เมื่อวันพุธที่ 23 พฤศจิกายน 2559 ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) นำโดยนายชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ ประธานกรรมการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย พร้อมด้วย นางสาววีณา เตชาชัยนิรันดร์ กรรมการและรักษาการผู้จัดการ จัดแถลงข่าว 'ความคืบหน้าการดำเนินงานตามแผนฟื้นฟูกิจการของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย' ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 23 ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย โดยมีสื่อมวลชนให้ความสนใจร่วมรับฟังอย่างคับคั่ง
นายชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ ประธานกรรมการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การแถลงความคืบหน้าการฟื้นฟูกิจการ หลังจากที่ธนาคารได้รายงานความคืบหน้าการหาพันธมิตรต่อ Super Board เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งผู้สนใจเข้าร่วมเป็นพันธมิตรได้กำหนดเงื่อนไขก่อนการเข้าร่วมทุนให้มีการแก้ไขปัญหาฐานะการเงิน ให้มีส่วนของผู้ถือหุ้นไม่ติดลบ จึงจะเพิ่มทุนใหม่เพื่อใช้ในการเสริมสร้างการเติบโตของธุรกิจในอนาคต
เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2559 ครม. ได้มีมติอนุมัติให้กระทรวงการคลังจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (Islamic Bank Asset Management Co. Ltd. : IAM) เพื่อรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่ไม่ใช่ลูกค้ามุสลิมของธนาคาร ตามที่ธนาคารได้ขออนุมัติหลักการจากที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2559 โดยปัจจุบันกระทรวงการคลังได้มีการจดทะเบียนจัดตั้ง IAM เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2559
การประชุม Super Board ในวันที่ 26 ตุลาคม 2559 ได้มีมติรับทราบแผนการดำเนินงานในอนาคตที่ธนาคารนำเสนอ และเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการหาพันธมิตรใหม่ จึงมีมติให้ปรับโครงสร้างทางการเงินของธนาคารด้วยการลดทุน เพิ่มทุน และการชำระค่าหุ้นเพิ่มทุน เพื่อให้เงินกองทุนเป็นบวก รวมถึงแนวทางการถือหุ้นของกระทรวงการคลังใน ธนาคารมากกว่าร้อยละ 49 เป็นการชั่วคราว และให้เร่งดำเนินการหาพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญเข้าร่วมลงทุนเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งในการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาของธนาคาร
ที่ผ่านมาในการฟื้นฟูกิจการ ธนาคารได้มุ่งเน้นดำเนินการตามพันธกิจ เพื่อให้บริการทางการเงินกับพี่น้องมุสลิม อาทิ โครงการสินเชื่ออพาร์ทเมนท์มุสลิมและห้องพัก โดยจัดอบรมให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ พี่น้องมุสลิมในเขตพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล ให้มีการบริหารจัดการ และทำตลาดอย่างมืออาชีพ ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี มีผู้สนใจเข้าร่วมกว่าร้อยราย โครงการตะกาฟุลร่วมใจเพื่อไอแบงค์ เพื่อเสริมสร้างให้พนักงานทุกคนมีส่วนร่วมและยังเป็นการสร้างรายได้ค่าธรรมเนียมให้แก่ธนาคาร ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด นอกจากนั้นยังมี โครงการบริหารผลตอบแทนเงินฝากที่กำหนดการบริหารผลตอบแทนและสภาพคล่องตามความจำเป็น ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายทางการเงินของธนาคารลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ผลประกอบการของธนาคารดีขึ้นเป็นลำดับจากปี 2557 ที่มีขาดทุนสุทธิ 9,545 ล้านบาท ลดลงเหลือ 4,595 ล้านบาทในปี 2558 สำหรับ 9 เดือนแรกของปี 2559 มีขาดทุนสุทธิ 2,186 ล้านบาท ซึ่งทั้งหมดเป็นผลขาดทุนจากการกันสำรองสินเชื่อด้อยคุณภาพ นายชัยวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย
ข่าวเด่น