ภาพรวมของอุตสาหกรรมเครื่องสำอางในประเทศไทยนับวันจะมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เพราะไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไรผู้บริโภคชาวไทยยังคงให้ความสำคัญกับการดูแลตัวเองให้ดูดีอยู่เสมอ ด้วยเหตุนี้ภาพรวมธุรกิจเครื่องสำอาง จึงถือเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบเศรษฐกิจน้อยมากเมื่อเทียบกับธุรกิจอื่นๆ
จากแนวโน้มการขยายตัวที่ดีดังกล่าวส่งผลให้ปัจจุบันประเทศไทยมีโรงงานที่สามารถเป็นแหล่งผลิตเครื่องสำอาง สกินแคร์ และอาหารเสริม เพื่อจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศเกือบ 7,000 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งถือเป็นแหล่งผลิตที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน พร้อมกันนี้ หากมองในด้านของการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ประเทศไทยถือว่ามีความพร้อมทางด้านการพัฒนานวัตกรรม และการใช้เทคโนโลยีทันสมัย โดยเฉพาะการพัฒนาผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกและสมุนไพร
น.ส. เกศมณี เลิศกิจจา นายกสมาคมผู้ผลิตเครื่องสำอางไทย กล่าวว่า จากความพร้อมในด้านต่างๆที่ประเทศไทยมีไม่ว่าจะเป็นในด้านของโรงงาน การพัฒนานวัตกรรม หรือการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ทำให้ปัจจุบันประเทศไทยมีกลุ่มผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพสูงที่รับจ้างผลิตสินค้าให้กับแบรนด์ดังระดับโลกหลายยี่ห้ออยู่มากถึง 1,000-2,000 ราย ซึ่งจากความได้เปรียบดังกล่าวทำให้หลายหน่วยงานต่างพยายามผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตของภูมิภาคอาเซียน เพราะถ้าหากนำความพร้อมในด้านต่างๆ โดยเฉพาะในด้านของโรงงานผลิตสินค้าเปรียบเทียบกับประเทศอินโดนีเซียที่มีโรงงานผลิตสินค้าความงามเพียง 1,000-2,000 แห่ง ถือว่าประเทศไทยมีความพร้อมสูงกว่าเป็นอย่างมาก
นอกจากนี้ การที่ประเทศไทยมีแหล่งวัตถุดิบจากธรรมชาติหลายชนิด โดยเฉพาะในด้านของพืชสมุนไพร ที่สามารถนำมาวิจัยและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพได้ ยิ่งทำให้ประเทศไทยได้เปรียบคู่แข่งในภูมิภาคอาเซียนเป็นอย่างมาก ด้วยเหตุปัจจัยดังกล่าว ทางสมาคมผู้ผลิตเครื่องสำอางไทย จึงอยากให้ภาครัฐเข้ามาส่งเสริมผู้ประกอบการให้นำสมุนไพรมาประยุกต์และพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ให้มากขึ้น
ขณะเดียวกันในฝั่งของผู้ประกอบการเองก็ควรให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมสินค้าและบรรจุภัณฑ์ใหม่ๆ ออกสู่ตลาดด้วย เพราะการจะผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิต กลุ่มผลิตภัณฑ์ความงามของไทยจะต้องมีความพร้อมและความสมบูรณ์แบบรอบด้าน ซึ่งหากประเทศไทยทำสำเร็จจะทำให้ประเทศไทยมีเศรษฐกิจที่เติบโตมากขึ้น เพราะสินค้าความงามได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจน้อย
อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าเป็นห่วงอีกอย่างสำหรับผู้ประกอบการในธุรกิจเครื่องสำอางของไทย คือ การปรับโครงสร้างภาษีนำเข้าเครื่องสำอางจาก 5% เหลือเป็น 0% ซึ่งกระทรวงการคลังมีแผนที่จะปรับอัตราภาษีนำเข้าให้อยู่ในระดับดังกล่าว เพื่อทดลองใช้เป็นแนวทางในเดือน ม.ค. 2560 นี้รวมระยะเวลา 3 สัปดาห์ ภายหลังจากได้ข้อเสนอจากสมาคมผู้ค้าปลีกไทย และสมาคมศูนย์การค้าไทย
น.ส. เกศมณี กล่าวต่อว่า หากภาครัฐมีแนวทางชัดเจนที่จะปรับลดอัตราภาษีนำเข้าเครื่องสำอางเหลือ 0% เป็นการถาวร สมาคมฯ มองว่าจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจเครื่องสำอางสกินแคร์ภายในพอสมควร โดยปัจจุบันธุรกิจเครื่องสำอางสกินแคร์ในประเทศมีมูลค่าอยู่ที่กว่า 1.73 แสนล้านบาท ซึ่งกลุ่มผู้ประกอบการที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ ผู้ดำเนินธุรกิจขนาดกลางและย่อม หรือเอสเอ็มอี
จากปัจจัยลบดังกล่าว สมาคมผู้ผลิตเครื่องสำอางไทย 90% ของกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จะค่อยๆ หายไปจากตลาด เนื่องจากไม่มีสายป่านที่ยาวพอที่จะแข่งขันกับผู้ประกอบการข้ามชาติรายใหญ่ได้ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงคาดว่าจะส่งผลกระทบให้มูลค่าตลาดเครื่องสำอางไทยมีมูลค่าลดลง จากสิ้นปีนี้คาดว่าจะปิดมูลค่าได้ที่ 1.85 แสนล้านบาท
อีกหนึ่งปัจจัยที่สมาคมผู้ผลิตเครื่องสำอางไทยกังวล คือ สินค้านำเข้าอาจจะทะลักเข้าในไทย ส่งผลให้สัดส่วนสินค้านำเข้ามีการปรับขึ้นมาจาก 30% ในปีนี้เป็น 40-50% โดยในปี 2558 ที่ผ่านมาสินค้านำเข้ามีมูลค่ากว่า 20,000-30,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 20% ของธุรกิจเครื่องสำอางทั้งหมด โดยส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่มาจากอเมริกา และยุโรป
ขณะเดียวกัน ประเทศไทยอาจสูญเสียโอกาสทางด้านการลงทุน ซึ่งจะเกิดจากการโยกย้ายฐานการผลิต เนื่องจากปัจจุบันสินค้าแบรนด์เนมชื่อดังใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเครื่องสำอางและสกินแคร์ พร้อมกับส่งออกไปจำหน่ายทั่วโลก จากตัวเลขการส่งออกปีนี้คาดการณ์ว่ามูลค่ากว่า 1.05 แสนล้านบาท จากมูลค่าดังกล่าวนับว่าเครื่องสำอางเป็นหนึ่งอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือจีดีพี ของประเทศไทยเลยทีเดียว
น.ส.เกศมณี กล่าวอีกว่า เมื่อวันที่ 12 ต.ค. ที่ผ่านมาทางสมาคมได้ยื่นหนังสือต่อสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อให้ทบทวนเรื่องการปรับโครงสร้างภาษีนำเข้าเครื่องสำอางจาก 5% เหลือ 0% ไปเรียบร้อยแล้ว เพราะโอกาสที่ไทยจะเสียดุลการค้ามีมากกว่าเพิ่มดุลการค้า นอกจากนี้เอสเอ็มอีจดทะเบียนกับสํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วม 7,000 ราย ยังไม่มีความพร้อมหากแบรนด์เนมเข้ามา โดยเฉพาะการสร้างแบรนด์และบรรจุภัณฑ์ ส่วนนวัตกรรมมีความแข็งแกร่งทัดเทียมกับเกาหลีและยังน้อยกว่าญี่ปุ่น และประการสุดท้ายการปรับลดภาษีเครื่องสำอางจะส่งผลให้ตลาดเครื่องสำอางไทยเติบโตช้าลง จาก 9 เดือนที่ผ่านมาข้อมูลยูโรมอนิเตอร์โต 5% และคาดว่าตลาดไทยมีศักยภาพโตได้ถึง 7%
อย่างไรก็ดี เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับผู้ประกอบการไทย ก่อนที่ภาครัฐจะมีการปรับลดภาษีนำเข้าทำให้เสียเปรียบในด้านการแข่งขัน ล่าสุดทางสมาคมผู้ผลิตเครื่องสำอางไทยได้มีการจับมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ประกอบการในธุรกิจเครื่องสำอางร่วมกันจัดงาน คอสเม็กซ์ 2016 ซึ่งจะเป็นงานแสดงเทคโนโลยีด้านการผลิต บรรจุภัณฑ์ การบริการด้านการรับจ้างผลิตสินค้าให้กับแบรนด์
ด้านนายสุทธิศักดิ์ วิลานันท์ รองกรรมการผู้จัดการ รี้ด เทรดเด็กซ์ ผู้ดำเนินธุรกิจจัดงานแสดงสินค้า กล่าวว่า การจัดงานคอสเม็กซ์ 2016 งานแสดงเทคโนโลยีด้านการผลิต บรรจุภัณฑ์ การบริการด้านการรับจ้างผลิตสินค้าให้กับแบรนด์ เพื่อแสดงศักยภาพอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สกินแคร์ มีโซลูชั่นการบริการครอบคลุมหลากหลาย พร้อมก้าวสู่การเป็นศูนย์การผลิตเครื่องสำอางในเอเชีย ขณะเดียวกันบริษัทยังได้จัดงานอิน-คอสเมติกส์ เอเชีย ซึ่งเป็นงานแสดงด้านส่วนประกอบเครื่องสำอางชั้นนำของเอเชีย คาดว่ามีผู้เข้าร่วมงานกว่า 6,000 ราย
นอกจากจะเตรียมความพร้อมในรูปแบบของการจัดงานแฟร์แล้ว ก่อนหน้านี้ทางสมาคมผู้ผลิตเครื่องสำอางไทย ยังได้มีการลงนามเซ็นสัญญาข้อตกลงความร่วมมือกับสมาคมเครื่องสำอางแห่งชาติอิตาลี (UNIPRO : Italian Association of Cosmetic Industries) เพื่อร่วมมือกันพัฒนาเทคนิคการผลิตและมาตรฐานเครื่องสำอางและ ผลิตภัณฑ์สปา เพื่อให้ได้มาตรฐานของยุโรป รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูล ข่าวสาร และการสนับสนุนให้นักธุรกิจที่เป็นสมาชิกทั้ง 2 ฝ่าย ได้มีการทำการค้าซึ่งกันและกันให้เพิ่มขึ้น โดยกรมส่งเสริมการส่งออก มีนโยบายให้ฝ่ายอิตาลีช่วยด้าน Technical Support โดยเฉพาะเรื่องมาตรฐานสินค้าและบริการด้านธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผู้ประกอบการเครื่องสำอางไทยมีความแข็งแกร่งในการทำธุรกิจมากขึ้น
ข่าวเด่น