“ผยง ศรีวณิช” เปิดแผนดำเนินงานกรุงไทย สู่เป้าหมายปี 61 ขึ้นอันดับ 3 ของประเทศด้านทำกำไรสูงสุด มั่นใจปี 60 โชว์กำไรมากกว่าปี 59 จากสินเชื่อภาครัฐเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก หวังชิงแชร์เม็ดเงินภาครัฐได้ 20-30% จากมูลค่าเม็ดเงินรวม 4-5 แสนล้านบาท ดันยอดสินเชื่อปีนี้เติบโตมากกว่า 5% สูงกว่าสินเชื่อในระบบที่คาดโต 4-5% รุกหนักสร้างรายได้ค่าธรรมเนียม จับมือบริษัทในเครือพัฒนาผลิตภัณฑ์โกยยอดขาย พร้อมเร่งตัดพอร์ตหนี้เสีย ขาย NPL และ NPA ลดภาระกันสำรอง และคุม NPL ไม่ให้สูงกว่าปี 59 แม้ครึ่งปีแรกแนวโน้ม NPL ยังขึ้นสูง พร้อมเผยปีนี้ปิดสาขา 100 แห่งลดต้นทุน
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB เปิดเผยว่า แผนงานของธนาคารกรุงไทยภายใต้การบริหารของตนเองนั้น ตั้งเป้าว่า ภายในปี 2561 จะต้องทำให้ธนาคารกรุงไทยเป็นธนาคารที่ทำกำไรได้สูงสุดเป็นอันดับ 3 ของประเทศ จากปัจจุบันอยู่อันดับ 4
โดยแผนการดำเนินงานปี 2560 เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการขึ้นเป็นธนาคารที่มีกำไรสูงสุดเป็นอันดับ 3 ของประเทศในปี 2561 นายผยงกล่าวว่า ปี 2560 นี้ ธนาคารจะต้องทำกำไรให้สูงกว่าปี 2559 จากสินเชื่อที่เติบโต โดยเฉพาะสินเชื่อภาครัฐ ที่จะต้องใช้จุดแข็งในการเป็นธนาคารของรัฐผลักดันให้สินเชื่อโดยรวมเติบโตมากกว่า 5% จากปี 2559 ที่สินเชื่อรวมติดลบ แบ่งเป็น สินเชื่อรายย่อย เติบโต 5% สินเชื่อเอสเอ็มอี เติบโต 5% สินเชื่อรายใหญ่ เติบโต 4%
“เราจะต้องใช้จุดแข็งของเราเพื่อผลักดันสินเชื่อภาครัฐให้เติบโต โดยปีนี้ธนาคารได้เพิ่มสัดส่วนสินเชื่อภาครัฐในพอร์ตสินเชื่อรวมของธนาคาร เป็น 12% จากเดิม 10% เนื่องจากมองว่าปีนี้เม็ดเงินการลงทุนของภาครัฐมีสูงถึง 4 - 5 แสนล้านบาท ฉะนั้นเราจะต้องเข้าไปดำเนินการปล่อยสินเชื่อในส่วนเม็ดเงินนี้ให้ได้ในสัดส่วน 20-30%”นายผยงกล่าว
นายผยงกล่าวว่า แม้ปีนี้จะมุ่งเน้นสินเชื่อภาครัฐเป็นหลัก แต่สินเชื่อประเภทอื่นก็มุ่งเน้นการปล่อยเช่นกันเพื่อให้นำมาซี่งรายได้ ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อรายย่อย ,สินเชื่อเอสเอ็มอี ,สินเชื่อรายใหญ่ และสินเชื่ออื่นๆ ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 โดยจะต้องมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ อย่างจริงจัง เพื่อนำมาตอบสนองความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่มได้ตรงจุด
สำหรับรายได้ทางด้านค่าธรรมเนียม ในปีนี้ ธนาคารตั้งเป้ามีรายได้จากค่าธรรมเนียม เติบโตไม่ต่ำกว่า 5% จากการให้บริการลูกค้าในด้านต่างๆ ของธนาคารเอง และการร่วมขายผลิตภัณฑ์ให้กับบริษัทในเครือ ทั้งธุรกิจประกันชีวิตประกันภัย และกองทุนรวมต่างๆ ซึ่งจากตัวเลขของทั้งระบบธนาคาร มูลค่าทางด้านค่าธรรมเนียมมีสูงถึง 3-4 หมื่นล้านบาท
“โดยภาพรวมแล้ว คาดว่าในปีนี้กรุงไทยจะเติบโตมากกว่า 5% จากอุตสาหกรรมรวมที่เติบโต 4-5% โดยส่วนใหญ่จะเติบโตในส่วนสินเชื่อภาครัฐเป็นหลัก ซึ่งเป็นจุดแข็งของธนาคาร สำหรับในส่วนของ NIM (ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสูทธิ) ในปีนี้อาจจะลดลงบ้าง แต่จะพยามยามรักษาไว้ไม่ให้ต่ำกว่าปี 2559 อย่างแน่นอน”นายผยงกล่าว
สำหรับแผนการจัดการหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) นายผยงกล่าวว่า ในปี 2560 จะพยายามรักษาระดับหนี้ NPL ให่ใกล้เคียงหรือไม่เกินจากปี 2559 (โดย NPL ปี 2559 สูงกว่าปี 2558 ประมาณ 5%) ท่ามกลางแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของ NPL ของทั้งระบบที่ยังคงเติบโตและต่อเนื่องถึงไตรมาส 1 และไตรมาส 2 ปีนี้ อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นของ NPL อยู่ในอัตราที่ชะลอตัวลง ซึ่งส่วนใหญ่เป็น NPL ของรายย่อยและธุรกิจเอสเอ็มอีที่ประสบปัญหาด้านสภาพคล่องหมุนเวียน
“การดำเนินการลดหนี้ NPL ในปีนี้ จะเพิ่มสปรีดการขายพอร์ตหนี้ NPL และ NPA (สินทรัพย์รอการขาย) ออกไป เพื่อลดสัดส่วนหนี้ NPL และลดภาระการตั้งสำรอง ที่ปีนี้คาดว่าการตั้งสำรองจะใกล้เคียงกับปีก่อนเฉลี่ยเดือนละ 1,000 ล้านบาท แต่อาจมีการตั้งสำรองพิเศษบ้างตามสถานการณ์ แต่เชื่อว่าจะไม่กระทบกำไรแน่นอน”นายผยงกล่าว
นายผยงกล่าวอธิบายเพิ่มเติมว่า การตัดขายพอร์ตหนี้ NPL และ NPA นั้น จะปรับวิธีการขายใหม่ จากเดิมที่จะมุ่งขายตามสภาพสินทรัพย์ที่ทำให้ได้ราคาต่ำ แต่ต่อไปจะต้องมีการพัฒนาสินทรัพย์นั้นๆ ก่อนที่จะนำไปขาย เพื่อให้ได้ราคาที่สูงขึ้น ซึ่งรายละเอียดแต่ละสินทรัพย์ที่จะพัฒนาอย่างไร คงต้องนำมาดูและพิจารณากัน สำหรับกรณี บมจ. สหวิริยาสตีลอินดัสตรี (SSI) หลังศาลผ่านแผนฟื้นฟูกิจการแล้ว ทำให้ธนาคารไม่มีภาระ NPL รายใหญ่แล้ว
ในส่วนของอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ (coverage ratio) ในปีนี้ นายผยงกล่าวยืนยันว่าจะพยายามให้สูงกว่าปี 2559 หรือใกล้เคียงกับระบบที่ 130-140%
นายผยงกล่าวว่า หลังจากที่ธนาคารดำเนินการตามแผนเพื่อเพิ่มรายได้แล้ว อีกด้านธนาคารก็ต้องพยายามดำเนินการลดต้นทุนเช่นกัน รวมทั้งเพื่อให้เป็นไปตามเทรนด์ของผู้บริโภคที่ปัจจุบันนิยมการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านดิจิตอลออนไลน์ โดยธนาคารจะเร่งดำเนินการปิดสาขาในพื้นที่ที่ไม่จำเป็นและไม่ก่อให้เกิดรายได้มากนัก โดยตั้งเป้าไว้ในปีนี้จะปิดสาขาประมาณ 100 แห่ง จากปัจจุบันมีสาขาทั้งหมด 1,200 สาขา เพื่อลดภาระต้นทุน
สำหรับแผนทางด้านไอทีเพื่อให้เป็นธนาคารดิจิทัลสอดรับกับไลฟ์สไตล์ของลูกค้าในปัจจุบัน ธนาคารได้ตั้งงบลงทุนด้านไอทีในปีนี้ไว้มากกว่า 5 พันล้านบาท ซึ่งถือว่าธนาคารให้ความสำคัญกับเรื่องระบบเทคโนโลยีไอทีในปีนี้ค่อนข้างมาก จากที่ผ่านมาไม่ได้มีการลงทุนด้านเทคโนโลยีไอทีอย่างจริงจัง รวมถึงสนองตอบนโยบายภาครัฐที่มีนโยบายสนับสนุนการขับเคลื่อน National e-Payment จึงต้องดำเนินการให้สอดรับกัน
ข่าวเด่น