ธพว.ประกาศผลงาน 10 เดือน ณ ต.ค.2559 กำไรสุทธิ 1,560 ล้านบาท NPLs คงเหลือ 19,035 ล้านบาท ทำได้ดีกว่าเป้าหมาย เดินเครื่องเร่งช่วยเพิ่มช่องทางจำหน่ายสินค้าให้ผู้ประกอบการ SMEs ทั้งเจาะตลาดต่างประเทศและตลาดออนไลน์ผ่าน Alibaba.com สนับสนุนกลุ่ม Startup ในโครงการ The Angel Biz Challenge ก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 ตามนโยบายรัฐบาล
นายสมชาย หาญหิรัญ ประธานกรรมการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว. หรือ SME Development Bank) แถลงผลการดำเนินงานของ ธพว. 10 เดือน (มกราคม – ตุลาคม) ปี 2559 ดีกว่าเป้าหมายตามแผนฟื้นฟูทั้งด้านกำไรสุทธิ และการแก้ไขปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ NPLs ช่วยผู้ประกอบการรายย่อยกู้เงินมากถึงจำนวน 9,204 ราย
ผลการดำเนินงานสิ้นสุดเดือนตุลาคม 2559 ธพว.มีกำไรสุทธิ 1,560 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายตามแผนฟื้นฟูที่ 1,280 ล้านบาท สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) 19,035 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 19,209 ล้านบาท เงินให้สินเชื่อใหม่เข้าระบบเศรษฐกิจช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยจำนวน 27,824 ล้านบาท น่าจะเป็นไปตามเป้าสินเชื่อรวมทั้งปีที่ 35,000 ล้านบาท เนื่องจากมีลูกค้าอยู่ระหว่างการรอเบิกจ่ายอีกประมาณ 2,000 ล้านบาท และยังมีงานระหว่างพิจารณาสินเชื่ออีกกว่า 6,000 ล้านบาท โดยโครงการค้ำประกัน PGS 5 ของ บสย. วงเงินหมด ขณะนี้ลูกค้ารอการค้ำประกันตามโครงการ PGS6 ที่คาดว่าจะเข้าคณะรัฐมนตรี ต้นเดือน ธ.ค. นี้ ทั้งนี้ ณ ตุลาคม 2559 ธพว. สินเชื่อคงค้างรวมเท่ากับ 91,576 ล้านบาท
ประธานกรรมการ ธพว. กล่าวอีกว่า ด้านการพัฒนาผู้ประกอบการยังคงเดินหน้ามุ่งเน้นสนับสนุนกลุ่ม Startup อย่างต่อเนื่อง ผ่านโครงการ The Angel Biz Challenge โดยต้องการปั้นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์ มีไอเดียธุรกิจ มาบ่มเพาะ สร้างแคมป์การเรียนรู้ผ่านหลักสูตรระดับภูมิภาคของสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT Regional Acceleration Entrepreneurship Program: MIT REAP) ซึ่งขณะนี้ได้ทีมสุดยอดนวัตกรรมจำนวน 6 ทีม คัดจาก 164 ทีม ที่คิดค้นแอปพิเคชั่นใหม่ หรือการซื้อขายผ่านระบบออนไลน์ เพื่อตอบสนองกระแสสังคมธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน โดย ธพว.จะพิจารณาสนับสนุนการพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์ต่อไป ทั้งด้านสินเชื่อ ร่วมลงทุน สำหรับผู้เข้าแข่งขันที่ไม่ผ่านรอบคัดเลือก ธพว.จะส่งเสริมบ่มเพาะให้เป็นผู้ประกอบการใหม่ เพื่อสร้างสังคมกลุ่ม Start Up ที่เข้มแข็งเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 ต่อไป
ธพว. สนับสนุนลูกค้าและผู้ประกอบการพร้อมผลักดันเข้าสู่ตลาดค้าขาย E-Commerce สู่สากล ผ่าน Alibaba.com โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยจัดอบรมให้ความรู้ในการค้าขาย เทคนิคต่าง ๆ ซึ่งขณะนี้มีลูกค้าได้สมัครทำธุรกิจผ่าน Alibaba.com อย่างจริงจังแล้วจำนวน 5 ราย ประกอบด้วย ธุรกิจผลไม้แปรรูปอบกรอบ ธุรกิจลูกตาลเชื่อมบรรจุกระป๋อง กระเป๋าเครื่องหนัง แปรรูปเหล็ก และยางล้อรถยนต์ และส่วนที่เหลืออีกประมาณ 15 ราย ดำเนินการอบรมแล้วเสร็จอยู่ระหว่างขั้นตอนสมัครทำธุรกิจ
ประธานกรรมการ ธพว. กล่าวทิ้งท้ายอีกว่า การพัฒนาทั้ง 2 โครงการเป็นการดำเนินงานผ่านบทบาทภารกิจการเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนาผู้ประกอบการ SME Development Bank เพื่อช่วยเหลือให้เกิดสังคมผู้ประกอบการใหม่ และสนับสนุนให้เกิดการส่งออก พร้อมสร้างผู้ประกอบการที่แข็งแรงมีการต่อยอดเพิ่มช่องทางการตลาดสู่สากล สามารถทำรายได้กลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของประเทศต่อไป
นอกจากนี้ ธนาคารยังช่วยเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าให้กับผู้ประกอบการทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดเพื่อนบ้าน CLMV ร่วมกับ Exim Bank และสมาคมมิตรภาพไทย-กัมพูชา นำร่องพาคณะลูกค้า ธพว. ไปเปิดตลาดจำหน่ายสินค้าที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา และร่วมกับสมาคมการค้าส่งเสริมธุรกิจไทย-จีน และเอเชียอาคเนย์ พาผู้ประกอบการลูกค้าไปเจรจาธุรกิจการค้า พร้อมออกบูธจำหน่ายสินค้าที่นครเฉิงตู มณฑลเสฉวน สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อสร้างโอกาสและช่องทางการขยายธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ นอกจากตลาดต่างประเทศแล้ว ในเดือนธันวาคม ธพว. ร่วมกับกระทรวงการคลังเป็นเจ้าภาพงาน “คลังของขวัญปีใหม่” ช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน (17 – 23 ธ.ค. 2559) โดยนำผู้ประกอบการและลูกค้าร่วมจำหน่ายสินค้ากว่า 40 ราย ณ ตลาดคลองผดุงกรุงเกษม ข้างทำเนียบรัฐบาล
ข่าวเด่น