไตรมาสแรกของปี 2560 ซึ่งเรื่องดังกล่าว นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานประชุมคณะกรรมการติดตามความคืบหน้าการทำระบบการชำระเงินทาง อิเล็กทรอนิกส์ (อี-เพย์เม้นท์) เปิดเผยว่า ขณะนี้ กระทรวงการคลังได้เสนอมาตรการติดตั้งเครื่องชำระเงิน (อีดีซี) ให้ ครม.เห็นชอบ เพื่อให้ผู้ที่ลงทุนและร้านค้าที่ติดตั้งเครื่องสามารถนำค่าธรรมเนียมจากการ ติดตั้งเครื่องมาหักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า ซึ่งคาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาได้ในเร็ว ๆ นี้ แต่สำหรับโครงการอี-เพย์เม้นท์ภาครัฐที่จะจ่ายเงินให้กับประชาชน ยืนยันว่า ยังอยู่ตามแผนเดิมคือดำเนินการภายในเดือน ธ.ค.59 และภายในปีหน้าจะทำอี-เพย์เม้นท์ ทั้งรับและจ่ายทั้งหมด
สำหรับโครงการพร้อมเพย์ ที่ได้มีการเลื่อนจากสิ้นปีนี้ ไปเป็นไตรมาสแรกของปี 60 เนื่องจากการทดลองระบบของธนาคารพาณิชย์กับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบบยังมีปัญหามีการทำบางรายการไม่ถูกต้อง จึงต้องทำการทดสอบเพิ่มเติมเพื่อให้แน่ใจว่าระบบพร้อมเพย์ไม่มีความผิดพลาด เกิดขึ้นได้ หากมีความล่าช้าออกไปบ้างเพื่อความปลอดภัยให้ผู้ใช้มีความมั่นใจ ก็เป็นเรื่องที่ยอมรับได้
สำหรับความคืบหน้าระบบอีเพย์เมนต์ตลาดทุนให้มีการชำระเงินได้เร็วขึ้นจาก เดิมภายใน 3 วัน เป็นภายใน 2 วัน จากเดิมที่จะเริ่มกลางปีหน้า ต้องเลื่อนออกไปเป็นไตรมาสสามปีหน้า เนื่องจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และธนาคารพาณิชย์ยังสรุปเรื่องการชำระเงินร่วมกันไม่ได้ ส่วนการชิงโชคเงินรางวัลเพื่อจูงใจให้คนมาใช้อีเพย์เมนต์จากเดิมที่จะเริ่ม ต้นปี 60 ก็จะเลื่อนออกไปเป็นไตรมาสแรกปี 2560 เนื่องจากระบบพร้อมเพย์และการติดตั้งเครื่องชำระเงินเลื่อนออกไปด้วยเช่นกัน
ซึ่งการนำบริการโอนเงินผ่านระบบพร้อมเพย์มาใช้ แม้จะทำให้ประชาชนมีความสะดวก รวดเร็ว ในต้นทุนที่ถูกลง แต่สำหรับสถาบันการเงินในระยะแรกยอมรับว่า รายได้ค่าธรรมเนียมจะต้องได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยนายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย หรือ KBANK ยอมรับว่า การให้บริการการโอนเงินผ่านพร้อมเพย์ การเกิดนวัติกรรมทางการเงินใหม่ ๆ เช่น แอปพลิเคชั่นที่เกี่ยวกับการโอนเงิน ชำระเงิน จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อรายได้ค่าธรรมเนียม (ค่าฟี) ในการโอนเงินต่าง ๆ ของธนาคาร
โดยในเบื้องต้นกรณีพร้อมเพย์คาดว่า จะกระทบรายได้ค่าธรรมเนียมลดลงประมาณ 4% ของรายได้ค่าฟีรวม ซึ่งคาดว่ามีแนวโน้มที่รายได้จากค่าธรรมเนียมของธนาคารโดยรวมจะปรับลดลงตามด้วย และหากรายได้ค่าฟีลดลงก็จะกระทบกำไรในแต่ละปีของแบงก์ให้ลดลงตาม และคาดว่าผลกระทบจะเริ่มเห็นอย่างชัดเจน ในปี 2560 เป็นต้นไป
ข่าวเด่น