ประกัน
คปภ.-ภาคอุตสาหกรรมประกันภัยร่วมใจทำความดีเพื่อชาวนาไทยถวายเป็นพระราชกุศล


 


ดร.สุทธิพล  ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า จากการที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จสวรรคต ได้ยังความเศร้าโศกเสียใจแก่พสกนิกรชาวไทยทั้งประเทศ นับเป็นความสูญเสียอันยิ่งใหญ่ที่สุดของประเทศชาติและประชาชน เนื่องจากพระองค์ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนทั้งประเทศ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐและทรงเป็นที่เคารพสักการะของปวงชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า  ดังนั้นสำนักงานคปภ.จึงได้เชิญภาคอุตสาหกรรมประกันภัย ซึ่งประกอบด้วย สภาธุรกิจประกันภัยไทย สมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมประกันวินาศภัยไทย สมาคมนายหน้าประกันภัยไทย และสมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงิน รวมถึงตัวแทนจากบริษัทประกันภัยต่างๆ เพื่อหารือร่วมกันว่า ควรที่จะจัดกิจกรรมใดเพื่อเป็นการน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
 

โดยตลอดระยะเวลาที่ทรงครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทุ่มเทพระวรกายและทรัพย์ส่วนพระองค์ให้ความสำคัญกับการพัฒนาข้าวและการผลิตข้าวไทยมาโดยตลอด พระองค์ทรงตระหนักถึงความสำคัญของข้าว เพราะมีความเกี่ยวพันกับสังคมไทย ทั้งวัฒนธรรม วิถีชีวิตที่ผูกพันกับข้าวมาแต่โบราณกาล นอกจากนี้ทรงพัฒนาพันธุ์ข้าวไทยเพื่อไม่ให้สูญพันธุ์ไปจากประเทศ รวมทั้งคิดค้นการแปรรูปนวัตกรรมเรื่องข้าวเพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตไทยในปัจจุบัน แต่เนื่องด้วยสภาพภูมิประเทศทำให้เกษตรกรชาวนาไทยได้รับความเดือดร้อนจากภัยธรรมชาติทุกปี ถึงแม้ว่าในช่วงต้นปี 2559 สำนักงาน คปภ.และภาคอุตสาหกรรมประกันภัยจะร่วมมือร่วมใจช่วยเหลือเกษตรกรด้วยการจัดทำโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2559/2560 ซึ่งปรากฏว่ามีเกษตรกรทำประกันภัยข้าวนาปีมากกว่า 1.5 ล้านราย มีพื้นที่เอาประกันภัยจำนวน 27 ล้านไร่ รวมค่าเบี้ยประกันภัยกว่า 2,700 ล้านบาท มียอดการทำประกันสูงถึง 27 เท่าของการประกันภัยข้าวในปีที่แล้ว โดยเป็นยอดที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของไทยตั้งแต่มีการรับประกันภัยข้าว จึงนับว่าประสบความสำเร็จอย่างสูงและเป็นการใช้ระบบประกันภัยช่วยเหลือชาวนาในการบริหารความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติอย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพ

 
ดร.สุทธิพล กล่าวอีกว่า ถึงแม้ชาวนา 1.5 ล้านรายจะทำประกันภัยข้าวเพื่อบริหารความเสี่ยงภัยจากธรรมชาติ แต่ปัจจุบันสถานการณ์ราคาข้าวหอมมะลิตกต่ำในรอบ 9 ปี ส่งผลกระทบชาวนาผู้ปลูกข้าวหอมมะลิได้รับความเดือดร้อน โดยขายข้าวได้ราคาต่ำกว่าต้นทุนการผลิต ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายให้หน่วยงานในสังกัดหรือที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงการคลังหาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวหอมมะลิ โดยช่วยกระจายข้าวในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้เกษตรกรมีช่องทางจำหน่ายข้าวได้ในราคาที่เหมาะสม

ดังนั้นสำนักงานคปภ.และภาคอุตสาหกรรมประกันภัย จึงเห็นตรงกันว่าควรที่จะสืบสานพระราชปณิธานตามรอยแห่งปรัชญาที่เกี่ยวกับข้าว โดยจัดทำโครงการในรูปแบบกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ด้วยการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2559/2560 ภายใต้ชื่อโครงการ “คปภ.-ภาคอุตสาหกรรมประกันภัย ร่วมใจทำความดีเพื่อชาวนาไทยถวายเป็นพระราชกุศล” ซึ่งรูปแบบการจัดทำโครงการ CSR ในครั้งนี้จะเป็นการช่วยซื้อข้าวเพิ่มเติมจากวิธีช่วยหาช่องทางขาย ซึ่งวิธีช่วยขายข้าวในปัจจุบันมีหลายหน่วยงานดำเนินการแล้ว ดังนั้นโครงการนี้จึงเป็นลักษณะร่วมใจกันสนับสนุนเงิน โดยเงินส่วนหนึ่งมาจากเงินสวัสดิการของสำนักงาน คปภ. ซึ่งมิได้นำมาจากงบประมาณแผ่นดิน และอีกส่วนหนึ่งเป็นเงินสนับสนุนจากภาคอุตสาหกรรมประกันภัย เพื่อนำไปซื้อข้าวหอมมะลิจากชาวนาผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) โดยเบื้องต้นจะซื้อข้าวหอมมะลิเพื่อเป็นการนำร่องจำนวน 109 ตัน หรือ 109,000 กิโลกรัม บรรจุถุงขนาด 1 กิโลกรัม มีโลโก้ของสำนักงาน คปภ. และภาคอุตสาหกรรมที่เข้าร่วมโครงการเพื่อนำไปมอบให้กับผู้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์  ผู้ยากไร้ และผู้ที่ต้องการข้าว เช่น มูลนิธิ   โรงพยาบาลสงฆ์  บ้านพักคนชรา สถานสงเคราะห์เด็กอ่อนพิการทางสมองและปัญญาบ้านเฟื้องฟ้า ฯลฯ รวมถึงจุดพัก เช่น พุทธมณฑล เมืองทองธานี ซึ่งเป็นจุดที่มีประชาชนจากทั่วประเทศเดินทางมาพักก่อนที่จะเดินทางต่อเพื่อเข้าถวายสักการะพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในพระบรมมหาราชวัง
 

“โครงการ CSR ครั้งนี้ถือเป็นการรวมพลังครั้งสำคัญของภาคอุตสาหกรรมประกันภัยทั้งระบบในการให้ความช่วยเหลือชาวนาไทย เพื่อน้อมถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระผู้ทรงมีพระเมตตาต่อคนไทยและชาวนาไทยมาตลอดรัชสมัยของพระองค์ท่าน และโครงการนี้จะเป็นโครงการนำร่องในการซื้อข้าวจำนวน 109 ตัน หรือ 109,000 กิโลกรัม เพื่อนำไปมอบให้กับผู้ที่มีความจำเป็นในการบริโภคข้าวอย่างแท้จริง โดยจะทำคู่ขนานไปกับโครงการขายข้าวและรณรงค์มอบข้าวเป็นของขวัญตามนโยบายของรัฐบาล นอกจากนี้หากบริษัทประกันภัยรายใดสนใจซื้อข้าวหอมมะลิเพิ่มเติมเพื่อนำไปเป็นของขวัญแจกให้กับลูกค้าในโอกาสปีใหม่ก็สามารถทำได้ โดยสำนักงาน คปภ. จะเป็นแกนกลางในการรวบรวมยอดสั่งซื้อข้าวหอมมะลิในครั้งนี้ ซึ่งจะทำให้ภาคอุตสาหกรรมประกันภัยมีการขับเคลื่อนในการช่วยเหลือชาวนาไทยอย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพแท้จริง” ดร.สุทธิพล กล่าวในที่สุด 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สายด่วน คปภ. 1186 หรือเว็บไซต์ www.oic.or.th หรือ ฝ่ายสื่อสารองค์กร โทรศัพท์ 02-515-3998-9 ต่อ 8307 โทรสาร 02-513-1437 http://www.facebook.com/PROIC2012
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 14 พ.ย. 2559 เวลา : 11:35:03
25-12-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ December 25, 2024, 1:47 pm