ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์ ออกบทวิเคราะห์ "Airbnb สะเทือนวงการโรงแรมจริงหรือ? "
การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของ Airbnb ทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อรายได้ของธุรกิจโรงแรม โดยเฉพาะโรงแรมระดับกลาง-ล่าง ถึงแม้ว่าจะมีการออกกฎหมายควบคุมห้องพักซึ่งทำให้การขยายตัวของห้องพัก Airbnb ชะลอตัวลง แต่ในขณะเดียวกันก็จะทำให้ธุรกิจเข้ามาแข่งขันในตลาดโรงแรมได้อย่างเต็มตัว ปัจจุบันกลุ่มลูกค้า Airbnb ยังเป็นคนละกลุ่มกับนักท่องเที่ยวหลักที่เข้าพักโรงแรมในไทย ดังนั้น ธุรกิจโรงแรมในไทยจึงอาจจะยังไม่ได้รับผลกระทบจากการเข้ามาแย่งตลาดมากนัก อีกทั้ง ด้วยราคาโรงแรมในไทยที่ใกล้เคียงกับ Airbnb ทำให้นักท่องเที่ยวมีแนวโน้มที่จะเลือกพักในโรงแรมมากกว่า
อย่างไรก็ตาม ยังมีโอกาสที่ Airbnb จะเข้ามาเป็นคู่แข่งหลักกับตลาดโรงแรมในไทยในอนาคต จากการที่นักท่องเที่ยวจีนเริ่มหันมาใช้ Airbnb มากขึ้นกว่า 1 ล้านคน และการขยายตัวของห้องพัก Airbnb ในกรุงเทพฯ กว่า 100% อีไอซีแนะผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมควรปรับกลยุทธ์เพื่อแข่งขันกับ Airbnb ในอนาคต ในส่วนของธุรกิจบริการอื่นๆ ก็สามารถใช้ Airbnb ในการต่อยอดธุรกิจปัจจุบันได้ นอกจากนี้ ภาครัฐควรมีมาตรฐานที่ชัดเจนในการควบคุมธุรกิจ Airbnb ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วเพื่อไม่ให้กระทบต่อการท่องเที่ยวโดยรวม
การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของ Airbnb ทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อรายได้ของธุรกิจโรงแรมโดยเฉพาะโรงแรมระดับกลาง-ล่าง การเติบโตของห้องพัก Airbnb กว่า 150% ต่อปี ตั้งแต่เปิดให้บริการในปี 2010 นั้นเป็นที่จับตามองของผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมจากทั่วโลก โดยปัจจุบัน Airbnb มีห้องพักในระบบที่เปิดให้บริการแล้วกว่า 2 ล้านห้องใน 190 ประเทศทั่วโลก ในขณะที่บริษัทที่มีโรงแรมในเครือที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง แมริออท นั้นมีห้องพักเพียง 1.5 ล้านห้อง ทั้งนี้ ส่วนแบ่งตลาดของห้องพัก Airbnb ต่อห้องพักโรงแรมตามเมืองท่องเที่ยวหลักๆ เช่น ปารีส ซานฟรานซิสโก และลอนดอน นับว่ายังมีไม่มากนัก โดยอยู่ที่ราว 10% จะมีแค่นิวยอร์กที่มีส่วนแบ่งตลาดมากถึง 17% แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการขยายตลาดของ Airbnb ยังมีอีกมาก
อย่างไรก็ดี จากราคาห้องพักเฉลี่ยที่ต่ำ และราว 50% ของห้องพักซึ่งเป็นประเภท 1 ห้องนอน ทำให้ Airbnb นับเป็นกลุ่มที่เข้ามาแข่งขันกับโรงแรมระดับกลาง-ล่างโดยตรง ยกตัวอย่าง ราคาของห้องพัก Airbnb ในลอนดอนเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 50-100 ปอนด์สเตอร์ลิงต่อคืน ในขณะที่ราคาของห้องพักในโรงแรมอยู่ที่ราว 145 ปอนด์สเตอร์ลิงต่อคืน หรือ ราคาของห้องพัก Airbnb ในนิวยอร์กเฉลี่ยอยู่ที่ราว 173 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อคืน ซึ่งน้อยกว่าราคาห้องพักเฉลี่ยของโรงแรมในละแวกเดียวกันถึง 37% ถึงแม้ว่า กฎหมายควบคุมห้องพักจะทำให้การขยายตัวของ Airbnb ชะลอตัวลง แต่ในขณะเดียวกันก็จะทำให้ธุรกิจเข้ามาแข่งขันกับตลาดโรงแรมได้อย่างเต็มตัว เหมือนกับ disruptive business อื่นๆ เช่น Uber หรือ Grab Taxi ที่รัฐบาลของแต่ละประเทศเริ่มเห็นถึงการเติบโตที่รวดเร็วและปัญหาที่เกิดขึ้นจากการขยายตัวของ Airbnb ที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก เช่น
1) อาจจะก่อให้เกิดการรบกวนในบริเวณที่พักอาศัยของประชาชน 2) ปัญหาความปลอดภัยของห้องพักที่ไม่ได้มาตรฐานเหมือนกับโรงแรม เช่น ขาดอุปกรณ์ดับเพลิง หรือ พนักงานรักษาความปลอดภัย ซึ่งหากเกิดอุบัติเหตุแก่นักท่องเที่ยวอาจจะสร้างความเสียหายให้กับชื่อเสียงของประเทศได้ และ 3) กฎเกณฑ์ทางภาษีที่รัฐบาลไม่สามารถเก็บได้จากการปล่อยเช่าห้องพักของ Airbnb เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลในหลายประเทศในเมืองท่องเที่ยวสำคัญๆ เริ่มมีการกำหนดกฎเกณฑ์เพื่อที่จะควบคุมห้องพักประเภทนี้มากขึ้น ส่งผลให้ Airbnb เริ่มมีการปรับตัว โดยการออกกฎและมาตรฐานในการลงทะเบียนห้องพักในระบบที่เข้มงวดมากขึ้น เช่น ในญี่ปุ่นที่มีการกำหนดระยะเวลาในการเข้าพัก Airbnb ต้องมากกว่า 7 คืน ในขณะที่ในนิวยอร์กและซานฟรานซิสโกก็มีการกำหนดให้เจ้าของห้องพัก Airbnb สามารถลงทะเบียนปล่อยเช่าห้องพักได้เพียงคนละ 1 ห้อง
แต่ในขณะเดียวกันก็เท่ากับว่า Airbnb สามารถเข้ามาแข่งขันกับธุรกิจโรงแรมได้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น จนถึงขั้นขยายตลาดไปยังกลุ่มท่องเที่ยวเชิงธุรกิจได้ ซึ่งปัจจุบัน Airbnb ได้มีการร่วมมือทางธุรกิจกับบริษัทบริหารจัดการในการเดินทางอย่าง American Express Global Business travel, BCD Travel, และ Carlson Wagonlit Travel เพื่อบุกตลาดการท่องเที่ยวเชิงธุรกิจแล้ว ปัจจุบันกลุ่มลูกค้า Airbnb นั้นยังเป็นคนละกลุ่มกับนักท่องเที่ยวหลักที่เข้าพักโรงแรมในไทย ธุรกิจโรงแรมในไทยจึงอาจจะยังไม่ได้รับผลกระทบจากการเข้ามาแย่งตลาดมากนัก โดยส่วนใหญ่แล้ว นักท่องเที่ยวที่ใช้บริการ Airbnb ทั่วโลกจะเป็นนักท่องเที่ยวชาวตะวันตกมีอายุประมาณ 35 ปี โดยเฉพาะกลุ่มของนักท่องเที่ยวสหรัฐฯ ซึ่ง Airbnb ได้รับรายได้จากนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มากถึง 30%
ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้นิยมเข้าพักใน Airbnb เพราะมักเดินทางด้วยตนเอง ต้องการใช้ชีวิตในการท่องเที่ยวแบบชาวท้องถิ่น รวมถึงต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายในเรื่องของที่พักจากการเข้าพักเป็นระยะเวลานาน สังเกตได้จากนักท่องเที่ยวชาวตะวันตกที่มาไทยนั้นมีระยะในการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ 14-16 คืน ซึ่งต่างจากนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาไทย โดยส่วนใหญ่กว่า 71% เป็นชาวเอเชีย มีระยะเวลาพักเฉลี่ยราว 7 คืน ต้องการความปลอดภัยในการเดินทางมากกว่า จึงทำให้นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้นิยมเข้าพักในโรงแรม
แสดงให้เห็นว่าโรงแรมในไทยจึงมีแนวโน้มที่จะยังไม่ได้รับผลกระทบจาก Airbnb มากนัก นอกจากนี้โรงแรมในไทยยังมีราคาห้องพักที่ใกล้เคียงกับ Airbnb ทำให้นักท่องเที่ยวมีแนวโน้มที่จะเลือกพักในโรงแรมมากกว่า ราคาห้องพักในไทยโดยส่วนใหญ่อยู่ในระดับที่ไม่สูงนักเมื่อเทียบกับราคาห้องพักของโรงแรมระดับเดียวกันในต่างประเทศ ทำให้ส่วนต่างของราคาห้องพักในโรงแรมและห้องพักของ Airbnb ไม่ต่างกันมาก โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ที่เป็นตลาดท่องเที่ยวหลักของไทย
ตัวอย่าง ราคาห้องพักเฉลี่ยของโรงแรม 3 ดาวใกล้กับสถานีสนามกีฬาแห่งชาตินั้นจะอยู่ที่ราว 2,500 บาทต่อคืน ในขณะที่ราคาห้องพักของ Airbnb ในระดับเดียวกันอยู่ที่ราว 2,000 บาทต่อคืน หรือในเชียงใหม่ ราคาของห้องพักทั้งสองประเภทดังกล่าวที่ใกล้เคียงกันอยู่ที่ราว1,500-2,000 บาทต่อคืน จึงทำให้นักท่องเที่ยวมีแนวโน้มที่จะเข้าพักในโรงแรมมากกว่า เนื่องจากมีสิ่งอำนวยความสะดวก การมีระบบรักษาความปลอดภัยที่ได้มาตรฐานและมีแผนกต้อนรับคอยดูแล อย่างไรก็ตาม Airbnb มีโอกาสเข้ามาเป็นคู่แข่งหลักกับตลาดโรงแรมในไทยในอนาคต จากการที่นักท่องเที่ยวจีนเริ่มหันมาใช้ Airbnb มากขึ้นกว่า 1 ล้านคน และการขยายตัวของห้องพัก Airbnb ในกรุงเทพฯ กว่า 100% โดยชาวจีนมีการเปิดรับนวัตกรรมใหม่ๆ และแนวคิดของธุรกิจแบ่งปัน (sharing economy) มากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของศูนย์ข่าวสารประเทศจีนที่ระบุว่าชาวจีนกว่า 500 ล้านคนได้เคยใช้นวัตกรรมของธุรกิจแบ่งปันนี้แล้ว ซึ่งทำให้ในปี 2015 Airbnb ได้เข้าไปทำตลาดในจีน โดยร่วมมือกับ Union Pay และ Alipay ทำให้นักท่องเที่ยวจีนหันมาใช้ Airbnb มากขึ้นและขยายตัวกว่า 500% ทั้งนี้ การที่ส่วนแบ่งตลาดท่องเที่ยวไทยมีสัดส่วนของนักท่องเที่ยวจีนถึง 27% ทำให้ Airbnb มีโอกาสที่จะเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดได้ไม่ยาก นอกจากนี้ Airbnb ยังมีการขยายตัวในไทยอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีจำนวนห้องพักในกรุงเทพฯ กว่า 9 พันห้อง ในขณะที่ปีก่อนหน้ามีเพียง 4 พันกว่าห้อง อีกทั้ง Airbnb นั้นยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ที่ห้องพักในโรงแรมที่มีราคาใกล้เคียงกันไม่สามารถให้ได้ เช่น ขนาดห้องพักที่ใหญ่กว่าในราคาที่ใกล้เคียงกัน และห้องครัวไว้สำหรับการทำอาหาร
Implication
ภาครัฐควรมีมาตรฐานที่ชัดเจนในการควบคุมธุรกิจ Airbnb ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วเพื่อไม่ให้กระทบต่อการท่องเที่ยวโดยรวม โดยควรมีการกำหนดกฎเกณฑ์ที่เหมาะสมสำหรับอุตสาหกรรมการโรงแรมที่กำลังจะเปลี่ยนไป และต้องครอบคลุมทั้งห้องพักแบบเดิมและห้องพักแบบใหม่ ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานการเก็บภาษี หรือการกำหนดระยะเวลาขั้นต่ำในการปล่อยเช่าห้องพักเช่นเดียวกับที่ญี่ปุ่น ทั้งนี้ การที่มีห้องพักนอกระบบที่ไม่ได้มาตรฐานมากเกินไปอาจจะกระทบต่อภาพลักษณ์ของการท่องเที่ยวไทยโดยรวมได้ นอกจากนี้ ภาครัฐควรจะคำนึงถึงการออกกฎหมายให้การแข่งขันของ Airbnb มีความเป็นธรรม เพราะจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการโปรโมทการท่องเที่ยวไทย และเป็นการกระจายรายได้สู่ประชากรโดยตรง
อีไอซี แนะผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมควรปรับกลยุทธ์เพื่อแข่งขันกับ Airbnb ในอนาคต ในขณะที่ธุรกิจบริการอื่นๆ ก็สามารถใช้ Airbnb ในการต่อยอดธุรกิจปัจจุบันได้ อีไอซีมองว่าผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมไม่ควรที่จะลงไปแข่งขันด้านราคาห้องพัก แต่ต้องยกระดับการให้บริการและต้องทำให้ลูกค้าตระหนักถึงความสะดวกสบายจากการให้บริการของโรงแรมที่มากกว่าการเข้าพักใน Airbnb และควรคำนึงว่ากลุ่มลูกค้าของ Airbnb มักต้องการประสบการณ์ใหม่ๆ จากการเข้าพักระหว่างการท่องเที่ยวมากกว่าการเป็นเพียงที่พักค้างคืน ในส่วนของผู้ประกอบการในธุรกิจบริการอื่นๆ ยังสามารถต่อยอดธุรกิจของตัวเองโดยการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่แล้ว ในการให้บริการแก่เจ้าของห้องพัก Airbnb เช่น การรับเข้าไปทำความสะอาด หรือ การรับเป็นจุดฝากกุญแจและการรับเป็น reception ของร้านกาแฟ ซึ่งบริการเหล่านี้เป็นบริการที่ห้องพัก Airbnb ต้องการ
ข่าวเด่น