เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ครม.อนุมัติร่าง พ.ร.บ.ล้มละลายฉบับใหม่ สอดคล้องมาตรฐาน UN บังคับใช้ 1 มิ.ย.60


ครม.อนุมัติร่าง พ.ร.บ.ล้มละลายฉบับใหม่ให้สอดคล้องมาตรฐาน UN สร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนต่างประเทศ มีผลบังคับใช้ภายในวันที่ 1 มิ.ย. 2560 ก่อนธนาคารโลกจัดอันดับ Ease of Doing Business - EoDB ในปี 61
 
  

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรี ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าที่ประชุมอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.ล้มละลายฉบับใหม่ ให้มีมาตรฐานสากลสอดคล้องกับมาตรฐานของสหประชาชาติ (UN)   เพื่อเป็นการแก้ไขอุปสรรคในการจัดการและรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้ที่มีลักษณะระหว่างประเทศโดยให้สามารถบังคับคดีกับทรัพย์สินของผู้ล้มละลายที่อยู่ในต่างประเทศได้ อีกทั้งยังช่วยสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนต่างประเทศต่อกฎหมายล้มละลายของประเทศไทย และทำให้กระบวนการล้มละลายกับการบังคับหลักประกันเกิดการสอดรับกัน ส่งผลให้ธุรกิจสามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้มากขึ้น
  

โดยกฎหมายนี้จะแล้วเสร็จ และมีผลบังคับใช้ภายในวันที่ 1 มิ.ย. 2560 เพื่อให้ทันธนาคารโลกจัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business - EoDB) ประจำปี 2561 ประเทศไทยเพื่อให้มีอันดับที่ดีขึ้น
 ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว มีสาระสำคัญใน 5 เรื่องคือ
  

1.กระบวนการพิจารณาฟื้นฟูกิจการสอดคล้องกับ พ.ร.บ.ให้เป็นไปในแนวทางเดียวกับหลักการฟื้นฟูกิจการลูกหนี้ที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) รองรับกับ พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจปี 2558
          

2.ปรับปรุงมติเจ้าหนี้ในการฟื้นฟูจากเดิมเห็นชอบ 3 ใน 4 เหลือ 2 ใน 3
          

3.เพิ่มเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์ในการเข้าถึงข้อมูลลูกหนี้สถาบันการเงิน ที่สถาบันการเงินต้องร่วมมือในการสืบหาทรัพย์
          

4.เพิ่มหมวดการล้มละลายเกี่ยวกับต่างประเทศ สอดรับกฎหมายการค้าระหว่างประเทศของสหประชาชาติ จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถสืบหาทรัพย์ในต่างประเทศได้เป็นครั้งแรก ประเทศไทยนับเป็นประเทศที่ 4 ในเอเชีย จากที่มีการดำเนินการในลักษณะนี้มาแล้วในประเทศ เกาหลี ญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์ ซึ่งไทยมั่นใจจะนำหน้าสิงคโปร์ที่กำลังศึกษากฎหมายนี้อยู่เช่นกัน
  

5. การเพิ่มคุณสมบัติเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์ให้มีความรู้ความสามารถดีขึ้นฝ่ายการฝึกอบรมที่เหมาะสม ผลตอบแทนที่เหมาะสม
    

"กฎหมายนี้เป็นอีกหนึ่งในกฎหมายสำคัญที่ธนาคารโลกจะชี้ว่าเป็นความสะดวกในการประกอบธุรกิจหรือไม่  เราหวังว่าจะทำให้เกิดความเชื่อมั่นในการทำธุรกิจมากขึ้น ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศลำดับที่ 4 ในเอเชีย ที่จะมีการใช้กฎหมายนี้" นายกอบศักดิ์ กล่าว

 

 


LastUpdate 27/12/2559 18:08:10 โดย : Admin
26-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 26, 2024, 5:20 pm