เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ครบ 1 ปี ประมูล 4G


 


11 พ.ย. 58   เป็นวันที่ธุรกิจโทรคมนาคมของไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก   เพราะเป็นวันที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดให้มีการประมูลคลื่น 4 จี  บนความถี่  1800  เมกะเฮิรตซ์  ซึ่งนายฐากร  ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.  เปิดเผยว่า ในวันที่ 11 พ.ย.59  ถือเป็นวันครบรอบ 1 ปีของการเปิดประมูล 4 จี   ที่ใช้เวลายาวนานถึง 33  ชั่วโมง   และในเดือน พ.ค.59 กสทช. ก็ได้เปิดประมูล 4 จี บนคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์อีกครั้ง    นำเงินส่งเป็นรายได้รัฐรวม   325,217 ล้านบาท  ซึ่งการเปิดประมูลคลื่นความถี่นั้น นอกจากรัฐจะได้เงินแล้ว ยังก่อให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยมีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจในช่วงปลายปี 2558 จนถึงปัจจุบัน 326,000  ล้านบาท
 
 
 
 
 
 
 
 
         
 
สำหรับผลดีต่อระบบเศรษฐกิจทางตรงนั้น  ทำให้มีการลงทุนขยายโครงข่ายของผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม 100,000 ล้านบาท   มีการนำเข้าเครื่องโทรศัพท์มือถือและสร้างมูลค่าการผลิตอีก 167,000 ล้านบาท โดยเดือน ต.ค.58-ก.ย.59 มีการนำเข้าเครื่องโทรศัพท์มือถือ 19.59 ล้านเครื่อง   มีการนำเงินส่งเป็นรายได้ของรัฐ 59,000 ล้านบาท ขณะที่ผลดีต่อระบบเศรษฐกิจในทางอ้อมนั้น    ภาคธุรกิจและประชาชนสามารถใช้อินเตอร์เน็ตได้อย่างดีมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้มีการใช้อินเตอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือ สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต 61.70 ล้านเลขหมาย   ถือว่าเพิ่มขึ้นอย่างมากจากปี 58 ที่มีการใช้อินเตอร์เน็ตผ่านมือถือ 22 ล้านเลขหมาย

รวมทั้งมีบริการ 4 จี ด้วยเทคโนโลยีแอลทีอี  ต่อยอดการทำธุรกิจที่หลากหลายมาก มีการพัฒนาแอพพลิเคชั่นจำนวนมากและสร้างรายได้จากการใช้อินเตอร์เน็ต   โดยการนำอินเตอร์เน็ตมาใช้ในธุรกิจการเงินก็มีอัตราการขยายตัวอย่างมาก เช่น การทำธุรกรรมโมบายแบงก์กิ้งที่มีอัตราเติบโตอย่างมากในช่วงระยะเดือน ม.ค.-มิ.ย.59 มีการใช้บริการเพิ่มขึ้นเป็น 43 ล้านครั้ง ขณะที่รูปแบบการใช้บริการอินเตอร์เน็ตแบงก์กิ้ง เพิ่มขึ้นเป็น 23.5 ล้านครั้ง และจากการขยายตัวของผู้ใช้อินเตอร์เน็ตดังกล่าว   ทำให้เกิดการลงทุนขยายโครงข่ายของผู้ประกอบการ จนส่งผลให้ผู้ประกอบการมือถือทั้ง 3 รายมีสินทรัพย์รวมกันเพิ่มขึ้นราว 100,264 ล้านบาท

ขณะที่พล.อ.อ.ประจิน   จั่นตอง   รองนายกรัฐมนตรีและรักษาราชการ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี)  เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เป็นประธาน   ได้รับทราบความคืบหน้าการลงทุนเพื่อขยายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงทั่วประเทศและอินเทอร์เน็ตเกตเวย์   ซึ่งจะใช้วงเงินลงทุนรวม 2 หมื่นล้านบาท   โดยยืนยันว่าทั้งสองส่วนนี้จะลงทุนได้ทันภายในกรอบเวลาปี 2560   ซึ่งเป็นการวางโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับกับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล
 
         
ส่วนโครงการขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงนั้น    ที่ประชุมได้เห็นชอบการแยกการลงทุนที่ชัดเจนระหว่างกระทรวงดีอีกับสำนักงาน กสทช.  เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน โดยกระทรวงดีอีจะดำเนินการลงทุนขยายโครงข่ายในหมู่บ้าน 2.47 หมื่นแห่ง ภายใต้วงเงินลงทุน 1.5 หมื่นล้านบาท   โดยแยกเป็นงบ 1.3 หมื่นล้านบาท ในปี 2560 และอีก 2,000 ล้านบาท ในปี 2561
         
ขณะที่ กสทช.จะรับไปลงทุนใน 1.96 หมื่นแห่ง  แยกเป็น 3,920 แห่ง ตามโครงการเดิมของ กสทช.และรับเพิ่มเติมใหม่จากการเห็นชอบในการประชุมครั้งนี้อีก 1.57 หมื่นแห่ง ทั้งหมดจะใช้งบประมาณจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (USO)
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 03 พ.ย. 2559 เวลา : 19:17:11
26-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 26, 2024, 1:32 pm