การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยจากปัจจัยภายในประเทศ ยังเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อทำให้เศรษฐกิจไทยในอนาคตเติบโตได้อย่างยั่งยืน ในขณะที่เศรษฐกิจโลกเริ่มมีความไม่แน่นอนและปัจจัยเสี่ยงมากขึ้น ทั้งจากการเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกา การฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่น และปัญหาการเมืองในยุโรป
โดย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้ภาครัฐอยู่ระหว่างการจัดทำงบประมาณบูรณาการเพื่อขับเคลื่อน 18 กลุ่มจังหวัด วงเงิน 1 แสนล้านบาท เพื่อให้กลุ่มจังหวัดไปทำโครงการที่ผ่านการพิจารณาลักษณะประชารัฐ คือ ภาครัฐ เอกชน และประชาชน ว่า ต้องการโครงการแบบไหน ต้องสอดคล้องกับแผนบูรณาการของจังหวัดที่เคยจัดทำไว้ โดยงบไม่จำกัดว่าจะทำกี่โครงการและไม่จำกัดวงเงิน
โดยสำนักงบประมาณจะเสนอกรอบงบบูรณาการกลุ่มจังหวัดเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ในวันที่ 7 ธันวาคมนี้ พร้อมเสนอให้จัดตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการ มีตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ เช่น ตัวแทนจากสำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กระทรวงการคลัง ภาคเอกชน และตัวแทนภาคประชาสังคม ดังนั้นการดำเนินการครั้งนี้จะเป็นจุดตั้งต้นของการทำงบประมาณในปีต่อๆ ไป เน้นการพัฒนากลุ่มจังหวัดด้วย เพราะที่ผ่านมาการจัดทำงบประมาณเน้นในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค คือ ระดับตำบล แต่ยังขาดระดับกลุ่มจังหวัด
ขณะที่ นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า เบื้องต้นรัฐบาลกำหนดงบให้กลุ่มจังหวัดละ 5,000 ล้านบาท เพื่อทำให้ท้องถิ่นช่วยเหลือตัวเองได้ ซึ่งเมื่อวันที่ 3 ธันวาคมที่ผ่านมา ปลัดกระทรวงมหาดไทยได้ประชุมทางไกลไปยังทุกจังหวัด ที่มีภาคเอกชนทั้งหอการค้าจังหวัด และสภาอุตสาหกรรมจังหวัด ร่วมฟังด้วยว่าโครงการแต่ละท้องถิ่นควรจะมีอะไรบ้าง ตอนนี้เป็นช่วงเริ่มต้นที่จะรวบรวมโครงการและทำความเข้าใจ ถือว่าเป็นสิ่งดีที่จะนำเงินลงทุนมาพัฒนาท้องถิ่นและสังคมให้ดีขึ้น
โดยหอการค้าไทยได้ส่งหลักการในเบื้องต้น 6 ข้อให้สมาชิกแต่ละจังหวัด เพื่อเป็นแนวทางจัดทำโครงการ ประกอบด้วย 1.ต้องอิงกับวิสัยทัศน์ ประเทศ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน 2.อิงยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีใน 6 ด้าน และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และ 3.ตอบโจทย์ประเทศไทย 4.0 และ 4. ประชารัฐ 5.นโยบายรัฐในการกระจายงบไปในชุมชน และ 6.อัตลักษณ์ของพื้นที่
ข่าวเด่น