แบงก์-นอนแบงก์
บสย.ตั้งเป้าค้ำประกันปีหน้า 8.6 หมื่นล้านบาท ช่วยลูกค้าใหม่ 5 หมื่นราย


บสย. พร้อมขับเคลื่อน “ค้ำประกันสินเชื่อ” ตามแผนวิสาหกิจปี 60 วางเป้าค้ำฯ 86,000 ล้านบาท ช่วยลูกค้าใหม่ 5 หมื่นราย ส่วนผลดำเนินงานปี 2559 บรรลุเป้าหมายที่ 85,000 ล้านบาท

 

นายนิธิศ มนุญพร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)เปิดเผยว่า บสย. พร้อมขับเคลื่อนภารกิจ “ค้ำประกันสินเชื่อ” ในปี 2560 เพื่อผู้ประกอบการ SMEs ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อต่าง ๆ ของ บสย. ตามแผนวิสาหกิจ ปี 2560 อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การขับเคลื่อนโครงการค้ำประกันสินเชื่อใหม่ล่าสุด “ค้ำประกันสินเชื่อ SMEs ทวีทุน” (PGS6) ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ของรัฐบาล วงเงิน 1 แสนล้านบาท เปิดใช้แล้วเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2559 และจะเป็นเรือธงในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และช่วยผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงสินเชื่อในปี 2560

ทั้งนี้ บสย. ยังได้เตรียมแผนดำเนินงานเพื่อให้การดำเนินพันธกิจ บสย. ตามแผนวิสาหกิจ ปี 2560 บรรลุเป้าหมาย ประกอบด้วย 3 ยุทธศาสตร์หลักคือ 1) ขยายฐาน SMEs ทุกกลุ่มโดยเฉพาะกลุ่มรายย่อย ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนให้มากที่สุด ตั้งเป้าค้ำประกันสินเชื่อ 86,000 ล้านบาท เพิ่มจำนวนลูกค้าใหม่ 54,080 ราย และตั้งเป้าอนุมัติ ค้ำประกันสินเชื่อ (LG) 73,600 LG 2) สนับสนุนความรู้ทางการเงิน แก่ผู้ประกอบการ SMEs (Financial Literacy) แก่ผู้ประกอบการ SMEs 8,000 ราย 3) เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการภายใน

กลยุทธ์การตลาดของ บสย. ในปี 2560 มุ่งเน้นการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และเข้าถึง ผลิตภัณฑ์ค้ำประกันสินเชื่อกลุ่มต่างๆ ให้กับสถาบันการเงินและผู้ประกอบกา SMEs ตอบโจทย์ โรดแมพ แผนงาน และนโยบายของรัฐบาล เป็นสำคัญ ทั้ง ไทยแลนด์ 4.0 Start Up / Innovation ไมโคร และ New S-Curve ซึ่งปัจจุบัน บสย. ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ ค้ำประกันสินเชื่อ ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย

1. ผลิตภัณฑ์ค้ำประกันสินเชื่อ SMEs ทวีทุน หรือ PGS6 วงเงิน 1 แสนล้านบาท เป็นโครงการค้ำประกันสินเชื่อใหม่ล่าสุดของ บสย. ตามนโยบายรัฐบาล ไทยแลนด์ 4.0 และ New S-Curve เปิดตัวโครงการเมื่อ 1 ธันวาคม ที่ผ่านมา จะช่วยผู้ประกอบการ SMEs ทุกกลุ่มเป้าหมายเข้าถึงสินเชื่อกับธนาคารที่เข้าร่วมโครงการ ครอบคลุม ธุรกิจภาคการท่องเที่ยว บริการ เกษตร อาหารเครื่องดื่ม โรงแรม และภาคการส่งออก โดยขณะนี้ มีธนาคารได้เริ่มใช้โครงการแล้ว คิดเป็นวงเงินการค้ำประกันสินเชื่อกว่า 600 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม โครงการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs ทวีทุน เป็นโครงการที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับการเชิญชวนผู้ประกอบการ SMEs เข้าสู่ระบบฐานภาษี บสย. จึงต้องเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจ โดยจะเริ่มจัดกิจกรรมการตลาดตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2560 และจัดกิจกรรมให้ความรู้ผู้ประกอบการ SMEs

2. ผลิตภัณฑ์ค้ำประกันสินเชื่อรายย่อย หรือ ไมโคร บสย. ให้การค้ำประกันสูงสุดต่อราย รายละไม่เกิน 2 แสนบาท รองรับผู้ประกอบการรายย่อย กลุ่มนาโนไฟแนนซ์ และ กลุ่มพิโก ไฟแนนซ์ ผู้ให้บริการด้านสินเชื่อที่ ต่ำกว่า 5 หมื่นบาท ซึ่งโครงการนี้จะต่อยอดการทำงานต่อเนื่องในปี 2560 มากขึ้น

ในขณะเดียวกัน โครงการค้ำประกันสินเชื่อกลุ่ม ไมโคร จะยังเป็นโครงการต่อเนื่องในปี 2560 เช่นกัน ซึ่งขณะนี้ บสย. และ 4 ธนาคารพันธมิตรหลัก คือ ธนาคารออมสิน ธนาคารไทยเครดิตเพื่อรายย่อย ธนาคารทิสโก้ และธนาคารกรุงเทพ ยังร่วมกันให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปีหน้าตลอดไตรมาส 1 และ 2 บสย. ทั้ง 11 สาขา จะร่วมกับธนาคารพันธมิตรจัดกิจกรรมร่วมกันเพื่อสร้างการรับรู้โครงการสินเชื่อและค้ำประกันสินเชื่อ เพื่อสร้างการรับรู้อย่างทั่วถึง

3. โครงการค้ำประกันผู้ประกอบการ Start-up / Innovation สำหรับ ผู้ประกอบการอายุธุรกิจ 1-3 ปี บสย. ค้ำประกันสินเชื่อ วงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาท และสำหรับนิติบุคคลไม่เกิน 5 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันภาครัฐได้ให้ความสำคัญ กับการดึงผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบฐานภาษี โดยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนนิติบุคคล ซึ่งขณะนี้รัฐบาลยังได้เชิญชวนเข้าสู่ระบบฐานภาษี โดยผ่อนคลายกฎระเบียบให้มีความคล่องตัวมากขึ้น โดยสามารถจดทะเบียนนิติบุคคล ซึ่งจากเดิม 7 คน เหลือ 3 คน และ เหลือเพียง 1 คน โดยการผ่อนคลายกฏระเบียบการจดทะเบียนนิติบุคคลนี้ จะเป็นผลต่อเนื่องในการช่วยผู้ประกอบการเข้าถึงสินเชื่อกับผู้ประกอบการที่จดทะเบียนนิติบุคคลแบบ จัดตั้ง 1 คน โดย บสย. และธนาคารพันธมิตร จะร่วมมือกันเพื่อผลักดันให้ผู้ประกอบการเข้าระบบ เพื่อสิทธิประโยชน์อื่นๆที่จะได้รับจากรัฐบาลในอนาคต

นอกจากนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการ Start-up / Innovation เข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น บสย. ยังได้ทำงานร่วมกับทั้งกระทรวงวิทยาศาสตร์ สวทช. วว. สนช. สำนักงานวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ผ่านหน่วยงานซิป้า ร่วมกันขับเคลื่อนการส่งเสริมผู้ประกอบการนวัตกรรม และเทคโนโลยีให้มากยิ่งขึ้น ขณะนี้ บสย. ซิป้า กำลังอยู่ในระหว่างการพูดคุยกับ 3-4 สถาบันการเงิน เพื่อช่วยผู้ประกอบการให้เข้าถึงสินเชื่อโดยมี บสย. ค้ำประกัน

ทิศทางการดำเนินงาน ยังมุ่งเน้นขับเคลื่อนโครงการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ผ่านกิจกรรมต่างๆ เพื่อสร้างการรับรู้โครงการค้ำประกันสินเชื่อ และโครงการความร่วมมือกับธนาคารพันธมิตรอย่างรวดเร็ว ตลอดจนปรับปรุงกระบวนการทำงานภายใน การลงทุนพัฒนาเครื่องมือใหม่ๆ เพื่อรองรับการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs มากขึ้น

สำหรับผลดำเนินงาน บสย. ปี 2559 ประสบความสำเร็จเกิดความคาดหมาย ทำให้ยอดปิดสิ้นปี สูงกว่าเป้า ค้ำประกันสินเชื่อ ปี 2559 ตามแผนวิสาหกิจ 85,000 ล้านบาท โดยยอดค้ำประกันล่าสุด ณ วันที่ 20 ธันวาคม 2559 มีวงเงินค้ำประกัน 85,130ล้านบาท

ส่วนตัวเลขจำนวน LG ต่ำกว่าเป้าหมาย โดยสามารถอนุมัติค้ำประกันสินเชื่อใหม่ จำนวน 51,975 LG (จากเป้าหมาย 75,130 LG) เรียงลำดับ 7 กลุ่มธุรกิจ ที่ผู้ประกอบการ SMEs ขอสินเชื่อและ ค้ำประกันสินเชื่อ คือ 1) กลุ่มธุรกิจบริการ จำนวน 11,312 LG 2) กลุ่มธุรกิจผลิตสินค้า จำนวน 11,185 LG 3) กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม จำนวน 5,770 LG 4) กลุ่มการเกษตร จำนวน 4,983 LG 5) กลุ่มสิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม จำนวน 3,042 LG 6) กลุ่มสินค้าอุปโภค-บริโภค จำนวน 3,043 LG 7) กลุ่มยานยนต์ จำนวน 2,196 LG
 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 26 ธ.ค. 2559 เวลา : 18:40:29
12-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 12, 2025, 10:26 pm