แบงก์-นอนแบงก์
ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เตรียมเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนรองรับการขยายธุรกิจ


 •    ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เตรียมเสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นขออนุมัติการเพิ่มทุนจดทะเบียน โดยได้รับการสนับสนุนจากกลุ่ม    ซีไอเอ็มบีที่ให้ความเชื่อมั่นในการเพิ่มทุนเพื่อเสริมความแข็งแกร่งเงินกองทุนให้เพียงพอต่อการขยายธุรกิจ

•    โดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 5,505,495,928 บาท จัดสรรให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนจำนวนหุ้นที่ผู้ถือหุ้นแต่ละรายถืออยู่ (Rights Offering) ในอัตราจัดสรร 2 หุ้นใหม่ต่อ 9 หุ้นเดิม ในราคาเสนอขาย 1 บาทต่อหุ้น

•    ผลการดำเนินงานธนาคารมีรายได้เติบโตดีในปี 2559 อย่างไรก็ตาม ผลขาดทุนสุทธิที่เกิดขึ้นเป็นผลจากการตั้งสำรองหนี้สูญเพิ่มขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของ NPL ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับสินค้าโภคภัณฑ์บางกลุ่มในระหว่างปี ตลอดจนการเพิ่มขึ้นของ NPL ตามปกติตามภาวะเศรษฐกิจที่อยู่ในระยะฟื้นตัว ทั้งนี้ ไม่ได้เกิดจากปัญหาโครงสร้างคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคาร

•    ยุทธศาสตร์หลัก 5 C’s คือ Customer, Culture, Compliance, Cost และ Capital โดยธนาคารตั้งเป้าหมายขยายสินเชื่อและเงินฝากในระดับปานกลางที่ร้อยละ 5-10 ตามภาวะเศรษฐกิจที่อยู่ในระยะฟื้นตัว

•    แผนการเติบโตของธุรกิจและการควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารโดยตั้งเป้าหมายที่จะกลับมามีผลกำไรในปี 2560

•    ธนาคารยังคงเป็นตลาดหลักเชิงกลยุทธ์ของกลุ่มซีไอเอ็มบี ในการเสริมและสนับสนุนการค้าข้ามพรมแดนภายในภูมิภาคอาเซียน จากการที่กลุ่มซีไอเอ็มบีมีเครือข่ายธุรกิจอยู่ในหลายประเทศเศรษฐกิจหลักของภูมิภาคนี้
 
ขออนุมัติเพิ่มทุน

นายกิตติพันธ์  อนุตรโสตถิ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการครั้งที่ 1/2560 เมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2560 อนุมัติให้นำเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นของธนาคารเพื่อพิจารณาอนุมัติเพิ่มทุนจดทะเบียนของธนาคารอีกจำนวน 2,752,747,964.00 บาท จากทุนจดทะเบียนเดิม 12,387,365,839.50 บาท เป็นจำนวน 15,140,113,803.50 บาท โดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 5,505,495,928 หุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท (“หุ้นที่เสนอขาย”) เพื่อรองรับการจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นตามสัดส่วนจำนวนหุ้นที่ผู้ถือหุ้นแต่ละรายถืออยู่ (Rights Offering) รวมทั้งอนุมัติการแก้ไขเพิ่มเติมหนังสือบริคณห์สนธิ ข้อ 4 เพื่อให้สอดคล้องกับการเพิ่มทุนจดทะเบียนของธนาคาร

“อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) และเงินกองทุนชั้นที่ 1 (Tier 1) ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2559 ของธนาคารอยู่ที่ร้อยละ 16.1 และร้อยละ 10.7 ตามลำดับ ซึ่งสูงกว่าระดับที่ทางการกำหนด หลังจากการทำ Rights Offering ครั้งนี้ จะทำให้ธนาคารมี BIS ratio แข็งแกร่งขึ้นเป็นร้อยละ 18.5 ซึ่งจะเป็นการเสริมความมั่นคงของฐานเงินกองทุนและงบดุลของธนาคารมากยิ่งขึ้นพร้อมรับการเติบโตของธุรกิจในปี 2560 โดยธนาคารจะเน้นยุทธศาสตร์หลัก 5 C’s คือ Customer (ลูกค้า) Culture (วัฒนธรรม) Compliance (การปฏิบัติตามกฎเกณฑ์) Cost (ค่าใช้จ่าย) และ Capital (เงินทุน) โดยตั้งเป้าการเติบโตของสินเชื่อในระดับปานกลางที่ร้อยละ 5-10 จากแนวทางที่คณะกรรมการธนาคารได้กำหนดและการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากกลุ่มซีไอเอ็มบี ธนาคารมีความเชื่อมั่นว่าจะสามารถกลับมามีผลประกอบการกำไรในปี 2560 นี้” นายกิตติพันธ์ กล่าว

ทั้งนี้ ธนาคารจะเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นของธนาคารเพื่อพิจารณาอนุมัติการจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนของธนาคารจำนวน 5,505,495,928 หุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนจำนวนหุ้นที่ผู้ถือหุ้นแต่ละรายถืออยู่ (Rights Offering) ในอัตราจัดสรร 2 หุ้นใหม่ต่อ 9 หุ้นเดิม ในราคาเสนอขาย 1 บาทต่อหุ้น อนึ่ง ธนาคารกำหนดจัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2560 ขึ้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2560

กรณีที่มีหุ้นสามัญเพิ่มทุนเหลือจากการจัดสรรรอบแรกให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิม ธนาคารจะดำเนินการจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เหลือดังกล่าวให้กับผู้ถือหุ้นเดิมที่ประสงค์จะซื้อหุ้นเกินสิทธิตามสัดส่วนการถือหุ้น ในราคาเดียวกันกับหุ้นที่ได้รับการจัดสรร

เต็งกู ดาโต๊ะ ศรี ซาฟรูล อาซิส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มซีไอเอ็มบี กล่าวว่า  “จากการที่ภาวะเศรษฐกิจในประเทศไทยยังคงฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ประกอบกับสภาวการณ์การประกอบธุรกิจที่ท้าทายในปัจจุบัน ธนาคารจึงได้กันสำรองหนี้สูญเพิ่มขึ้นในไตรมาส 4/2559 กลุ่มซีไอเอ็มบีเชื่อมั่นว่าธนาคารจะสามารถกลับมามีกำไรอีกครั้งในปี 2560 โดยกลุ่มซีไอเอ็มบียังคงให้การสนับสนุนการดำเนินการตามแผนธุรกิจของธนาคารอย่างเต็มที่ ซึ่งรวมถึงการสนับสนุนการเพิ่มทุนที่ประกาศในวันนี้ด้วย

ประเทศไทยมีศักยภาพในการเติบโตทางธุรกิจสูง และยังคงเป็นฐานเชิงกลยุทธ์ของกลุ่มซีไอเอ็มบีในการเสริมและสนับสนุนการค้าข้ามพรมแดนภายในภูมิภาคอาเซียน จากการที่กลุ่มฯมีเครือข่ายธุรกิจอยู่ในหลายประเทศเศรษฐกิจหลักของภูมิภาคนี้”

ผลประกอบการงวดปี 2559

ผลการดำเนินงานของกลุ่มธนาคาร สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2559 มีรายได้จากการดำเนินงานจำนวน 12,928.1 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 694.1 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.7 เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันปี 2558 สาเหตุหลักเกิดจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิร้อยละ 16.4 และรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิร้อยละ 11.4 ในขณะที่รายได้อื่นลดลงร้อยละ 37.7 กำไรจากการดำเนินงานก่อนหักหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.8 เป็นจำนวน 5,504.6 ล้านบาท เนื่องจากการเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ร้อยละ 4.2

อย่างไรก็ตามขาดทุนสุทธิสำหรับปี 2559 มีจำนวน 629.5 ล้านบาท ในขณะที่ปี 2558 กำไรสุทธิมีจำนวน 1,052.4 ล้านบาท เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นในสำรองหนี้สงสัยจะสูญร้อยละ 66.6 ซึ่งการตั้งสำรองที่สูงขึ้นนั้นมาจากการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของบางกลุ่มอุตสาหกรรมในระหว่างปีประกอบกับภาวะเศรษฐกิจที่อยู่ในระยะฟื้นตัว
เมื่อเปรียบเทียบผลการดำเนินงานสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2559 และ 2558 รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 1,388.7  ล้านบาท หรือร้อยละ 16.4 เป็นผลจากการลดลงของค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 21.8   รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเพิ่มขึ้น 167.9 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.4 ส่วนใหญ่มาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ธุรกรรมเช่าซื้อและสัญญาเช่าทางการเงิน  และค่าธรรมเนียมจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประกันภัย และรายได้จากการดำเนินงานอื่นลดลง 862.6 ล้านบาท หรือร้อยละ 37.7 ส่วนใหญ่เกิดจากการลดลงของธุรกรรมบริหารเงิน

ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2559  เพิ่มขึ้นจำนวน 296.2 ล้านบาทหรือร้อยละ 4.2 เมื่อเทียบกับปี 2558 สาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอื่นสุทธิกับการลดลงของค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอาคารสถานที่ อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้จากการดำเนินงานสำหรับปี 2559 อยู่ที่ร้อยละ 57.4 ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2558 อยู่ที่ร้อยละ 58.3  เป็นผลจากแผนการบริหารจัดการเพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายที่ดีผนวกกับรายได้ที่เพิ่มขึ้น

อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Net Interest Margin – NIM) อยู่ที่ร้อยละ 3.77 สำหรับปี 2559    ในขณะที่ปี 2558 อยู่ที่ร้อยละ 3.27 เป็นผลจากการบริหารต้นทุนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

วันที่ 31 ธันวาคม 2559 เงินให้สินเชื่อสุทธิจากรายได้รอตัดบัญชี (รวมเงินให้สินเชื่อซึ่งค้ำประกันโดยธนาคารอื่นและเงินให้สินเชื่อแก่สถาบันการเงิน) ของกลุ่มธนาคารอยู่ที่ 206.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 เมื่อเทียบกับเงินให้สินเชื่อ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2558 กลุ่มธนาคารมีเงินฝาก (รวมตั๋วแลกเงิน หุ้นกู้ และผลิตภัณฑ์ทางการเงินบางประเภท) จำนวน 223.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 จากสิ้นปี 2558 ซึ่งมีจำนวน 218.4 พันล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก (the Modified Loan to Deposit Ratio) ของกลุ่มธนาคารเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 92.4 จากร้อยละ 91.2 ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2558

สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) อยู่ที่ 12.7 พันล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อเงินให้สินเชื่อทั้งสิ้น (NPL ratio) อยู่ที่ร้อยละ 6.1 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2558 อยู่ที่ร้อยละ 3.1 เนื่องจากความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าภาคธุรกิจบางรายลดลง อย่างไรก็ตาม ธนาคาร  ซีไอเอ็มบี ไทยยังคงมาตรฐานการอนุมัติสินเชื่อ และนโยบายการบริหารความเสี่ยงที่รัดกุมขึ้น ตลอดจนได้มีแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพการติดตามหนี้ การดำเนินการดูแล และการแก้ไขลูกหนี้ที่ถูกผลกระทบดังกล่าวอย่างใกล้ชิด

อัตราส่วนเงินสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2559 อยู่ที่ร้อยละ 77.3 ลดลงจากสิ้นปี 2558 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 106.5 ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2559      เงินสำรองของธนาคารและบริษัทย่อยอยู่ที่จำนวน 9.8 พันล้านบาท ซึ่งเป็นสำรองส่วนเกินตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทยจำนวน 3.5 พันล้านบาท
    

อย่างไรก็ตาม หากนับรวมการขาย NPL บางส่วนออกไปเมื่อต้นเดือนมกราคม 2560  จะส่งผลให้อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคาร ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2559 อยู่ที่ร้อยละ 4.8 และอัตราส่วนเงินสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ อยู่ที่ร้อยละ 86.4 ตามลำดับ

เงินกองทุนรวมของกลุ่มธนาคาร ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2559 มีจำนวน 38.0 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนรวมต่อสินทรัพย์เสี่ยงร้อยละ 16.1 โดยเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ร้อยละ 10.7


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 20 ม.ค. 2560 เวลา : 13:56:15
13-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 13, 2025, 5:26 am