การแก้ไขปัญหาข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญต่อความปลอดภัยด้านการบิน (SSC) ของไทยตามข้อแนะนำขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอเคโอ) เพื่อปลดธงแดงมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง
โดยล่าสุด นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กล่าวว่า กทพ.จะยื่นเรื่องตรวจสอบแก้ไข SSC ซ้ำในเดือนมิถุนายน 2560 ซึ่งทางไอเคโอจะส่งบุคลากรเข้ามาตรวจสอบหลังจากนั้นไม่เกิน 3 เดือน
โดยจะดำเนินการควบคู่ไปกับการยื่นเรื่องให้สำนักงานบริหารการบินแห่งสหรัฐอเมริกา (FAA) เข้ามาตรวจสอบมาตรฐานการบินในเดือนมิถุนายนให้สอดรับกับแผนการเลื่อนชั้นขึ้นสู่ CAT1 (Category 1) ภายในเดือนพฤศจิกายน 2560 เนื่องจากเจ้าหน้าที่สำนักงานบริหารการบินแห่งสหรัฐอเมริกาจะใช้เวลาตรวจราว 6 เดือนตั้งแต่ยื่นเรื่องเข้าไป ซึ่งถ้าไม่มีปัญหาอะไรคาดว่าจะปลดธงแดงและเลื่อนชั้นได้ภายในปีหน้า ส่วนการตรวจสอบการรักษาความปลอดภัยการบินพลเรือน หรือ ยูแซฟ (Universal Security Audit Programme - USAP) จะเริ่มดำเนินการในเดือนกรกฎาคม 2560
ขณะเดียวกันในปีหน้า กทพ.จะปรับเพิ่มอัตราค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาต โดยจะนำไปบังคับใช้ใน พ.ร.บ.เดินอากาศฉบับใหม่ให้เพิ่มขึ้นเป็นหลักล้านบาทจากเดิมอยู่เพียงหลักหมื่นบาท โดยเฉพาะการออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ (AOC) เนื่องจากใช้ทรัพยากรบุคคลและระยะเวลาในการทำงานมาก จึงต้องปรับค่าใช้จ่ายให้ใกล้เคียงกับต้นทุนในปัจจุบัน
ทั้งนี้จะนำอัตราราคาดังกล่าวมาปรับใช้เลยในการออกใบอนุญาตรอบใหม่ให้กับสายการบินในปีหน้า แต่ทั้งนี้ไม่ครอบคลุมไปถึงสายการบินที่ต้องการ re-AOC
ส่วนรายได้ในปี 2560 ของกพท. คาดว่า จะมีรายได้รวม 1,127 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากการเก็บค่าธรรมเนียมการเข้าออกประเทศของผู้โดยสารรวมทั้งสิ้น 1,087 ล้านบาท (15 บาทต่อผู้โดยสาร 1 คน ) และค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาตต่างๆอีก 40 ล้านบาท จากปริมาณคาดการณ์ผู้โดยสารที่จะเข้ามาในปีหน้าราว 72.43 ล้านคน พร้อมตั้งเป้าหมายทำรายได้เดือนละ 75 ล้านบาท
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.ที่ผ่านมา นางฟ่าง หลิว (Dr. Fang Liu) เลขาธิการองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (General Secretary, International Civil Aviation Organisation: ICAO) ได้เข้าเยี่ยม พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยนายกรัฐมนตรี ได้แสดงถึงความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาการบินพลเรือนของไทย พร้อมขอบคุณ ICAO ที่เข้าใจสถานการณ์ปัญหาด้านการบินพลเรือนของไทย โดยให้ความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยส่งผู้เชี่ยวชาญมาร่วมแก้ไขปัญหาการติดต่อประสานงาน และให้คำปรึกษาในการดำเนินการแก้ไขปัญหาข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญต่อความปลอดภัย โดยเฉพาะองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ( ICAO APAC) ที่ให้การสนับสนุนการฝึกอบรมบุคลากร รวมถึงด้านเทคโนโลยีทางด้านการบินที่ถูกพัฒนาขึ้น เพื่อช่วยให้การบินในประเทศไทยมีการพัฒนาอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ไทยยืนยันว่า จะให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความแข็งแกร่งและพัฒนาสถาบันการบินพลเรือนให้ได้มาตรฐาน ยกระดับมาตรฐานการบินพลเรือนของไทย เพื่อแข่งขันได้ในระดับสากล ซึ่งรัฐบาลไทยจะกำหนดให้การพัฒนาอุตสาหกรรมการบินเป็นส่วนหนึ่งในแผนพัฒนาและยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
ข่าวเด่น