เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
คืบหน้าตั้ง "ไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์"


ใกล้ได้เห็นเป็นรูปธรรมแล้ว  สำหรับโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย หรือไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ ที่จะมีการระดมทุนให้ได้ 1 แสนล้านบาท 

 

 

ล่าสุด นายเอกนิติ  นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจหรือ สคร.  กล่าวว่า   สคร.เตรียมเสนอตั้งกองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์กองแรก  วงเงิน 4 หมื่นล้านบาท ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติภายในเดือนธันวาคมนี้ และจะเสนอขายนักลงทุนทั่วไปได้ภายในต้นปี 2561

ซึ่งขณะนี้ ขั้นตอนการจัดตั้งกองทุนได้ดำเนินการเสร็จแล้วในเรื่องของโครงสร้างทางการเงิน จากนี้จะนำเข้าสู่การพิจารณาโดยคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)  

 

สำหรับโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่จะนำมาจัดสรรอยู่ในกองทุน โดยเบื้องต้นจะนำร่อง 3 โครงการของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ประกอบไปด้วย ทางด่วนฉลองรัช (รามอินทรา-อาจณรงค์) ทางด่วนบูรพาวิถี (บางนา-ชลบุรี) และทางด่วนกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) เนื่องจากเป็นโครงการที่มีการเปิดให้บริการอยู่แล้วในปัจจุบัน และสามารถสร้างผลตอบแทนได้ชัดเจน   

 

ส่วนแนวทางจัดสรรรายได้ของโครงการที่จะนำเข้ากองทุน เบื้องต้นอาจจะมีการโอนรายได้ส่วนหนึ่งราว 50% ของ ทั้ง 3 โครงการมาให้กองทุน และ กทพ.เองก็จะได้เงินก้อนไปลงทุนก่อสร้างในโครงการใหม่ เช่น ทางด่วนสาย พระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ด้านตะวันออก ที่ประเมิน มูลค่าลงทุนเบื้องต้น 3.1 หมื่นล้านบาท โดยหาก กทพ.ได้วงเงินจากกองทุนส่วนนี้ ก็ไม่จำเป็นต้องกู้เงิน และไม่เป็นภาระงบประมาณ

ทั้งนี้ หน่วยลงทุนของไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ จะแบ่งเป็นสองประเภท คือ ประเภท ก.จะเป็นหน่วยลงทุนที่คุ้มครองเงินต้น และกำหนดผลตอบแทนสูงสุด และ แบบ ข. คือ หน่วยลงทุนที่ให้ผลตอบแทนขึ้นอยู่กับรายได้ที่โครงการได้รับจริง ซึ่งหากในอนาคตโครงการมีรายได้จากค่าผ่านทางสูง  ผู้ถือหน่วยลงทุนแบบ ข. ก็จะได้รับผลตอบแทนสูง แต่หากรายได้จากค่าผ่านทางต่ำ ก็จะได้รับผลตอบแทนต่ำตามไปด้วย


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 16 ธ.ค. 2559 เวลา : 14:54:52
26-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 26, 2024, 3:37 pm