นายสมชาย หาญหิรัญ ประธานกรรมการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ เอสเอ็มอีแบงก์ กล่าวว่า ผลการดำเนินงานเดือนพฤศจิกายน 2559 มีกำไรสุทธิรวม 1,594 ล้านบาท เปรียบเทียบกับระยะเดียวกันกับปี 2558 มีกำไรสุทธิรวม 1,248 ล้านบาท กำไรเพิ่มขึ้น 346 ล้านบาท คิดเป็น 27.72% ทั้งนี้เป็นผลมาจากธนาคารสามารถขยายสินเชื่อคุณภาพเพิ่มขึ้น และบริหารจัดการหนี้ NPL ได้ตามเป้าหมาย โดยเดือนพ.ย. 2559 มียอด NPL ลดลงเหลือ 18,892 ล้านบาท เทียบกับระยะเดียวกันกับปีที่แล้ว มียอด NPL 26,154 ล้านบาท ลดลง 7,262 ล้านบาท ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อใหม่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศรวม 31,000 ล้านบาท แก่ลูกค้าจำนวน 10,000 ราย เฉลี่ยกู้ต่อราย 3.1 ล้านบาท
“ผลประกอบการดังกล่าว เกิดจากความร่วมมือของผู้บริหารและพนักงานที่ร่วมแรงร่วมใจให้บริการผู้ประกอบการในโค้งสุดท้ายก่อนสิ้นปี 59 ส่งผลให้สินเชื่อขยายตัวเพิ่มขึ้น และ NPL ลดลง คาดว่าในสิ้นปีนี้ผลการดำเนินงานจะสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน”
โครงการช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการ Turnaround โครงการเงินทุนพลิกฟื้นวิสาหกิจขนาดย่อม มีผู้ประกอบการได้รับการพลิกฟื้นธุรกิจ 75 ราย วงเงิน 65.58 ล้านบาท และได้รับการฟื้นฟูกิจการตามกฎหมาย 2 ราย บริการศูนย์ช่วยเหลือ SME (SME Rescue Center) ที่กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นเจ้าภาพ มอบหมายให้ ธพว. ร่วมเป็นศูนย์กลางในการรับเรื่องร้องเรียนด้านการเงิน เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ธุรกิจประสบปัญหาด้านการเงิน โดยได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาและส่งเรื่องต่อให้หน่วยร่วมต่างๆ แก้ไขแล้วเสร็จ 787 ราย
ด้านการส่งเสริมการตลาด ธพว. สานต่อดำริท่านนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พัฒนาผู้ประกอบการ SMEs และ OTOP กว่า 60 ราย โดยร่วมกับมหาวิทยาลัย ด้วยการออกแบบดีไซน์ผลิตภัณฑ์เล่าเรื่องราวภูมิปัญญาท้องถิ่นเพิ่มมูลค่าสินค้า ผ่านโครงการ Modern SMEs : Design & Story และยังช่วยเพิ่มช่องทางจำหน่ายสินค้าให้ลูกค้า นำลูกค้าออกร้านกว่า 310 ราย มียอดการจำหน่ายกว่า 35 ล้านบาท นอกจากนี้ ธพว. ส่งเสริมการตลาดยุคใหม่จัด Workshop “รวยด้วยการตลาดยุคใหม่” และ “รวยด้วยการตลาดออนไลน์” อย่างต่อเนื่องมีผู้ประกอบการสนใจเข้าร่วม 597 ราย ขณะเดียวกันยังช่วยผลักดันผู้ประกอบการให้ค้าขายผ่านตลาด E-Commerce ในเว็บไซต์ Alibaba.com มีลูกค้าเข้ารับการอบรม 20 ราย ค้าขายผ่านเว็บไซต์แล้ว 5 ราย อยู่ระหว่างทดลองค้าขายบนเว็บไซต์ 15 ราย
สำหรับการพัฒนา SMEs Startup เน้นผู้ประกอบการใหม่เชิงสร้างสรรค์ที่มีการใช้แนวคิดหรือใช้เทคโนโลยีต่างๆ มาเป็นแนวคิดพัฒนาธุรกิจจริง ผ่านโครงการ The Angel BIZ Challenge, The Global Cleantech Innovation Program for SMEs in Thailand และ Thailand ICT Awards (TICTA) โดยสนับสนุนเงินทุนและร่วมลงทุน ตลอดจนผลักดันทีมชนะเลิศเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันต่างประเทศ ส่วนที่สำนักงานใหญ่จัดสรรพื้นที่สำหรับทำงานฟรี Co-Working Space มีผู้มาใช้บริการกว่า 1,100 ราย และ Innovation Center มีสมาชิก 320 ราย นอกจากนี้ ธนาคารยังได้เข้าไปพัฒนาชุมชน Social Enterprise ที่เขื่อนเชี่ยวหลาน และเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์อย่างยั่งยืนอีกด้วย และสร้างรายได้ให้กับชุมชนเพิ่มขึ้น
ข่าวเด่น