มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ร่วมกับ สมาคมธรรมศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ ประชาคมธรรมศาสตร์ จัดงาน “ชาวธรรมศาสตร์ขอเป็นข้ารองพระบาททุกชาติไป” เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและถวายความอาลัย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยภายในงานประกอบด้วยกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การอ่านบทกวี และคำแสดงความอาลัยการบรรเลงบทดนตรีเพื่อน้อมรำลึกและถวายอาลัย พร้อมด้วยการแปรอักษรครั้งประวัติศาสตร์ ชุด “ทรงเป็นดวงธรรมนำทางให้” ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ ณ สนามฟุตบอล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยมีศิษย์เก่า และศิษย์ปัจจุบันของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ร่วมงานจำนวนมาก สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ งานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หมายเลขโทรศัพท์ 02-564-4493 (ศูนย์รังสิต) 02-613-3030 (ท่าพระจันทร์) หรือคลิกเข้าไปที่ www.tu.ac.th
ศาสตราจารย์ ดร. สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.)กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระภัทรมหาราชาผู้ทรงเป็นพลังแห่งแผ่นดิน ทรงอุทิศทุ่มเทปฏิบัติพระราชภารกิจอันบริบูรณ์พร้อมตามแนวทางแห่งทศพิธราชธรรม ทรงนำพาประเทศไทยให้เจริญก้าวหน้าทรงเอาพระราชหฤทัยใส่บำบัดทุกข์บำรุงสุขของพสกนิกรใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารล้วนอยู่เย็นเป็นสุขด้วยพระบารมี โครงการในพระราชดำริกว่า 4,000 โครงการแสดงความเป็นพระมหากษัตริย์นักพัฒนาผู้มีพระปรีชาญาณลึกซึ้งมีพระวิสัยทัศน์กว้างไกล ทรงเล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาคน ให้ดำรงตนด้วยความพากเพียร ความพอเพียงรู้รักสามัคคี เสียสละรู้จักใช้สติปัญญาแก้ไขปัญหา จึงทรงมุ่งมั่นส่งเสริมการศึกษาทุกระดับชั้น
ทั้งนี้ สำหรับประชาคมธรรมศาสตร์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น นานัปการ อาทิ ทรงปลูกต้นหางนกยูง และพระราชทานให้เป็นต้นไม้สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย พระราชทานเพลงพระราชนิพนธ์ยูงทอง ทรงพระเมตตาเสด็จฯ เยี่ยมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นการส่วนพระองค์ถึง 12 ครั้ง รวมถึงเสด็จฯ มาทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อย่างต่อเนื่อง อาทิ เสด็จฯ มาทอดพระเนตรโขนธรรมศาสตร์ เสด็จฯ มาพระราชทานปริญญาบัตรให้แก่บัณฑิตผู้สำเร็จการศึกษาเป็นเวลา 48 ปี อีกทั้งยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานทุนภูมิพลและ ทุนอานันทมหิดลแก่บัณฑิตธรรมศาสตร์ และทรงรับการทูลเกล้าทูลกระหม่อม ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จำนวน 15 สาขา นอกจากนี้ ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินทุนเริ่มแรกสำหรับสร้างหอสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นต้น ศาสตราจารย์ ดร. สมคิดกล่าว
ด้าน นายสมชาย พูลสวัสดิ์ นายกสมาคมธรรมศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวเสริมว่า สมาคมธรรมศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับสมาคมธรรมศาสตร์ ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ และทรงเป็นประธานเปิดอาคารที่ทำการสมาคมธรรมศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2523 และทรงปลูกต้นยูงทอง ณ หน้าอาคารสมาคมฯ นับเป็นมงคลยิ่งแก่ชาวธรรมศาสตร์ ซึ่งสร้างความปีติซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณเสมอมา
นอกเหนือจากพระเมตตาและพระราชกรณียกิจดังกล่าว พระองค์ท่านยังทรงสนับสนุนการจัดกิจกรรมงานฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬาฯ ด้วยการทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานถ้วยรางวัล และได้เสด็จฯ มาทรงเป็นประธาน และพระราชทานถ้วยรางวัลอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2495 แต่หากในปีใดที่มิได้เสด็จฯ มาพระราชทานด้วยพระองค์เอง ก็มีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ผู้แทนพระองค์มาเป็นประธาน นับเป็นมิ่งขวัญแก่นักกีฬา นิสิตนักศึกษาและบุคลากรของทั้งสองสถาบัน ที่ประทับมั่นในความทรงจำมิรู้คลาย
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการร่วมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและถวายความอาลัย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงได้ร่วมกับสมาคมธรรมศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และประชาคมธรรมศาสตร์ น้อมจัดงาน “ชาวธรรมศาสตร์ขอเป็นข้ารองพระบาททุกชาติไป” ผ่านกิจกรรมที่ปวงชนชาวไทยและประชาคมธรรมศาสตร์รวมพลังใจถวาย อันประกอบด้วย
· การอ่านบทกวี และคำแสดงความอาลัย โดยอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายกสมาคมธรรมศาสตร์ฯ และ ดร.อภิชาติ ดำดี ศิษย์เก่าคณะเศรษฐศาสตร์
· การบรรเลงบทดนตรีเพื่อน้อมรำลึกและถวายอาลัย ในบทเพลงพระราชนิพนธ์ “ยูงทอง” เพลงประจำสถาบัน และเพลงสรรเสริญพระบารมี โดยชุมนุมดนตรีไทย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
· การแปรอักษรครั้งประวัติศาสตร์ ชุด “ทรงเป็นดวงธรรมนำทางให้”การร่วมแปรอักษรพระบรมฉายาลักษณ์ และเรื่องราวพระราชกรณียกิจตลอด 70 ปี ที่ทรงครองราชย์ของ “พ่อหลวง” พ่อผู้เป็นดั่งดวงธรรมนำทางให้ประชาชนชาวไทย ทั้งปวงมีวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ผ่านการเรียงร้อยเรื่องราวด้วยภาพแปรอักษรอย่างสมพระเกียรติ
โดยชาวธรรมศาสตร์กว่า 2,000 คน
นางสาวพิมพ์พิชญ์ ธีระพิทยานนท์ ประธานชุมนุมเชียร์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า สำหรับแนวคิดหลักของการแปรอักษรชุด “ทรงเป็นดวงธรรมนำทางให้” จะเน้นไปที่การน้อมรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ผ่านการเล่าเรื่องราว พระราชกรณียกิจ และพระราชดำรัสของพระองค์ที่ได้พระราชทานให้แก่คนไทย ซึ่งชุมนุมเชียร์ธรรมศาสตร์ จะนำเสนอผ่านวิธีการที่มิใช่เพียงการแปรออกมาเป็นตัวอักษรหรือรูปภาพขึ้นมาตรงๆ เท่านั้น แต่จะเป็นการเล่าเรื่องราวให้เกิดความประทับใจ และการเข้าถึงความหมายที่ผู้แปรอักษรต้องการจะสื่อออกมาให้เกิดแก่ผู้รับชมได้อย่างแท้จริง ด้วยมุ่งหวังให้สังคมไทยได้เกิดการฉุกคิด ถึงสิ่งที่พ่อหลวงต้องการจะถ่ายทอดถึงปวงประชาราษฎร์โดยการแปรอักษรดังกล่าว จะใช้เวลาทั้งสิ้น 30 นาที ผ่านการแปรอักษรใน 3 ชุดเนื้อหาซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
ชุดที่ 1 การกล่าวบทกวีไว้อาลัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ชุดที่ 2 การแปรภาพและข้อความด้วยเพลทและร่มสีครีมนับพันคัน พร้อมด้วยบทเพลงพระราชนิพนธ์ “อาทิตย์อับแสง”บทเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 8 ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ชุดที่ 3 การแปรภาพที่เกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ผ่านการนำเสนอเรื่องราวใน 3
ส่วนเนื้อหา อันได้แก่ “วันวาน” การนำเสนอภาพพระราชกรณียกิจของพ่อหลวงที่ทรงงานมาตลอด 70 ปี “วันนี้” การถ่ายทอดทุกความรู้สึกสุดอาลัยของประชาชนที่มีต่อพ่อหลวง และ “วันพรุ่งนี้” การถ่าย ทอดความตั้งใจชาวธรรมศาสตร์ที่จะร่วมสืบสานพระราชปณิธานของพ่อหลวงอย่างสุดหัวใจ
อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากเสร็จสิ้นการแปรอักษรทั้ง 3 ชุดดังกล่าวแล้ว จะเป็นการแปรอักษรพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วยการบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี โดยกลุ่มนักศึกษาชุมนุม ดนตรีไทย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดงาน “ชาวธรรมศาสตร์ขอเป็นข้ารองพระบาททุกชาติไป” พร้อมกิจกรรมที่ร่วมน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ อาทิ กิจกรรมอาสาสมัคร ณ ศูนย์ประสานงานอาสาสมัครเพื่อประชาชน (Volunteer for Dad) ฯลฯ เมื่อเร็ว ๆ นี้ ณ สนามฟุตบอล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยมีศิษย์เก่า และศิษย์ปัจจุบันของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตลอดจนประชาชนทั่วไปร่วมงานจำนวนมาก สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ งานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โทรศัพท์ 02-564-4493 (ศูนย์รังสิต) 02-613-3030 (ท่าพระจันทร์) หรือคลิกเข้าไปที่ www.tu.ac.th
ข่าวเด่น