จากสถานการณ์ฝนตกหนักต่อเนื่องทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลันใน 12 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ พัทลุง นราธิวาส ยะลา สงขลา ปัตตานี ตรัง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ชุมพร ระนอง กระบี่ และประจวบคีรีขันธ์ รวม 96 อำเภอ 588 ตำบล 4,277 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 330,415 ครัวเรือน 958,602 คน ผู้เสียชีวิต 21 ราย สูญหาย 2 ราย สถานที่ราชการเสียหาย 5 แห่ง ซึ่งได้คลี่คลายแล้ว 1 จังหวัด คือ จังหวัดยะลา นั้น
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า สำนักงาน คปภ. มีความห่วงใยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุน้ำท่วมหนักในหลายพื้นที่ทางภาคใต้และได้ติดตามสถานการณ์พื้นที่น้ำท่วมอย่างใกล้ชิด เนื่องจากประชาชนได้รับผลกระทบต่อชีวิต และทรัพย์สินจำนวนมาก ดังนั้นเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2560 ตนได้สั่งการให้สำนักงาน คปภ. ภาค 8 (สุราษฎร์ธานี)และภาค 9 (สงขลา) ซึ่งดูแลพื้นที่ที่ประสบภัยใน 12 จังหวัดภาคใต้ ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมและประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้งบริษัทประกันภัยเพื่อเร่งประเมินความเสียหายทั้งด้านการประกันชีวิต การประกันวินาศภัย รวมถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นกับทรัพย์สินที่ทำประกันภัยไว้ ซึ่งขณะนี้มีรายงานเบื้องต้นจากบริษัทประกันภัยเกี่ยวกับความเสียหายของรถยนต์ที่ทำประกันภัยจำนวน 501 คัน ประเมินความเสียหายประมาณ 79.75 ล้านบาท ความเสียหายเกี่ยวกับบ้านพักอาศัย 6 ราย ประเมินความเสียหาย 1 ล้านบาท ความเสียหายต่อสถานประกอบการจำนวน 3 ราย ประเมินความเสียหาย 9 ล้านบาท และพื้นที่ความเสียหายที่เป็นนาข้าวจำนวน 40,296 ไร่ ซึ่งอยู่ระหว่างประเมินความเสียหาย โดยตนได้สั่งการให้สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ สำนักงาน คปภ. เร่งรวบรวมตัวเลขความเสียหายทั้งหมดเพื่อเตรียมความพร้อมและเยียวยาให้ความช่วยเหลือด้านค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ทำประกันภัยที่ประสบภัยในครั้งนี้อย่างเร่งด่วน
ทั้งนี้ขอให้ผู้ประสบภัยที่ทำประกันภัยไว้ ตรวจสอบกรมธรรม์ประกันภัยว่าให้ความคุ้มครองกรณีน้ำท่วมหรือไม่และเร่งสำรวจความเสียหายเพื่อแจ้งบริษัทที่รับประกันภัยโดยเร็ว ซึ่งกรมธรรม์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองกรณีน้ำท่วม ได้แก่ กรมธรรม์ประกันอัคคีภัย และซื้อความคุ้มครองภัยธรรมชาติเพิ่มเติม กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยที่อยู่อาศัยแบบประหยัดสำหรับรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ภาคสมัครใจ (ประเภท 1) หรือกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจประเภทอื่นที่ซื้อความคุ้มครองภัยน้ำท่วมหรือภัยธรรมชาติเพิ่มเติม และกรมธรรม์ประกันความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน (IAR) รวมถึงกรมธรรม์ประกันชีวิต ในขณะเดียวกันตนมีความห่วงใยพนักงานและลูกจ้างของสำนักงาน คปภ. ที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมครั้งนี้ด้วย โดยให้รายงานความเสียหายของสำนักงาน คปภ. ตลอดจนที่พักอาศัยของพนักงานและลูกจ้างที่ถูกน้ำท่วม ทั้งนี้เพื่อหามาตรการให้ความช่วยเหลือต่อไป นอกจากนี้สำนักงานคปภ.ยังได้ร่วมกับบริษัทประกันภัย ชมรมประกันวินาศภัยและสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในพื้นที่ประสบภัย ลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัย โดยนำเครื่องอุปโภคบริโภคและถุงยังชีพมอบให้กับผู้ประสบภัยในพื้นที่แล้ว
เลขาธิการ คปภ. กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันภัยธรรมชาติเกิดขึ้นบ่อยครั้ง และทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น เช่น แผ่นดินไหว ฝนตกหนักทำให้เกิดน้ำท่วม ลมพายุ ลูกเห็บตก เป็นต้น สร้างความเสียหายให้กับชีวิตและทรัพย์สิน บ้านเรือนที่อยู่อาศัยเป็นวงกว้าง สำนักงาน คปภ. มีความห่วงใยพี่น้องชาวจังหวัดภาคใต้ที่ประสบภัยในครั้งนี้เป็นอย่างยิ่ง โดยได้สั่งการให้ดำเนินการช่วยเหลือและติดตามเหตุการณ์อย่างใกล้ชิด และขอแนะนำให้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของที่อยู่อาศัย ผู้ประกอบการ และภาคอุตสาหกรรม ซื้อกรมธรรม์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองภัยธรรมชาติด้วย อย่างไรก็ตามก่อนตัดสินใจซื้อกรมธรรม์ประกันภัยควรศึกษาเงื่อนไขความคุ้มครอง และรายละเอียดข้อยกเว้นให้เข้าใจเสียก่อน เพื่อให้ได้ความคุ้มครองที่ตรงกับความต้องการ เพราะหากต้องประสบเหตุการณ์จากภัยธรรมชาติ การทำประกันภัยไว้จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นได้ ทั้งนี้หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน คปภ. 1186 หรือ www.oic.ot.th
ข่าวเด่น