กนง. ประชุมทิ้งท้ายปี มีมติเอกฉันท์ คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50% พร้อมมองเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ แต่ยอมรับมีความเสี่ยงมากขึ้น หลังเศรษฐกิจคู่ค้าชะลอตัว และเงินเฟ้อมีโอกาสขยายตัวต่อ คาดกลับเข้าสู่เป้าหมายใน Q1/60 เผยระบบการเงินไทยโดยรวมยังมีเสถียรภาพ รับมือกับความผันผวนในและนอกประเทศได้ดี
นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง.มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 1.5% ต่อปี โดยกนง.ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในภาพรวมยังขยายตัวได้ดีในอัตราใกล้เคียงกับประมาณการครั้งก่อน แต่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังคงมีแนวโน้มทยอยปรับเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องอย่างช้าๆ และคาดว่าจะกลับเข้าสู่เป้าหมายในไตรมาส 1 ของปี 2560
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าภาคการท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบมากกว่าคาดจากการปราบปรามทัวร์ผิดกฎหมาย และการลงทุนภาคเอกชนโดยรวมยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ แต่ถูกชดเชยโดยการส่งออกสินค้าที่มีสัญญาณดีขึ้นจากการย้ายฐานการผลิตสินค้าบางรายการมาที่ประเทศไทย รวมทั้งการบริโภคภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้นตามรายได้เกษตรกรมาตรการกระตุ้นระยะสั้นของภาครัฐ ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญอย่างต่อเนื่อง
"มองไปข้างหน้าเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในทิศทางของการฟื้นตัว โดยแรงส่งของเศรษฐกิจโดยรวมไม่เปลี่ยนแปลง โดยความเสี่ยงต่อของเศรษฐกิจ เกิดจากเศรษฐกิจคู่ค้าที่อาจชะลอลงมากกว่าที่คาด ความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าระหว่างสหรัฐฯ ที่จะมีนัยสำคัญต่อความเชื่อมั่นและการค้าระหว่างประเทศ และจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่อาจน้อยกว่าประมาณการ นอกจากนี้ความเสี่ยงจากพัฒนาการทางการเมืองยุโรปและปัญหาภาคการเงินในยุโรปและจีนที่ยังต้องติดตาม”นายจาตุรงค์ กล่าว
สำหรับภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยสภาพคล่องในระบบการเงินยังอยู่ในระดับสูง และอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงยังอยู่ในระดับต่ำ แม้ว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของปีก่อน ในช่วงที่ผ่านมา เงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์โน้มอ่อนค่าลง แต่ยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลคู่ค้าคู่แข่งโดยรวม ซึ่งในขณะนี้ค่าเงินบาทยังเคลื่อนไหวเป็นไปตามภาวะตลาด แต่ในการที่บาทปรับตัวอ่อนค่าต่อเนื่องอาจไม่เป็นผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย
ทั้งนี้ คณะกรรมการเห็นว่าระบบการเงินโดยรวมยังมีเสถียรภาพ สามารถรับมือกับความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจการเงินทั้งในและต่างประเทศได้ดี แต่ยังต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เช่น คุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลง ส่งผลให้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL ปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และพฤติกรรมการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น ในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำนาน
ข่าวเด่น