สุขภาพ
กรม สบส. เตือนอย่าหลงเชื่อคำวิจารณ์ หรือยอดไลค์โฆษณาคลินิกเสริมความงาม อาจได้แผลแทนได้สวย


กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ แนะประชาชนพิจารณาอย่างถี่ถ้วนทุกครั้งก่อนรับบริการเสริมความงาม อย่าด่วนตัดสินใจด้วยคำวิจารณ์เพียงไม่กี่บรรทัด หรือยอดไลค์ทางสื่อโซเชียลมีเดีย อาจได้แผลแทนได้สวย

จากกรณี นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรมนำผู้เสียหาย 9 รายเข้าพบเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจบางยี่เรือ กทม. เพื่อยื่นเรื่องดำเนินคดีอาญากับคลินิกเถื่อนที่ให้บริการเสริมความงามแห่งหนึ่ง ย่านบางยี่เรือ ที่ให้บริการดูดไขมันจนลูกค้าช็อกหมดสติ รวมทั้งมีการหลอกเก็บค่ามัดจำนับแสนบาทก่อนปิดคลินิกหนี โดยผู้เสียหายต่างระบุเป็นเสียงเดียวกันว่ารู้จักคลินิกเถื่อนแห่งนี้ผ่านโฆษณาทางสื่อโซเชียลมีเดียนั้น

 

นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า กรม สบส.ได้ร่วมกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ดำเนินการจับกุม และปิดคลินิกเถื่อนดังกล่าวไปแล้ว เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2559  ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่ามีการปลอมแปลงเอกสารหลักฐานในการเปิดสถานพยาบาล และนำภาพบุคคลอื่นที่ไม่ใช่แพทย์ไปติดทับใบประกอบโรคศิลปะของแพทย์ตัวจริง จึงได้แจ้งข้อหาเจ้าของคลินิกแห่งนี้ 5 กระทง ได้แก่

1.เปิดคลินิกโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541

2.ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ขึ้นทะเบียนและรับอนุญาต ตามพระราชบัญญัติประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525

3.จำหน่ายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510

4.จำหน่ายยาโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา ตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510

5.ปลอมแปลงเอกสารราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา

โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการตามกฎหมาย จึงขอให้ประชาชนคลายกังวลได้ ซึ่งกรม สบส. ที่มีบทบาท ภารกิจในการคุ้มครองพิทักษ์สิทธิประชาชนให้ได้รับบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ มาตรฐาน ขอยืนยันว่า หาก กรม สบส. พบหรือได้รับเบาะแสของคลินิกเถื่อน หมอเถื่อน ไม่ว่าจะอยู่ที่ใด ก็จะดำเนินการตามกฎหมาย กวาดล้างให้หมดโดยไม่มีการละเว้นแต่อย่างใด

“จากการดำเนินคดีกับคลินิกเถื่อน หมอเถื่อนที่ผ่านมา พบว่าผู้เสียหายส่วนใหญ่จะหลงเชื่อข้อมูลโฆษณาผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย อ่านเพียงคำวิจารณ์หรือโพสต์จากลูกค้าคนอื่นเพียงไม่กี่บรรทัดว่าคลินิกดังกล่าวมีการบริการที่ดี ปลอดภัย ราคาถูก หรือดูแค่ว่าไม่มีคำวิจารณ์ด้านลบก็ด่วนตัดสินใจเข้ารับบริการ โดยไม่ได้ศึกษาข้อมูลของคลินิก และแพทย์ว่าได้ขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ซึ่งต้องขอเตือนว่าข้อมูลที่ผ่านสื่อโซเชียลมีเดียเพียงอย่างเดียวไม่สามารถเชื่อถือได้ เพราะบางครั้งคำวิจารณ์ที่ดูน่าเชื่อถือเหล่านี้มาจากบุคคลที่ถูกจ้างวานให้มาโพสต์ หรือกดไลค์ และการที่คลินิกไม่มีคำวิจารณ์ด้านลบเลยนั้น เนื่องมาจากคลินิกได้ลบคำวิจารณ์ที่ไม่ดีออกไปจากสื่อโซเชียลมีเดีย จึงขอให้ประชาชนอย่าด่วนตัดสินใจ ศึกษาข้อมูลให้ถี่ถ้วน ตรวจสอบทั้งคลินิก และแพทย์ว่าเป็นของจริงมีการขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อให้มั่นใจว่าจะได้รับบริการที่มีคุณภาพ มาตรฐาน และปลอดภัย มิฉะนั้นอาจได้แผลมาแทน” นายแพทย์ธงชัย กล่าว

 

ด้าน ทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กล่าวว่า ปัจจุบันมีคลินิกที่ให้บริการเสริมความงามเกิดขึ้นใหม่เป็นจำนวนมาก ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย ก่อนรับบริการจึงขอให้ประชาชนตรวจสอบหลักฐานที่คลินิกจะต้องแสดง ดังนี้

1) ติดใบอนุญาตให้ประกอบกิจการ และอนุญาตดำเนินการสถานพยาบาลไว้ในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่าย

2) ติดป้ายชื่อ ประเภทและลักษณะการให้บริการ รวมทั้งเลขที่ใบอนุญาตให้ประกอบกิจการจำนวน 11 หลัก ที่ด้านหน้าสถานพยาบาล

3) ติดป้ายชื่อพร้อมรูปถ่าย เลขที่ใบอนุญาตของแพทย์ที่ทำการรักษา ที่หน้าห้องตรวจ-รักษา

โดยประชาชนสามารถตรวจสอบคลินิก และแพทย์ที่ทำการรักษาว่าถูกต้องหรือไม่ ที่เว็บไซต์กรม สบส. (www.hss.moph.go.th) และเว็บไซต์ของแพทยสภา (www.tmc.or.th)  และหากมีข้อสงสัยหรือพบคลินิกเถื่อน หมอเถื่อนสามารถแจ้งเบาะแสได้ที่เฟซบุ๊คมือปราบสถานพยาบาลเถื่อน, เฟซบุ๊คสารวัตรสถานพยาบาลออนไลน์ และสายด่วน สบส.02-193-7999 ตลอด 24 ชั่วโมง


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 03 ธ.ค. 2559 เวลา : 12:56:15
26-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 26, 2024, 4:16 pm