กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เดินหน้าเร่งส่งเสริมผู้ประกอบการใหม่กลุ่มสตาร์ทอัพทั่วประเทศในปี 2560 กว่า 4 พันราย โดยตั้งเป้าพัฒนา 3 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ ด้านเกษตรและอาหารแปรรูป ด้านเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ ด้านธุรกิจบริการการท่องเที่ยวและการออกแบบ เป็นต้น ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่าปัจจุบันเขตภาคเหนือในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ถือเป็นอีกหนึ่งภูมิภาคที่มีศักยภาพในการพัฒนาสู่การเป็นเมืองแห่งสตาร์ทอัพ หรือ Startup District และมีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ กสอ. ได้จัด “มหกรรมวันนัดพบผู้ประกอบการภาคเหนือ” เพื่อเป็นการสร้างความรู้และพัฒนาขีดความสามารถให้ผู้ดำเนินธุรกิจมีความพร้อมเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 พร้อมจัดแสดงตัวอย่างผู้ประกอบการสตาร์ทอัพจำนวนมากในพื้นที่ภาคเหนือ
ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การสร้างผู้ประกอบการใหม่เป็นกลไกในการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ทั้งการก่อให้เกิดการจ้างงาน สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ในอัตราสูง เพิ่มศักยภาพในการแทนที่ธุรกิจแบบเดิม พร้อมทั้งยังช่วยให้เกิดการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์และการบริการใหม่ ๆ ให้สอดรับกับความต้องการของตลาดผู้บริโภคที่มีสูงขึ้น โดยการสร้างผู้ประกอบการกลุ่มสตาร์ทอัพถือเป็นเป้าหมายหนึ่งในการส่งเสริมผู้ประกอบการให้นำความคิดสร้างสรรค์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการพัฒนาสินค้าและบริการที่มีมูลค่าสูง เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจสู่ยุคประเทศไทย 4.0 โดยมุ่งเน้นสร้างผู้ประกอบการใหม่ที่มีมูลค่าสูง (High Value Startup) ใน 3 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ดังนี้
• Agri Tech & Food Tech เช่น เกษตรแปรรูป อาหารแปรรูป อาหารเพื่อสุขภาพ อาหารออร์แกนิค เป็นต้น
• 2. Health & Wellness เช่น เวชภัณฑ์อุปกรณ์ทางการแพทย์ ของใช้ผู้สูงอายุ ผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงาม เป็นต้น
• 3. Service Tech เช่น ธุรกิจการท่องเที่ยว ด้านการออกแบบและดีไซน์ และด้านวัฒนธรรม
โดยมีรูปแบบการส่งเสริมและพัฒนากลุ่ม Startup ประกอบด้วย 1) การเข้าถึงแหล่งเงินทุน ด้วยการจัดให้มีกิจกรรมนำเสนอแผนธุรกิจของผู้ประกอบการ (Pitching) เพื่อแสวงหาโอกาสทางการเงินและการเข้าถึงแหล่งเงินทุน 2) การสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ ด้วยการส่งเสริมความรู้และทักษะในการดำเนินธุรกิจ เช่น การบ่มเพาะธุรกิจ หรือการฝึกอบรม 3) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การจัดให้มี Co-Working Space เพื่อเป็นสถานที่แก่ผู้ประกอบการได้เข้ามาใช้บริการ และพบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์
ด้าน ดร.สมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้มอบหมายให้ กสอ. ดำเนินการผลักดันกลุ่มสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ที่มีแนวคิดธุรกิจ มีความสามารถในเชิงเทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดเชิงสร้างสรรค์ ผ่านกระบวนการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการธุรกิจรวมถึงยังมีนโยบายในการผลักดันให้ผู้ที่ผ่านการเข้าร่วมโครงการต่าง ๆ ของกระทรวงอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ รวมถึงการแนะนำให้ผู้ประกอบการรายเก่าบางรายที่มีรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่ยังไม่สอดรับกับภาวการณ์ทางเศรษฐกิจปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนธุรกิจไปสู่ธุรกิจใหม่ที่มีการเจริญเติบโตแบบก้าวกระโดด โดยในปี 2560 นี้ได้ตั้งเป้าหมายการสร้างและพัฒนาธุรกิจกลุ่มนี้มากกว่า 4 พันรายทั่วประเทศ ภายใต้งบประมาณปี 2560 กว่า 80 ล้านบาท
ด้าน ดร.พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ภาคเหนือนับเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่น่าจับตามองพื้นที่หนึ่งของประเทศไทยในการพัฒนาผู้ประกอบการกลุ่มสตาร์ทอัพ เนื่องจากมีโครงสร้างทางเศรษฐกิจครอบคลุมหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นภาคการบริการ ภาคอุตสาหกรรม และภาคการเกษตรนอกจากนี้ ยังมีความพร้อมจากการเป็นคลัสเตอร์ดิจิทัล มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่เพียบพร้อม มีสถาบันและการสนับสนุนจากหน่วยงานที่พร้อมเป็นพี่เลี้ยงและให้คำปรึกษาอย่างครบครัน พร้อมด้วยแหล่งเงินทุนที่จะช่วยขยายตลาดและการบริการให้กระจายตัวอย่างหลากหลาย ทั้งนี้ จากการดำเนินโครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ (NEC) ในปี 2559
พร้อมด้วยกิจกรรม Plan To Biz และกิจกรรมเถ้าแก่น้อยเทคโนโลยี พบว่ามีการเกิดขึ้นของผู้ประกอบการในกลุ่มสตาร์ทอัพในภาพรวมจำนวนกว่า 790 ราย โดยในพื้นที่ภาคเหนือนับเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพและความพร้อมมากที่สุดแห่งหนึ่ง โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งปัจจุบันมีสตาร์ทอัพจำนวนมากในหลากหลายธุรกิจ อาทิ กลุ่ม Chiang Mai Maker Club ที่เป็นพื้นที่ที่เกิดขึ้นจากการร่วมตัวกันของกลุ่มคนที่มีความสนใจในด้านเทคโนโลยี การออกแบบและอุปกรณ์อินเทอร์เน็ตอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่ม Pinn Creative สตาร์ทอัพ มีความพร้อมด้านการดีไซน์ด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย มีความหลากหลายด้านเทคโนโลยีที่สามารถสร้างสรรค์ผลงานการออกแบบให้เกิดชิ้นงานที่มีประสิทธิภาพและมีนวัตกรรมทำให้ผลงานสามารถเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว และกลุ่มดอทเอ็นเตอร์ กลุ่มสตาร์ทอัพที่ให้บริการด้านการออกแบบเว็บไซต์ และการออกแบบระบบซอฟต์แวร์ โดยจุดแข็งของสตาร์ทอัพเหล่านี้ คือ การใช้ประโยชน์จากความรู้เชิงเทคนิคมาพัฒนาระบบและเครื่องมือใหม่ ๆ ที่เข้ามาตอบโจทย์ที่เป็นช่องว่างทางการตลาด ทั้งนี้ คาดว่าจากศักยภาพดังกล่าวในอนาคตจังหวัดเชียงใหม่จะเป็น “Startup District” หรือ เมืองแห่งสตาร์ทอัพ ได้อย่างมีศักยภาพ
อย่างไรก็ดี เพื่อเป็นการสร้างความรู้และพัฒนาขีดความสามารถให้ผู้ดำเนินธุรกิจให้มีความพร้อมเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้กำหนดจัด “มหกรรมวันนัดพบผู้ประกอบการภาคเหนือ” กิจกรรมการให้บริการในด้านต่าง ๆ เพื่อการส่งเสริม SMEs และ OTOP จากหน่วยงาน ในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานภาคเอกชน พร้อมทั้งการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “พลิกธุรกิจ SMEs สู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0” และ SMEs 4.0 การบรรยายพิเศษเรื่อง “ธุรกิจปรับตัวอย่างไรในยุค 4.0” และ การเสวนา “พลิกแบรนด์คุณป้าสู่แบรนด์แนวหน้าระดับโลก” เมื่อเร็ว ๆ นี้ ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติเอ็มเพรส โรงแรมดิเอ็มเพรส จ.เชียงใหม่
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ได้ที่ สำนักพัฒนาผู้ประกอบการ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม โทร. 02-2024572-74 หรือเข้าไปที่ www.dip.go.th
ข่าวเด่น