แม้โลกยุคปัจจุบันจะให้น้ำหนักกับความสะดวกสบายที่มีมากขึ้น จากเทคโนโลยีที่ก้าวไกล แต่สำหรับเรื่องธุรกรรมทางการเงินกับวิถีชีวิตของคนไทย ความสะดวกสบายที่เกิดขึ้น ยังไม่ได้รับความสนใจมากเมื่อเทียบกับความปลอดภัยในการชำระเงิน
ซึ่งจะเห็นได้จากผลสำรวจของวีซ่า ที่พบว่า คนไทยให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัยมากกว่าความสะดวกสบาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการชำระเงินด้วยบัตรแบบไร้สัมผัส (contactless card) หรือ โมบาย วอลเล็ต (mobile wallet) แต่ก็มีแนวโน้มที่จะเลือกใช้วิธีชำระเงินผ่านระบบไร้สัมผัสมากขึ้น หากพวกเขามั่นใจว่ามีมาตราการรักษาความปลอดภัยอยู่ในระดับที่สูงมากพอ
โดยวีซ่า ได้ศึกษาเรื่องวิธีการชำระเงินแบบไร้สัมผัสและกระเป๋าสตางค์ดิจิตอล (digital wallet) พบว่าคนไทย 82% เชื่อว่าความปลอดภัยมีความสำคัญมากกว่าความสะดวกสบาย เมื่อนึกถึงการชำระเงินผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่หรือระบบไร้สัมผัส ด้วยการเติบโตอันรวดเร็วในด้านเทคโนโลยีทางการเงิน หรือ ฟินเทค (FinTech) ที่ภาครัฐบาลและเอกชนกำลังใช้แนวทางต่างๆ เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคในการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะเมื่อมีการทำธุรกรรมทางเงินผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่
คนไทยใช้เวลาอยู่กับอุปกรณ์เคลื่อนที่ต่างๆอย่างสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตประมาณ 160 นาทีต่อวัน ซึ่งภายในสิ้นปี 2559 นี้ คาดว่า จะมีจำนวนผู้ใช้สมาร์ทโฟนประมาณ 20 ล้านคนในประเทศไทยและคาดว่าจะสูงขึ้นถึง 24.5 ล้านคนภายในปี 2562 แม้ว่าการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและการเป็นเจ้าของอุปกรณ์เคลื่อนที่สำหรับคนไทยอยู่ในอัตราที่สูง แต่ความเข้าใจเกี่ยวกับบริการทางการเงินผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ยังค่อยเป็นค่อยไป โดยส่วนหนึ่งเกิดจากผู้บริโภคชาวไทยยังไม่ตระหนักถึงความก้าวหน้าของความปลอดภัยในโลกออนไลน์และเทคโนโลยีเท่าที่ควร
เรื่องความปลอดภัยดังกล่าว นายสุริพงษ์ ตันติยานนท์ ผู้จัดการวีซ่า ประจำประเทศไทย กล่าวว่า เมื่อดูจากผลสำรวจจะพบว่า ยิ่งระบบการชำระเงินผ่านมือถือมีความปลอดภัยมาก คนไทยก็จะมีความเชื่อมั่นและเต็มใจที่จะชำระเงินผ่านระบบดังกล่าวมากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นด้วยระบบความปลอดภัยทางการเงินที่แน่นหนาหลายชั้นของวีซ่า จึงมั่นใจว่าเราจะเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มจำนวนการทำธุรกรรมผ่านมือถือในการประเทศไทยได้อย่างแน่นอน
นอกจากนี้ รายงานการศึกษาที่จัดทำโดย ยูโกฟ (YouGov) ในนามของวีซ่า ถึง ทัศนคติของคนไทย ควบคู่ไปกับประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่าง สิงคโปร์และมาเลเซีย ต่อการทำธุรกรรมการเงินผ่านมือถือและระบบไร้สัมผัส (Contactless Payment) ยังพบว่า สิ่งที่คนในกลุ่มประเทศนี้โดยเฉพาะในประเทศไทยยังกลัวมากที่สุดในการชำระเงินด้วย mobile wallet คือ กลัวว่าจะมีการแฮ็คมือถือมากถึง 73 % ถูกขโมยโทรศัพท์มือถือ 65 % และกลัวว่าจะถูกเรียกเก็บเงินจากรายการที่ไม่ต้องการจะจ่ายอีก 63 %
ด้านการปรับตัวของสถาบันการเงิน นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า เรื่องหลักที่ธนาคารพาณิชย์ในระบบจะต้องเผชิญในปี 2560 จะเป็นเรื่องของฟินเทค (Financial Technology: FinTech) ที่จะเข้ามาแข่งขันอุตสาหกรรมธนาคารและธุรกรรมการเงินมากขึ้น โดยจะเห็นว่าปัจจุบันเรื่องของดิจิตอลแบงกิ้งเข้ามามีบทบาทในชีวิตมากขึ้น ทำให้ลูกค้าธนาคารสามารถทำธุรกรรมออนไลน์บนมือถือแทนการไปสาขาธนาคาร ทำให้ธนาคารต้องปรับตัวและหาแผนรองรับ
ขณะที่ นางกิตติยา โตธนะเกษม รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ในปี 2560 เรื่องของเทคโนโลยีจะพลิกรูปแบบการดำเนินธุรกิจและการแข่งขันของระบบสถาบันการเงิน ขณะเดียวกันธนาคารก็ตระหนักถึงความปลอดภัยทางการเงิน จึงต้องเตรียมตัวรองรับความเสี่ยงอาจจะเกิดขึ้น ตามพัฒนาการที่รวดเร็วของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งปีนี้ธนาคารเพิ่มการลงทุนด้านไอทีเพิ่มขึ้นเป็น 15% หรือประมาณ 6,500 ล้านบาท ของกำไรสุทธิของธนาคารในปีที่ผ่านมา ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเป้าหมายเดิมที่คาดจะลงทุนเพียง 6-7% ของกำไรสุทธิเท่านั้น
ข่าวเด่น