ข่าวประชาสัมพันธ์
ปิดฉากชลประทานโลกครั้งที่ 2 ICID ชมไทยจัดงานเยี่ยม


 



ปิดฉากชลประทานโลกครั้งที่ 2  ICID ชมไทยจัดงานเยี่ยม 52 ประเทศทึ่งในพระปรีชาสามารถรัชกาลที่ 9

ปิดฉากการจัดประชุมชลประทานโลกครั้งที่ 2  ประสบผลสำเร็จอย่างน่าพอใจ ประธาน ICID     ชื่นชมไทยจัดได้ประสบความสำเร็จ  เผยผู้เข้าร่วมงาน 52 ประเทศ ยกย่องในพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ของประเทศไทย

การประชุมชลประทานโลกครั้งที่ 2 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-8 พฤศจิกายน 2559         ณ  ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา  จังหวัดเชียงใหม่   ได้สิ้นสุดลงท่ามกลางความสำเร็จ มีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 1,200 คน จาก 52 ประเทศ เป็นผู้เข้าร่วมประชุมจากประเทศไทยร้อยละ 50 และต่างชาติร้อยละ 50   โดยเป็นระดับรัฐมนตรีจาก   8 ประเทศ ซึ่งล้วนแต่เป็นประเทศที่ให้ความสำคัญในด้านการชลประทานและการเกษตร ได้แก่ ประเทศภูฏาน  เนปาล   เอธิโอเปีย  สาธารณรัฐประชาชนจีน  อินโดนีเซีย  กัมพูชา  สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว   และไทย    อีกทั้งมีเจ้าหน้าที่ระดับสูง ( Senior Officers ) ร่วมประชุมอีก 11 ประเทศ ได้แก่  ประเทศภูฏาน กัมพูชา สาธารณรัฐประชาชนจีน อินโดนีเซีย สาธารณรัฐเกาหลี สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า เนปาล ซูดาน ยูเครน และไทย

 
         
ทั้งนี้การจัดประชุมชลประทานโลกดังกล่าว จะแบ่งการจัดประชุมใหญ่ออกเป็น 5 การประชุม การประชุมคู่ขนาน 12 การประชุม และการนำเสนองานวิชาการผ่านโปสเตอร์มากกว่า 50 ภาพ การประชุมย่อย 17 การประชุม ซึ่งส่วนใหญ่จัดโดยองค์กรและสถาบันระหว่างประเทศ 
 

       
Dr.Saeed  Nairizi  ประธานคณะกรรมาธิการระหว่างประเทศว่าด้วยการชลประทานและการระบายน้ำ (International Commission on Irrigation and Drainage : ICID)  ได้กล่าวชื่นชมการจัดการประชุมชลประทานโลกในครั้งนี้ว่า สามารถจัดได้สมบูรณ์แบบทั้งการประชุมและการจัดนิทรรศการที่เกี่ยวข้องกับการชลประทาน  แม้จะเป็นในช่วงที่ประเทศไทย  และคนไทยไว้อาลัย ที่ต้องสูญเสียพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 อันเป็นที่รักยิ่งก็ตาม   โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานที่ดูงานของระดับรัฐมนตรี  และเจ้าหน้าที่ระดับสูง  คือ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ  อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่   ที่ได้มีการจัดทำแบบจำลองเสมือนจริงของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริจำนวน 6 แห่งมาจัดแสดงไว้ให้ชมในสถานที่เดียว ทำให้ได้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพ              และพระปรีชาสามารถในด้านการบริหารจัดการน้ำ การแก้ปัญหาต่างๆของการเกษตร  การอนุรักษ์ดินและน้ำ  ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

 
 
นอกจากนี้  Dr.Saeed  ยังได้กล่าวขอบคุณ  พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์    นายสัญชัย เกตุวรชัย  อธิบดีกรมชลประทาน ประธาน THAICID    ดร.สมเกียรติ  ประจำวงษ์  รองอธิบดีกรมชลประทานและเลขาธิการ THAICID   ที่ช่วยดำเนินการจัดการประชุมชลประทานโลกครั้งที่ 2  เป็นไปอย่างเรียบร้อยและประสบผลสำเร็จอย่างน่าพอใจ มีประเทศที่เข้าร่วมประชุมจำนวนมาก
 

สำหรับความสำเร็จในการประชุมชลประทานโลกในครั้งนี้ ทุกประเทศที่เข้าร่วมประชุมได้ให้ความสำคัญในเรื่องการชลประทาน และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ   ตลอดจนการใช้น้ำอย่างคุ้มค่าให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งจะช่วยให้เกิดความมั่นคงทางด้านอาหาร และสามารถขจัดความยากจนได้อย่างยั่งยืน   โดยเฉพาะในการประชุมระดับรัฐมนตรีนั้น  ได้ทำให้เกิดเป็นปฏิญญาเชียงใหม่ที่แต่ละประเทศจะช่วยกันในการเพิ่มประสิทธิภาพในเรื่องชลประทานควบคู่ไปกับการสร้างความมั่นคงในด้านอาหาร  ตลอดจนการยกระดับเครือข่ายเชื่อมโยงการพัฒนาชนบท            กับการพัฒนาเมือง    สนับสนุนการมีส่วนร่วมการรวมกลุ่มของประชาชนและเพิ่มอำนาจในการต่อรองให้เกษตรกรมากขึ้น

นอกจากนี้แต่ละประเทศที่เข้าร่วมประชุมยังได้เสนอปัญหาและแนวทางแก้ไขของแต่ละประเทศ  ซึ่งมีความแตกต่างกันออกไป รวมทั้งยังเสนอแนวทางการพัฒนาด้านการชลประทาน และการเกษตร   พร้อมต้องการให้  ICID  เข้ามาเกี่ยวข้องในการผลักดันการแก้ไขปัญหาน้ำและการเกษตร ตลอดจนการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม โดยในส่วนประเทศไทยนั้นได้นำ เสนองานวิจัยการทำนาแบบใช้น้ำน้อยหรือการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง   ในการทำนาปรังในเขตชลประทานช่วงฤดูแล้ง  ซึ่งช่วยลดการใช้น้ำลง 20 -35 %   และยังช่วยลดต้นทุนการผลิต  ในขณะที่ได้ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นซึ่งได้รับความสนใจอย่างมากจากประเทศที่เข้าร่วมประชุม  จนได้รับรางวัล WatSave Awards 2016

นอกจากนี้ยังมีการประชุมในระดับเกษตรกร ( Smart Farmer)  จำนวน 16 คน จาก 6 ประเทศ  ได้แก่  ซูดาน อินเดีย อิหร่าน อิรัก สาธารณรัฐเกาหลี และไทย  ทำให้เกษตรกรในแต่ละประเทศได้มีการพัฒนาต่อยอดความรู้ ความสามารถ ความเข้มแข็ง ทักษะ และประสบการณ์ใหม่ๆ  เป็นการเพิ่มศักยภาพในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาการเกษตรในอนาคตอย่างมั่นคงและยั่งยืน 

สุดท้ายรัฐมนตรีจากประเทศลาว  ยังได้เสนอให้ประเทศไทยเป็นประเทศศูนย์กลางการพัฒนาเทคโนโลยีด้านชลประทานและการระบายน้ำในภูมิภาคอาเซียน เนื่องจากเห็นว่าประเทศไทยที่มีศักยภาพและความพร้อมด้านชลประทานมากที่สุดในภูมิภาคนี้   อย่างไรก็ตามในเรื่องนี้จะต้องได้รับความเห็นชอบจากประเทศสมาชิกอาเซียนจากทั้ง 10 ประเทศก่อน

อนึ่ง แม้การประชุมชลประทานโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงในวันที่ 8 พฤศจิกายนนี้  แต่ยังมีการประชุมมนตรีฝ่ายบริหารระหว่างประเทศ ครั้งที่ 67 ( The 67th  International Executive Council Meeting : 67th  IEC Meeting ) ณ  ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่ต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2559

 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 09 พ.ย. 2559 เวลา : 17:05:02
25-04-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2025, 3:24 pm