ไอที
ครบรอบ 1 ปี กสทช.ประมูล 4G ส่งผลต่อเศรษฐกิจทางตรงกว่า 3 แสนล้านบาท


 

ครบรอบ 1 ปี กสทช.ประมูล 4G ส่งผลต่อเศรษฐกิจทางตรงกว่า 3 แสนล้านบาท มีผู้ใช้บริการ 4G กว่า 22 ล้านราย และมีผู้ใช้งาน MOBILE BROADBAND เกือบ 62 ล้าน ความเร็วเฉลี่ยสูงสุดในการให้บริการอยู่ที่ 25 MBPS สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลก 

                                   

นับตั้งแต่ 10 โมงเช้าของวันที่ 11 พฤศจิกายน 2558 สำนักงานคณะกรรมการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้จัดการประมูลคลื่นย่านความถี่ 1800 MHz จำนวน 60 MHz (2x15MHz จำนวน 2 ชุด) ซึ่งใช้เวลาในการประมูลข้ามวันซึ่งเสร็จสิ้นในเวลา 19.25 น. ในวันถัดมา ยิ่งไปกว่านั้นการประมูลคลื่นย่านความถี่ 900 MHz จำนวน 40 MHz (2x10MHz จำนวน 2 ชุด) ใช้เวลาที่ยาวนานตั้งแต่วันที่ 15 ถึง 19 ธันวาคม 2558 และยังมีการประมูลต่อเป็นรอบที่ 2 ในวันที่ 27 พฤษภาคม 2559 จากวันนั้น จนกระทั่งวันนี้เป็นเวลาเกือบ 1 ปีที่คลื่นความถี่ทั้ง 2 ย่าน
 
ภายหลังการประมูลได้ถูกนำไปใช้พัฒนาประเทศทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างมากมาย นับตั้งแต่เงินประมูลที่มีมูลค่าสูงถึง 232,730 ล้านบาทให้กับภาครัฐภายในระยะเวลา 4 ปี คือตั้งแต่ช่วง ปี 2559-2563 โดยที่ผ่านมาผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ชำระไปแล้วในช่วงปีแรกรวมประมาณ 58,830 ล้านบาท ซึ่งภาครัฐสามารถนำเงินไปพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ รวมไปถึงการขยายโครงข่ายของผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งไม่ได้จำกัดเฉพาะผู้ชนะการประมูล ผู้ที่ไม่ได้รับการจัดสรร       คลื่นความถี่ก็มีแรงกดดันทางการแข่งขันให้มีการลงทุนและขยายโครงข่ายตามไปด้วย 

ในด้านการลงทุนของผู้ประกอบการ ในช่วงระยะ 1 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ไตรมาส 3 ของปี 2558 ที่ผ่านมา จนกระทั่งไตรมาส 2 ของปีนี้ การลงทุนในสินทรัพย์รวมของผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายหลักทั้ง 3 ราย เพิ่มขึ้นประมาณ 100,264 ล้านบาท โดยการลงทุนที่เพิ่มขึ้นนั้นนับตั้งแต่ต้นปี 2558 จนถึงไตรมาสที่ 2 ปี 2559  ซึ่งนอกจากการลงทุนของผู้ประกอบการที่เพิ่มขึ้นจากมีนัยสำคัญแล้ว จำนวนผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่       ก็เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน 
ในส่วนของผู้บริโภค ปัจจุบันจำนวนผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่ก็มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น มีบริการ รายการ และแอพพลิเคชั่นต่างๆ ที่มีความหลากหลายมากขึ้น โดยผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่เพิ่มจาก 58.4 ล้านเลขหมายในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2558 เป็น 61.7 ล้านเลขหมายในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2559
 
ทั้งนี้ ผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จำนวน 22 ล้านเลขหมาย ใช้เทคโนโลยี 4G  เมื่อมีผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่เพิ่มสูงขึ้น  การผลิตและนำเข้าโทรศัพท์เคลื่อนที่ก็เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วยเพื่อสนองความต้องการการใช้งานที่เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้ง  ผู้ที่ต้องการเปลี่ยนโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้อยู่ในระดับที่สูงขึ้น จากข้อมูลของสำนักงาน กสทช. ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา (ตุลาคม 2558 – กันยายน 2559) มีการผลิตและนำเข้าโทรศัพท์เคลื่อนที่ถึงเกือบ 20 ล้านเครื่อง (19,585,945 เครื่อง) คิดเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 167,267 ล้านบาท  
 
ด้วยการลงทุนของผู้ประกอบการและการใช้งานของผู้ใช้บริการที่เพิ่มสูงขึ้นย่อมส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยแยกได้ดังนี้ การจัดสรรคลื่นความถี่ที่เพิ่มขึ้นในตลาดส่งผลให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้มีความเร็วในการรับส่งข้อมูลที่สูงขึ้นด้วยระบบ 4G-LTE               โดยในประเทศไทยเทคโนโลยี 4G-LTE มีความเร็วโดยเฉลี่ยอยู่ในช่วงระหว่าง 6 - 25 Mbps (โดยเฉลี่ยทั่วโลกเทคโนโลยี 4G-LTE มีความเร็วอยู่ที่ 13.5 Mbps) ในขณะที่เทคโนโลยีแบบ 3G มีความเร็วเฉลี่ยเพียง 3.5 Mbps  ซึ่งการมีความเร็วอินเทอร์เน็ตที่สูงขึ้นนั้นทำให้ผู้ใช้บริการสามารถรับ-ส่งข้อมูลได้เร็วขึ้น สามารถใช้แอพพลิเคชั่นประเภทวีดิโอได้คล่องตัว การติดต่อสื่อสารที่รวดเร็วมากขึ้นและสามารถสื่อสารแบบ video call รวมไปถึงการใช้แอพพลิเคชั่นหลายตัวในเวลาเดียวกันทำให้ประหยัดเวลาและทำกิจกรรมต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น      ด้วยประโยชน์ดังกล่าวข้างต้น ทำให้ภาคธุรกิจสามารถเพิ่มผลผลิตมากขึ้นได้ในเวลาเท่าเดิม 

ภาคครัวเรือนสามารถหารายได้แบบใหม่ได้เพิ่มมากขึ้น เช่น การทำธุรกิจออนไลน์ หรือการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 4G-LTE เข้ากับงานที่ตนทำเพื่อประหยัดเวลาหรือเพิ่มผลงาน โดยเทคโนโลยี 4G-LTE สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้หลายภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ระบบธนาคารและการเงิน การศึกษา การรักษาพยาบาล และภาคบันเทิงอื่นๆ เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการเงินและธนาคาร ธุรกรรมแบบ mobile banking ได้เติบโตขึ้นในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาในประเทศไทยอย่างรวดเร็ว โดยจำนวนธุรกรรมจากเดือนมกราคม 2559 มาเดือนมิถุนายน 2559 เพิ่มขึ้นร้อยละ 46 จาก 29 ล้านครั้งเป็น 43 ล้านครั้ง (เปรียบเทียบกับการเพิ่มจำนวนธุรกรรมของ internet banking ซึ่งเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 25 เท่านั้น จากประมาณ 19 ล้านครั้ง มาที่ 23.5 ล้านครั้ง)  

กล่าวโดยสรุป การจัดสรรคลื่นความถี่ในตลาดให้เพิ่มขึ้น ส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศทางตรงกว่า 3.26 แสนล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้มีเม็ดเงินการลงทุนมากกว่า 1 แสนล้านบาท มูลค่าการผลิตและนำเข้าเครื่องโทรศัพท์เป็นมูลค่ากว่า 1.67 แสนล้านบาท และมีเงินรายได้จากการประมูลส่งรัฐในปีแรก 59,000 ล้านบาท สำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจทางอ้อมที่ภาคธุรกิจและประชาชนทั่วไปจะใช้อินเทอร์เน็ตไปประกอบกิจการค้าต่างๆ คาดการณ์ว่าจะส่งผลกระทบมากกว่าทางตรง ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่าการประมูล 4G มีส่วนในการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และขับเคลื่อนประเทศไทยให้เข้าใกล้ไทยแลนด์ 4.0 มากขึ้นอีกด้วย

 
 
 
บทความ โดย ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.
          
 

 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 02 พ.ย. 2559 เวลา : 13:12:01
28-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 28, 2024, 7:49 am