การตลาด
สกู๊ป....ไขปัญหาเจนวายทำร้านอาหารเจ๊ง









การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในยุคปัจจุบัน  ส่งผลให้พฤติกรรมของผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมค่อนข้างมาก  และที่เห็นได้ชัดเจน คือ กลุ่มเจเนอเรชั่นวาย หรือเจนวาย เห็นได้จากการพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ต้องการความรวดเร็ว สะดวก เข้าถึงเทคโนโลยี ไม่ชอบเป็นลูกน้องใคร และอยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง โดยจะเห็นได้ว่าเด็กนักศึกษาที่เรียนจบมาใหม่ๆ ส่วนใหญ่จะนิยมไปทำอาชีพอิสระ อย่างเช่น การค้าขายในสิ่งที่ตัวเองชอบ ซึ่งธุรกิจที่ติดโผในความนิยมของคนรุ่นใหม่ก็คือ การเปิดร้านอาหาร ร้านกาแฟ หรือร้านบเกอรี่

ด้วยประสบการณ์ที่น้อย ขาดความรู้ในด้านของการบริหารจัดการในธุรกิจที่ดี ประกอบกับบางส่วนขาดเงินทุนที่จะนำมาหมุนเวียนในธุรกิจ จึงทำให้การทำธุรกิจประเภทดังกล่าวของคนเจนวายประสบความสำเร็จได้น้อย ซึ่งจากการสำรวจจำนวนร้านอาหารใหม่ๆ ที่เปิดให้บริการของสมาคมผู้ประกอบการร้านอาหารพบว่า ในแต่ละปีจะมีผู้ประกอบการที่อยู่รอดและเกิดใหม่หมุนเวียนสลับกันไปประมาณ 50:50

นางลัดดา มงคลชัยวิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเชีย โฮเรก้า จำกัด ผู้บริหารศูนย์การค้าส่งโฮเราก้า สแควร์ กล่าวว่า  จากการสำรวจพฤติกรรมของคนเจนวายในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาพบว่า  ธุรกิจที่คนเจนวายต้องการทำมากที่สุด  คือ  ธุรกิจร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านค้าออนไลน์ และการขายสินค้าต่างๆ เนื่องจากเป็นธุรกิจที่เริ่มต้นได้ไม่ยาก นอกจากนี้ ยังทำให้ภาพลักษณ์ของผู้ที่เข้ามาทำธุรกิจมีความสวยงาม

แต่เนื่องจากรายละเอียดของการทำธุรกิจมีค่อนข้างมาก ทำให้โอกาสที่ธุรกิจของคนเจนวายจะประสบความสำเร็จนั้น มีเพียง 50% เท่านั้น ส่วนอีก 50% ยังคงล้มเหลว โดยสาเหตุหลักที่ไม่ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจ เนื่องจากไม่มีข้อมูลและไม่ได้ศึกษาข้อมูลต่าง ๆ ทั้งแนวโน้ม โอกาสของตลาด และเทรนด์ของลูกค้าอย่างเพียงพอ รวมทั้งการที่ไม่มีประสบการณ์ในการทำธุรกิจมาก่อน
 

 

ดังนั้น ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ จึงจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อให้สามารถแข่งขันและอยู่รอดได้  ซึ่งกลยุทธ์ที่จะทำให้ธุรกิจอยู่รอดและประสบความสำเร็จมีอยู่ด้วยกัน 5 ข้อ คือ  1. คำนึงถึงคุณภาพและความคุ้มค่าที่ลูกค้าจะได้รับ 2. นำนวัตกรรมเข้ามาปรับใช้ 3. รักษาฐานลูกค้าเก่าและสร้างฐานลูกค้าใหม่ 4. สร้างแบรนด์และเอกลักษณ์ให้โดดเด่น และ 5. ปรับองค์กรให้กระชับ รวมทั้งจะต้องบริหารธุรกิจใหม่

นอกจากนี้  ยังต้องให้ความสำคัญกับองค์ประกอบในการทำธุรกิจอีก 4 ประการ ได้แก่ 1. สรรหาและพัฒนาบุคลากร 2. พัฒนาความรู้ รู้จักบริหารเงินทุนหมุนเวียน เข้าร่วมเป็นสมาชิกโฮเรก้า 3. วางแผนการตลาดอย่างเป็นระบบ  และ4. นำนวัตกรรมและนำเสนอบริการรูปแบบใหม่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า

นางลัดดา กล่าวต่อว่า  จากปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าว บริษัทในฐานะผู้ดำเนินธุรกิจศูนย์การค้าส่งโฮเรก้า สแควร์ สำหรับผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมโรงแรม ร้านอาหาร ร้านกาแฟ เบเกอรี่ และบริการจัดเลี้ยง และเป็นศูนย์การค้าที่เกิดขึ้นจากผลการวิจัยและความต้องการของกลุ่มคนในธุรกิจ จึงมีแนวคิดที่จะเข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการที่จะก้าวเข้ามาสู่ธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร ร้านกาแฟ และบริการจัดเลี้ยง  ด้วยการจัดฝึกอบรมด้านการดำเนินธุรกิจให้กับผู้ที่สนใจ  เพื่อผลักดันให้ธุรกิจร้านอาหารเติบโตต่อไปข้างหน้า

ทั้งนี้  นอกจากจะได้ฝึกอบรมกับผู้ที่มีความรู้ความสามารถในธุรกิจแล้ว ผู้สนใจที่เข้ามาฝึกอบรมยังจะได้พบปะ พูดคุย และแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวคิดธุรกิจซึ่งกันและกัน  โดยจะเปิดรับผู้ที่สนใจเข้ามาสมัครเป็นสมาชิกโฮเรก้า สแควร์  ฟรี เพื่อรับสิทธิพิเศษรับข้อมูลความรู้ แนวทางการดำเนินธุรกิจ สิทธิพิเศษ โปรโมชั่น รวมถึง การเข้ารับการอบรมหลักสูตรต่างๆ ฟรี เพื่อพัฒนาธุรกิจให้สามารถแข่งขันและเติบโตไปได้ในอนาคตผ่านเว็บไซต์ www.horecasquare.com หรือ https://www.facebook.com/horecasquare ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
 

พร้อมกันนี้ ยังได้มีการแบ่งพื้นที่บางส่วนของศูนย์การค้าส่งโฮเรก้า สแควร์ ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้ามาขายสินค้าฟรีประมาณ 10 ราย ซึ่งจะผลัดเปลี่ยนกันไปทุกเดือน เพื่อให้สินค้ามีความแปลกใหม่ นอกเหนือจากการขายส่งกลุ่มสินค้าที่ต้องการทำธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร ร้านกาแฟ และเบเกอรี่ ที่ปัจจุบันมีผู้สนใจเข้ามาจองพื้นที่ขายแล้วประมาณ 70% โดยในส่วนของความคืบหน้าศูนย์การค้าโฮเรก้า สแวคร์ขณะนี้อยู่ระหว่างการตกแต่ง  คาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการในวันที่ 9 ก.พ.2560 ตามแผนเดิม

ด้านนายปริญญา ชุมรุม กูรูด้านแบรนด์ ที่ปรึกษาด้านการตลาด และอดีตผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและวิจัยตราสินค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวเสริมว่า ก่อนที่จะก้าวเข้ามาทำธุรกิจร้านอาหารและทำการสื่อสารแบรนด์ ผู้ประกอบการต้องรู้ก่อนว่าตนเองนั้นอยู่ในกลุ่มธุรกิจประเภทไหน เช่น  ร้านอาหารแบบหรู  (fine dining) ร้านอาหารระดับกลาง (casual dining) ร้านอาหารทั่วไป (fast dining) หรือ ร้านริมบาทวิถี  (kiosk) เช่นเดียวกับธุรกิจร้านกาแฟก็สามารถจัดแบ่งใกล้เคียงกับร้านอาหาร แต่อาจมีเพิ่มเติมจำแนกตามกลุ่มผู้ดื่มกาแฟเป็นหลัก โดยสามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ คอกาแฟตัวจริง ที่เน้นเรื่องคุณภาพ ชนิด ประเภท วิธีการชง กับ ผู้ดื่มกาแฟทั่วไป
 

เหตุผลที่ผู้ประกอบการต้องทราบว่าตัวเองอยู่ในธุรกิจประเภทไหน  เพราะการสื่อสารแบรนด์ของแต่ละธุรกิจ แต่ละประเภทย่อมมีวิธีการที่แตกต่างกัน รวมทั้งไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว แต่มีแนวทางหลักที่ผู้ประกอบการแต่ละราย จำเป็นต้องให้ความสำคัญและจำเป็นต้องมี 7 ประการ ได้แก่ 1.คุณภาพผลิตภัณฑ์ที่ดี 2. ราคาสมเหตุสมผล 3.การบริการ 4.ทำเลที่ตั้ง 5.การออกแบบตกแต่งร้าน 6.เข้าใจผู้บริโภค 7. สร้างจุดขายเฉพาะที่มีเอกลักษณ์

นอกจากนี้ การหาพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญในสิ่งที่ตัวเองไม่ถนัด  ก็ถือว่ามีความสำคัญต่อการทำธุรกิจ เพราะถือเป็นการเข้ามาเติมเต็มให้ธุรกิจมีความแข็งแกร่งมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องมีการวางกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน และมีทำเลที่ตั้งที่ดี ส่วนเรื่องขนาดของร้านนั้น ไม่ว่าจะเป็นร้านขนาดเล็กหรือร้านขนาดใหญ่ก็สามารถประสบความสำเร็จได้เหมือนกัน หากมีการวางจุดขายของร้านได้ตรงกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย

อย่างไรก็ดี  แม้ว่าธุรกิจร้านอาหารจะมีครึ่งหนึ่งที่ก้าวเข้าสู่ธุรกิจแล้วไม่ประสบความสำเร็จ แต่ปัจจุบันธุรกิจร้านอาหารก็มีมูลค่าการตลาดสูงถึง  375,000-385,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ได้แก่ กลุ่มร้านอาหารที่มีสาขา มูลค่าตลาดประมาณ 108,000-110,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 28.5% โดยมีสาขาอยู่ประมาณ 2,663 สาขา และร้านอาหารทั่วไป มูลค่าตลาดประมาณ 267,000-275,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 71.5% โดยทั้งสองกลุ่มนี้ มีอัตราเติบโตที่แตกต่างกัน กลุ่มร้านอาหารที่มีสาขา จะมีแนวโน้มเติบโตสูงกว่าอยู่ที่ 6.9-8.9% ในขณะที่ร้านอาหารทั่วไป จะมีแนวโน้มที่ต่ำกว่าอยู่ประมาณ 2.9-5.9% อันเนื่องมาจากการพร้อมในการแข่งขันและเติบโต อย่างไรก็ตาม ทั้งสองกลุ่มมีอัตราเติบโตโดยรวมประมาณ 4-6.8% เมื่อเทียบจากปีก่อน

ขณะเดียวกัน ตลาดร้านกาแฟ ร้านเบเกอรี่  และไอศกรีม ปัจจุบันมีแบรนด์ชั้นนำอยู่ประมาณ 3,710 สาขา มีมูลค่าตลาดรวมกันอยู่ที่ประมาณ  62,000 ล้านบาท โดยในกลุ่มกาแฟมีมูลค่ามากที่สุดที่ 30,000 ล้านบาท รองลงมา เบเกอรี่ 17,000 ล้านบาท และไอศกรีม 15,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ส่วนแบ่งตลาดสำหรับกาแฟระดับกลางมีมูลค่ามากที่สุด เป็นจำนวน 40% ของตลาดทั้งหมด โดยกลุ่มนี้มีอัตราเติบโตต่อเนื่อง เพราะการบริโภคกาแฟของคนไทย เฉลี่ยอยู่ที่ 200 แก้วต่อคนต่อปี  จึงทำให้ยังมีช่องว่างทางการตลาดอีกมาก โดยเฉพาะร้านกาแฟตามปั๊มน้ำมัน หรือในต่างจังหวัด ซึ่งหลายแห่งมีลูกค้าทั้งประจำและขาจร มาอุดหนุนอย่างต่อเนื่อง แต่ถึงแม้ว่าแต่ละธุรกิจจะมีโอกาสและมีช่องว่างให้เข้าไปทำ แต่เนื่องจากครึ่งหนึ่งของหน้าใหม่ที่เข้าไปแล้วไม่ประสบความสำเร็จ จึงถือเป็นโจทย์สำคัญและเป็นความท้าทายว่า  ทำอย่างไรให้ธุรกิจอยู่รอด

 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 17 พ.ย. 2559 เวลา : 20:12:27
26-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 26, 2024, 6:30 am