Event
ธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank: ECB) ประกาศมาตรการผ่อนคลายนโยบายการเงิน(Quantitative Easing: QE) ตามที่ตลาดคาดในการประชุมวันที่ 8 ธันวาคม 2016 เพื่อสนับสนุนให้ระบบการเงินมีสภาพคล่องต่อเนื่องและผลักดันอัตราเงินเฟ้อให้เข้าสู่เป้าหมายที่ 2% ซึ่งมาตรการที่ประกาศ มีรายละเอียดสำคัญประกอบด้วย
1. ขยายระยะเวลาการดำเนินมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติม 9 เดือน โดยจากเดิมที่มาตรการจะสิ้นสุดในเดือนมีนาคม 2017 เป็นสิ้นสุดในเดือนธันวาคม 2017 ทั้งนี้ อาจมีการขยายระยะเวลาเพิ่มเติมได้หากอัตราเงินเฟ้อและการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจไม่เป็นไปตามที่ ECB คาด
2. ลดขนาดวงเงินที่จะเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลและปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์บางส่วน โดยจะยังคงวงเงินปริมาณการอัดฉีดต่อเดือนที่ 8 หมื่นล้านยูโร จนถึงเดือนมีนาคม 2017 และลดการอัดฉีดปริมาณเงินต่อเดือนลงเหลือ 6 หมื่นล้านยูโร ซึ่งจะเริ่มต้นในเดือนเมษายน 2017 จนถึงเดือนธันวาคม 2017 ทั้งนี้ เพื่อให้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินดำเนินไปอย่างราบรื่น ECB ได้มีการปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์ในมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2017 ดังนี้
2.1) ขยายอายุเฉลี่ยของตราสารหนี้ (bond duration) ที่จะเข้าซื้อจากที่กำหนดอายุของตราสารหนี้ขั้นต่ำไว้ที่ 2 ปี เปลี่ยนเป็น 1 ปี เพื่อขยายขอบข่ายของตราสารที่ ECB จะเข้าซื้อได้
2.2) อนุญาตให้เข้าซื้อตราสารหนี้ที่มีผลตอบแทน (yield) ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากส่วนเกินที่ธนาคารพาณิชย์มาฝากไว้กับ ECB (deposit facility rate) ที่ –0.4% ได้หากมีความจำเป็น
Analysis
อัตราเงินเฟ้อที่ยังต่ำกว่าเป้าหมายอยู่มาก ทำให้ ECB ขยายระยะเวลาการดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงิน ในช่วงที่ผ่านมา การปรับเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อไม่ได้มาจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ โดยอัตราเงินเฟ้อที่ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 0.6% ในเดือนพฤศจิกายน จากเดือนตุลาคมที่ 0.5% เป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น ซึ่งยังไม่ใช่การปรับขึ้นของอัตราเงินเฟ้ออย่างมีเสถียรภาพ เห็นได้จากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ยังคงที่ที่ 0.8% เป็นเวลา 5 เดือนติดต่อกัน
การลดขนาดวงเงินสำหรับการอัดฉีดสภาพคล่องพร้อมการขยายระยะเวลาการดำเนินมาตรการ QE นั้นยังไม่แสดงถึงมาตรการการลดการผ่อนคลายทางการเงิน เห็นได้จากเมื่อนาย มาริโอ ดรากี ประธาน ECB ประกาศดำเนินมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติม อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว 10 ปี ในหลายประเทศในเขตยูโรโซน เช่น เยอรมนี และ อิตาลี ปรับเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยราว 10 basis point ขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 0.44% และ 2.04% ตามลำดับ ซึ่งอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว 10 ปี ดังกล่าวมีความผันผวนน้อยกว่า ช่วงการประกาศผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้น 15 basis point และ 32 basis point ในเยอรมนี และอิตาลี ตามลำดับ อีกทั้ง การลดขนาดวงเงินอัดฉีดต่อเดือน แต่ขยายระยะเวลาการดำเนินมาตรการ QE ออกไปอีก 9 เดือนนั้น ผิดจากที่ตลาดคาดการณ์ไว้ว่าจะคงวงเงินอัดฉีดไว้เท่าเดิม แต่ขยายมาตรการ QE ออกไปเพียง 6 เดือนนั้นส่งผลให้ปริมาณเงินที่จะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจยูโรโซนมีมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ความผันผวนดังกล่าวเป็นความผันผวนระยะสั้น เนื่องจากการออกมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติมนั้นเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจยูโรโซนในการรับมือกับความเสี่ยงของระบบเศรษฐกิจที่ต้องเผชิญในปีหน้า
Implication
ค่าเงินยูโรมีแนวโน้มอ่อนค่าลงต่อเนื่อง โดยการขยายระยะเวลาการดำเนินนโยบาย ส่งผลให้ค่าเงินยูโรมีแนวโน้มอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่น อีกทั้ง การประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่น และธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่จะเกิดขึ้นในเดือนนี้ ก็จะยิ่งส่งผลให้ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงได้อีก เนื่องจาก คาดว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นจะยังไม่มีการปรับเปลี่ยนนโยบายทางการเงินใดๆ ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ น่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมวันที่ 13-14 ธันวาคมนี้
ค่าเงินบาทแข็งค่าเมื่อเทียบกับยูโรในช่วงปี 2017 อีไอซีมองว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะยังคงไม่มีการปรับเปลี่ยนทิศทางของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5% ตลอดปี 2017 ขณะที่การดำเนินมาตรการผ่อนคลายทางการเงินของ ECB จะมีต่อเนื่องตลอดทั้งปี 2017 และอาจขยายระยะเวลาหากอัตราเงินเฟ้อยังไม่เข้าสู่อัตราเงินเฟ้อเป้าหมายที่ 2% ซึ่งจะมีผลทำให้ค่าเงินยูโรอ่อนค่าเมื่อเทียบกับค่าเงินบาท
ข่าวเด่น