การปรับคณะรัฐมนตรีรอบที่ 4 ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนบุคคลในกระทรวงเศรษฐกิจ ส่วนหนึ่งเพื่อวางรากฐานประเทศ และผลักดันประเทศเข้าสู่ดิจิทัลไทยแลนด์ ตามนโยบายของรัฐบาล
โดย นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยภายหลังเข้ามารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการว่า นโยบายหลัก ได้แก่ นโยบายดิจิทัล ไทยแลนด์ และ เร่งผลักดัน "ดิจิทัล ชุมชน" ให้เข้าถึงประชาชนทั่วประเทศ ผ่านการมีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงทุกหมู่บ้าน เพื่อให้สอดรับกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล พร้อมกับประสานการทำงานในหน่วยงานกระทรวงให้ไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งหน่วยงานภายในและภายนอกกระทรวง
ซึ่งกระทรวงมีแผนจะจัดงานไทยแลนด์ ดิจิทัล บิ๊กแบง ในช่วงกลางปี 2560 เพื่อนำเสนอการผลักดัน ดิจิทัล ไทยแลนด์ ของประเทศไทย เพื่อให้ทุกคนเข้าใจ ดิจิทัล ไทยแลนด์ และทำให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกมีความรู้ถึงการขับเคลื่อน ดิจิทัล ไทยแลนด์ ของประเทศไทย ซึ่งการจัดงานครั้งนี้จะเชื่อมโยงกับประเทศในภูมิภาคอาเซียน และอาเซียนบวกสามประเทศ พร้อมกันนี้จะมุ่งสร้างความรู้ ความเข้าใจและการสร้างคนในประเทศให้รองรับ ดิจิทัล ไทยแลนด์
ขณะที่ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้ได้จัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนนโยบายประเทศไทย 4.0 ตามคำสั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เสร็จเรียบร้อยแล้ว และเตรียมนำเสนอนายกรัฐมนตรีในเร็วๆนี้ โดยนายกรัฐมนตรีต้องการให้นำวิสัยทัศน์ประเทศไทย 4.0 สู่แผนปฏิบัติที่มีความเป็นรูปธรรมและชัดเจน เพื่อนำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาประเทศเป็นประเทศไทย 4.0 ได้ในอนาคต
ทั้งนี้แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนจะประกอบด้วย 5 วาระสำคัญได้แก่ 1.การเตรียมคนไทย 4.0เพื่อก้าวสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วหรือประเทศในโลกที่1 ภายในปี 2575 และ 2. การพัฒนาคลัสเตอร์เทคโนโลยีและอุตสาหกรรมแห่งอนาคต 3.การบ่มเพาะผู้ประกอบการและพัฒนาเครือข่ายวิสาหกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม 4.การเสริมความเข้มแข็งของเศรษฐกิจภายในประเทศผ่านกลไกของ 18 กลุ่มจังหวัด และ 76 จังหวัด 5.การบูรณาการเศรษฐกิจไทยอาเซียนเชื่อมประเทศไทยสู่ประชาคมโลก
ขณะที่เป้าหมายประเทศไทย 4.0 จะครอบคลุมใน 4 มิติ ประกอบด้วย 1.ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ 2.ความอยู่ดีมีสุขทางสังคม 3.การยกระดับคุณค่ามนุษย์ และ 4.การรักษาสิ่งแวดล้อม
ด้าน นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวภายหลังเข้าทำงานวันแรกว่า นโยบายสำคัญที่ได้รับมอบหมายคือการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เดินหน้าผ่านการต่อยอดงานของกระทรวงพาณิชย์ การพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการให้สามารถแข่งขันในระดับต่างประเทศ และสอดคล้องไปกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาลที่ต้องการพัฒนาขีดความสามารถภายในประเทศให้เข้มแข็งและวางรากฐานเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
ซึ่งสอดคล้องกับการวิจัยของกูเกิล และ เทมาเส็ก ที่ผลวิจัยล่าสุด ภายใต้ชื่อ "e-conomy SEA: Unlocking the $200 billion opportunity in Southeast Asia." ย้ำให้เห็นว่า ไทยมีการเติบโตของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตรวดเร็ว เติบโตอยู่ที่ 9% ต่อปี และจะคิดเป็น 59 ล้านคน ในปี 2563 เพิ่มจาก 38 ล้านคน ในปี 2558 แนวโน้มนี้เป็นเรื่องที่ดีสำหรับธุรกิจในประเทศ คาดว่าใน 10 ปีข้างหน้า ตลาดออนไลน์ในไทยจะเติบโตไปถึง 37,000 ล้านดอลลาร์ (หรือราว 1.3 ล้านล้านบาท) ในปี 2568 ธุรกิจอีคอมเมิร์ซและท่องเที่ยวจะมีมูลค่ารวมกันแล้วคิดเป็น 88% ของมูลค่าตลาดโดยรวมทั้งหมด
ข่าวเด่น