เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
โอกาสเกิดรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในไทย


 


รถยนต์พลังงานไฟฟ้าในประเทศไทย   ยังเป็นพัฒนาการที่ไม่น่าจะได้เห็นได้ในเร็วๆนี้  แม้รัฐบาลจะให้การสนับสนุนการลงทุนทั้งทางตรงและทางอ้อม  แต่ในส่วนของภาคเอกชนรายใหญ่ ก็ยังไม่ได้ยอมรับอย่างเต็มที่    โดยนางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริม การลงทุน (บีโอไอ)  กล่าวว่า บีโอไอ ต้องการให้เกิดการลงทุนรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ในไทย แม้ที่ผ่านมาพบว่าภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องส่วนใหญ่จะไม่เห็นด้วย   เพราะเอกชนกลัวว่า หากสนับสนุนรถยนต์พลังงานไฟฟ้า จะทำให้รถยนต์สันดาปภายในและส่วนที่เกี่ยวข้องได้รับผลกระทบ และหายไปจากตลาด ทั้งที่จริงแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้น    แม้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าจะเกิดขึ้น แต่รถยนต์เดิมๆ ก็ยังอยู่ เพราะรถพลังงานไฟฟ้าจะเติบโตอย่างช้าๆ
 

โดยจะเห็นได้จากตลาดรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในสหรัฐที่สนับสนุนจริงจังมา 6 ปี แต่ปัจจุบันมียอดขายแค่ 2.5 แสนคัน จากภาพรวมตลาดที่ 14-15 ล้านคัน

 
ด้านนางเพียงใจ  แก้วสุวรรณ  รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด   บอกว่า  นิสสันเป็นค่ายรถที่ให้ความสำคัญกับรถยนต์พลังงานไฟฟ้ามาตั้งแต่ต้น  รวมถึงบริษัทแม่ ที่ญี่ปุ่น ที่พัฒนาและทำตลาดเชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการ โดยปัจจุบันมียอดขายสะสมแล้ว กว่า 2.5 แสนคัน
 

ทั้งนี้ นิสสันเห็นว่า รถพลังงานไฟฟ้า เป็นทิศทางที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เพราะกระแสของโลกกำลังมา  ยังจะก่อให้เกิดประโยชน์หลายอย่าง เช่น ลดการปล่อยไอเสีย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีค่าใช้จ่ายในการใช้งานและดูแลรักษาต่ำกว่ารถเครื่องยนต์สันดาปภายใน 3 เท่าตัว   สำหรับในไทย บริษัทนำนิสสันลีฟ เข้ามาทดลองใช้งาน พบว่า มีค่าใช้จ่ายต่ำกว่า 1 บาทต่อกิโลเมตร

ด้านเทคนิค นิสสันพัฒนารถอย่างต่อเนื่อง ให้สามารถตอบสนองการใช้งานได้ดียิ่งขึ้น เช่น ปี 2553 นิสสัน ลีฟ ใช้งานต่อการชาร์จไฟเต็มที่ 1 ครั้ง 175 กม. ปัจจุบันเพิ่มเป็น 250 กม.และขณะนี้บริษัทแม่กำลังพัฒนารถรุ่นใหม่ที่จะเพิ่มระยะทางการใช้งานเป็น 400 กม.
                   
 
ขณะที่นายธีระ  ประสงค์จันทร์   ตัวแทนจากบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย  เห็นว่ารถยนต์พลังงานไฟฟ้ายังมีข้อจำกัดหลายอย่าง โดยเฉพาะระยะทางการใช้งาน การใช้เวลาชาร์จ และสถานีบริการ  ดังนั้นรถกลุ่มนี้จะเหมาะกับการใช้งานระยะสั้น หรือรถบัสโดยสารที่มีเส้นทางวิ่งที่ชัดเจน

ส่วนแนวทางการสนับสนุนของภาครัฐ เห็นว่าควรจะต้องมองเป็นกลุ่มรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันมี 4 กลุ่มหลัก คือ รถที่ใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างเดียว (EV) รถไฮบริด รถปลั๊กอิน ไฮบริด และรถเซลล์พลังงาน (fuel cell)  ซึ่งรถทั้ง 4 กลุ่ม ใช้ชิ้นส่วนสำคัญอย่างน้อย 3 รายการ คือ แบตเตอรี่ มอเตอร์ และชุดควบคุม   ดังนั้นหากส่งเสริมการลงทุนทั้งหมด  โอกาสที่จะเกิดการลงทุนผลิต ชิ้นส่วนสำคัญเหล่านี้ก็ง่ายขึ้น  ทำให้แผนการผลักดันให้รถพลังงานไฟฟ้าอย่างเดียวเกิดขึ้นในประเทศเห็นผลได้เร็วขึ้น

ทั้งนี้แม้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าจะส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม  แต่สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ก็คงต้องใช้เวลาปรับตัว   โดยเฉพาะตลาดแรงงาน  ซึ่งสะท้อนจาก โฟล์คสวาเกน บริษัทยานยนต์ยักษ์ใหญ่แห่งเยอรมนี   ที่ได้ประกาศแผนปลดพนักงานครั้งใหญ่ถึง 25,000 ตำแหน่งในช่วง 10 ปี   นับตั้งแต่ปี 2017 – 2026  เนื่องจากอุตสาหกรรมยานยนต์โลก   มีแนวโน้มมุ่งสู่การผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้ามากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ใช้แรงงานมนุษย์ในการผลิตลดน้อยถอยลง
          
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 02 พ.ย. 2559 เวลา : 13:58:55
26-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 26, 2024, 1:55 pm