ต้องยอมรับว่า การส่งออกของไทยในระยะต่อไป ต้องเผชิญกับอุปสรรคทางการค้าเพิ่มมากขึ้น เมื่อนายโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำประเทศสหรัฐฯคนใหม่ ได้ประกาศนโยบายที่ชัดเจน โดยไม่สนับสนุนการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งนางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ยอมรับว่า การส่งออกจะมีความเสี่ยงมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย ถ้าไม่นับอาเซียน 10 ประเทศรวมกัน โดยในปี 2558 ไทยมีมูลค่าส่งออกไปสหรัฐฯ 24,055 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 11.2 ของมูลค่าการส่งออกของไทยทั้งหมด
โดยมีสินค้าสำคัญ อาทิ คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์และส่วนประกอบ และเครื่องนุ่มห่ม รวมทั้งอาหารทะเลและผลไม้กระป๋องแปรรูป ซึ่งสินค้าเหล่านี้มีสัดส่วนรวมกันถึงร้อยละ 51.4 ของการส่งออกไทยไปสหรัฐฯทั้งหมด
ดังนั้นหากสหรัฐฯ มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าในทิศทางที่มีการกีดกันมากขึ้น ประกอบกับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการค้าโลกโดยรวม จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการส่งออกของไทยทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยในขณะนี้ค่อนข้างมีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง จึงมั่นใจว่า ผลกระทบต่อไทยจะไม่รุนแรงมากนัก แต่ผู้ประกอบการรายเล็กควรต้องปรับตัว เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงและความผันผวนที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน
ส่วนข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ทีพีพี) ทรัมป์มีแนวโน้มคัดค้านอย่างชัดเจน และคาดว่าจะมีการเจรจาการค้าฉบับใหม่ที่มีลักษณะปกป้องผลประโยชน์คนอเมริกันมากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การขยายแนวคิดชาตินิยมและไม่ให้ความสำคัญกับการค้าเสรีกับประเทศต่างๆ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของการค้าโลก โดยไทยได้เตรียมพร้อมที่จะพิจารณาสานสัมพันธ์ทางการค้าผ่านเวทีอื่นๆ เพื่อรักษาผลประโยชน์ทางการค้าของไทยต่อไป
นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า นโยบายหาเสี่ยงของนายทรัมป์ มีแนวโน้มที่จะใช้ระบบป้องกันการค้าและโดดเดี่ยวตัวเองมากขึ้น และจะยึดนโยบายต่างประเทศที่มองผลประโยชน์ของสหรัฐฯ เป็นหลัก ซึ่งจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าโลก เพราะนโยบายของสหรัฐฯ แทบจะปิดประเทศ โดยจะมีการตั้งกำแพงภาษีนำเข้า มีการใช้มาตรการที่ไม่ใช่ภาษีเพิ่มมากขึ้น และมีแนวโน้มสนับสนุนนโยบาย Buy America เพื่อให้มีการจ้างงานคนอเมริกันมากขึ้น
ขณะที่ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เสนอว่าไทยควรใช้โอกาสนี้ผลักดันความร่วมมือทางการค้าของไทยในกลุ่ม RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) หรือความตกลงพันธมิตรทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งน่าจะเริ่มมีสัญญาณชัดเจนขึ้นภายในปลายปีนี้หรือปีหน้า หลังจากที่ได้ประชุมร่วมกันมาแล้วถึง 15 รอบ อีกทั้งยังทำให้ความน่าสนใจในการลงทุนของไทยยังมีอยู่ จากการที่ไทยมีพรมแดนและการคมนาคมเชื่อมโยงกับกลุ่มประเทศ CLMV ที่กำลังเติบโตและนักลงทุนสามารถใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อตอบโจทย์การลงทุน
ข่าวเด่น