แบงก์-นอนแบงก์
KKP เปิดแผนลุยธุรกิจปี 60 ตั้งเป้าสินเชื่อโต 5% โฟกัส "สินเชื่อเครื่องจักร-วัสดุก่อสร้าง-โรงแรม" พร้อมเปิดช่องทางใหม่ ADC ลุยขายผลิตภัณฑ์โกยยอดสินเชื่อรายย่อย


กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เดินหน้าต่อยอดธุรกิจ ท่ามกลางโอกาสและความท้าทายของโลกการเงินยุคใหม่ ตั้งเป้าสินเชื่อปี 60 ขยายตัว 5% จากปีก่อนติดลบ 0.8% โฟกัส”สินเชื่อเครื่องจักร-วัสดุก่อสร้าง-โรงแรม” หวังล้อไปกับแผนขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้านการก่อสร้างและท่องเที่ยว ขณะสินเชื่อรายย่อยเปิดส่วนงานใหม่ ใช้เป็นช่องทาง ADC ลุยขายผลิตภัณฑ์ “สินเชื่อบุคคล-สินเชื่อเคหะ-สินเชื่อ KK SME คูณ 3”  เผยปีนี้ มีดีล IPO ใหญ่ เตรียมจ่อเข้า SET 4-5 ดีล
  

 

 

 

นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร หรือ KKP ซึ่งประกอบด้วย ธนาคารเกียรตินาคิน , บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ภัทร จำกัด (บลจ. ภัทร) เปิดเผยว่า แผนการดำเนินงานในปี 2560 นี้  ตั้งเป้าขยายสินเชื่อ 5% จากปี 2559 ที่สินเชื่อติดลบ 0.8%  จากภาพรวมเศรษฐกิจไทยที่คาดจะฟื้นตัวอย่างช้าๆ บนสมมติฐานการเติบโตของจีดีพีที่ 3.2% และตั้งเป้าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ในปีนี้ไว้ที่ 4.7-4.9% จากปีก่อนที่ 4.9% รวมทั้งตั้งเป้าผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นเฉลี่ยปีนี้อยู่ที่ 13-15% จากปีก่อน 14.2%

“กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร มองว่า เศรษฐกิจไทยที่ค่อยๆ ฟื้นตัว จะมาจากแรงขับเคลื่อนของภาครัฐเป็นหลัก โดยคาดรัฐบาลจะใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นในช่วงครึ่งแรกของปี ส่วนในครึ่งหลังของปีการลงทุนภาครัฐจะเร่งตัวขึ้นและช่วยพยุงเศรษฐกิจ ส่วนค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ แต่แข็งค่าเมื่อเทียบกับค่าเงินในตลาดเกิดใหม่ โดยการที่จะเพิ่มศักยภาพของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบปัจจัยสามประการ ได้แก่ แรงงาน การลงทุน และผลิตภาพการผลิต”นายอภินันท์กล่าว

นายอภินันท์กล่าวถึงการเติบโตของสินเชื่อที่ 5% ว่า จะอาศัยเครือข่ายสาขาและสายงานช่องทางการตลาดและพัฒนาฐานลูกค้าที่จัดตั้งใหม่ หรือที่เรียกว่า ช่องทาง ADC (Alternative Distribution Channel) ซึ่งเป็นส่วนงานด้านตัวแทนขายผลิตภัณฑ์สินเชื่อบุคคล สินเชื่อเคหะ และสินเชื่อ KK SME คูณ 3 ที่ทางกลุ่มธุรกิจฯ มองว่า เป็นช่องทางอำนวยสินเชื่อที่มีประสิทธิภาพ โดยจะพัฒนาการทำ Cross Selling ของผลิตภัณฑ์ต่างๆให้เข้มข้นขึ้น ตั้งเป้าหมายจะปล่อยสินเชื่อรวมได้มากกว่า 1 หมื่นล้านบาท จากปี 2559 ปล่อยได้ 5 พันล้านบาท ซึ่งในเดือนมีนาคมหรืออย่างช้าเมษายน2560 นี้ มีแผนจะออกเครดิตการ์ดของธนาคารด้วย โดยจะมีการเพิ่มจำนวนพนักงานขึ้นอีก 1 เท่าตัว จาก 300 คนในปัจจุบัน เป็น 600 คน

นายอภินันท์กล่าวว่า ในส่วนของสินเชื่อธุรกิจ จะเน้นการให้สินเชื่อเครื่องจักรและวัสดุก่อสร้าง รวมถึงสินเชื่อโรงแรม ซึ่งสอดคล้องกับแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในด้านการก่อสร้างและการท่องเที่ยว สำหรับสินเชื่อเช่าซื้อ ในปีนี้อาจมีการเติบโตเพียงเล็กน้อยหรือทรงตัว จากปีก่อนที่ติดลบ 2.7% ซึ่งเป็นไปตามภาวะอุตสาหกรรม โดยปัจจุบันสัดส่วนสินเชื่อเช่าซื้อของธนาคาร อยู่ที่รถยนต์ใหม่ 48% และรถยนต์มือสอง 52% จากเดิมมีสัดส่วนเท่ากันที่ 50%

นอกจากนี้ นายอภินันท์ยังกล่าวแสดงความมั่นใจว่า ในปีนี้การขาดทุนจากการยึดรถจะทยอยลดลง ตามราคาขายรถมือสองที่ทยอยฟื้นตัว จากปีก่อนที่มีผลขาดทุนประมาณ 600 ล้านบาท

 

 

นายอภินันท์กล่าวต่อไปว่า สำหรับสินเชื่อขนาดใหญ่ในปีนี้ ต้องติดตามสถานการณ์การระดมทุนของลูกค้า เนื่องจากที่ผ่านมามีการออกหุ้นกู้เป็นจำนวนมากและมาชำระคืนให้กับธนาคาร ทำให้ยอดสินเชื่อขนาดใหญ่ไม่มีการเติบโต อย่างไรก็ตาม ในปีนี้จะต่อยอดธุรกิจ Private Bank ที่กลุ่มธุรกิจฯ มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์มายาวนาน โดยเพิ่มผลิตภัณฑ์และการบริการใหม่ๆ เพื่อเพิ่มรายได้ค่าธรรมเนียมและสินทรัพย์ภายใต้การแนะนำ จากปี 2559 มีสินทรัพย์ภายใต้การให้คำแนะนำ (AuA) อยู่ที่ 380,000 ล้านบาท (ไม่รวมเงินฝากและมูลค่าทรัพย์สินภายใต้การจัดการของ บลจ.ภัทร) ซึ่งที่ผ่านมากองทุนจาก บลจ.ภัทร สามารถสร้างผลการดำเนินงานได้เป็นอย่างดี อาทิ กองทุนเปิดภัทร หุ้นระยะยาวปันผล (PHATRA LTFD) ได้รับเลือกให้เป็นกองทุนรวมหุ้นระยะยาวยอดเยี่ยมปี 2559 จากบริษัทมอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช(ประเทศไทย) โดยเชื่อว่าธุรกิจดังกล่าวจะเป็นกลไกสำคัญในการขยายธุรกิจตลาดทุนและสร้างเสถียรภาพของรายได้ให้กับกลุ่มธุรกิจฯ ในอนาคตได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ ในปี 2560 จะรักษาความเป็นผู้นำในด้าน Investment Banking และเพิ่มความร่วมมือระหว่างธุรกิจธนาคารพาณิชย์และธุรกิจตลาดทุนเพื่อขยายการทำธุรกิจและให้บริการแก่ลูกค้าสถาบันและลูกค้าบรรษัท ซึ่งจะเน้นเรื่องการบริการที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ตลอดจนรักษาระดับคุณภาพให้อยู่ในกลุ่มผู้นำตลาดด้านงานวิจัย  

“ในปีนี้เรามีลูกค้าขนาดใหญ่ที่วางแผนจะระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ด้วยการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนครั้งแรก หรือ IPO และจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ (SET) ประมาณ 4-5 ดีล ซึ่งเป็นดีลต่อเนื่องมาจากปีที่แล้ว”นายอภินันท์กล่าว

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ในปี 2560 นี้ มีสิ่งที่ต้องระมัดระวัง ในเรื่องความผันผวนที่มีอยู่สูงในธุรกิจตลาดเงินและตลาดทุนของไทยและของโลก รวมถึงเทคโนโลยีทางการเงินที่เข้ามามีบทบาทต่อการดำเนินธุรกิจเป็นอย่างมาก โดยกลุ่มธุรกิจฯ ยังคงให้ความสำคัญกับบริหารความเสี่ยง ดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวัง ตั้งเป้าในการเป็นสถาบันการเงินเพื่อการจัดการเงินและการลงทุน รักษาผลการดำเนินงานที่ดีให้เติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม และองค์ความรู้ต่างๆ เพื่อต่อยอดธุรกิจในอนาคต ด้วยยุทธศาสตร์การแข่งขันใน 3 ด้าน คือ เริ่มต้นจากการเป็น Credit House ที่มีประสิทธิภาพควบคุมคุณภาพสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง และจากการประเมินอัตราปล่อยสินเชื่อในไตรมาส 4 ปี 2559 ทีผ่านมา คาดว่าปี 2560 จะสามารถขยายสินเชื่อได้อีกราว 5% จากสิ้นปี 2559 ที่มียอดรวมสินเชื่อรายย่อยที่ 124,000 ล้านบาท

 

 

นายอภินันท์ยังกล่าวถึงหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของกลุ่มธุรกิจฯ ว่า ในปีนี้ NPL น่าจะลดลงต่ำกว่า 5.2% จากปีที่แล้วที่มี NPL อยู่ที่ 5.6% เนื่องจากแนวโน้มคุณภาพสินเชื่อผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ดีขึ้น ประกอบกับธนาคารมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ธนาคารไม่มีแผนที่จะตัดขายหนี้ออกไป

สำหรับการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญในปีนี้ คาดว่าจะใกล้เคียงกับปี 2559 ที่ตั้งสำรองไว้จำนวน 2,313 ล้านบาท ส่วนอัตราส่วนการตั้งสำรองต่อหนี้สงสัยจะสูญ(coverate ratio) ปีนี้จะรักษาให้ใกล้เคียงกับปี 2559 ที่อยู่ 110% ถึงแม้โดยเฉลี่ยของอุตสาหกรรมจะอยู่ที่ 140% ก็ตาม แต่สินเชื่อของธนาคารมีหลักทรัพย์ค้ำประกันเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ธนาคารไม่มีความจำเป็นที่ต้องเพิ่มให้เท่ากับระบบอุตสาหกรรม

 

 

สำหรับผลการดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร นายอภินันท์กล่าวว่า มีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีพัฒนาการที่น่าพอใจ โดยเฉพาะปี 2559 KKP มีผลประกอบการสูงกว่าประมาณการที่ระดับ 5,547 ล้านบาท เพิ่มขึ้น67.2% เมื่อเทียบกับปี 2558 หากพิจารณากำไรเบ็ดเสร็จรวมจะเท่ากับ 5,756 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 84.6% อีกทั้งควบคุมต้นทุนทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในส่วนของช่องทางสาขาได้มีการปรับปรุงรูปแบบการให้บริการ ตลอดจนนำบริการ KK e-Banking ซึ่งเป็นช่องทางในการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านอินเตอร์เน็ตมาช่วยเสริม เพื่อให้ลูกค้าสามารถบริหารจัดการด้านการเงินได้ด้วยตนเอง ทั้งในรูปแบบของเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่น  และได้มีการพัฒนาสาขารูปแบบใหม่ให้เป็น Financial Hub ที่เน้นการให้คำปรึกษาทางด้านการเงินและการลงทุนอย่างครบวงจร ปัจจุบันมี 2 แห่ง ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ และทองหล่อ ส่งผลให้ ณ สิ้นปี 2559 ธนาคารมีสาขารวมทั้งสิ้น 66 สาขา นอกจากนี้  ยังสามารถรักษาคุณภาพของสินเชื่อให้ปรับตัวดีขึ้นจากสิ้นปี 2558

 

ด้าน นายชวลิต จินดาวณิค ประธานสายการเงินและงบประมาณ ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า ผลการดำเนินงานปี 2559 เปรียบเทียบกับปี 2558 ธนาคารและบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิไม่รวมส่วนของผู้ถือหุ้นส่วนน้อยเท่ากับ 5,547 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 67.2% เมื่อเทียบกับปี 2558 โดยเป็นกำไรสุทธิของธุรกิจตลาดทุน จำนวน 1,086 ล้านบาท หากพิจารณากำไรเบ็ดเสร็จรวมจะเท่ากับ 5,756 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 84.6% เป็นกำไรเบ็ดเสร็จของธุรกิจตลาดทุนจำนวน 1,075 ล้านบาท และมีสินทรัพย์รวมที่ 233,776 ล้านบาท ลดลง 1.0% จากสิ้นปี 2558  ทางด้านอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) คำนวณตามเกณฑ์ Basel III ซึ่งรวมกำไรถึงสิ้นปี 2558 อยู่ที่ 18.53% โดยเงินกองทุนชั้นที่ 1 เท่ากับ 15.01% แต่หากรวมกำไรถึงสิ้นปี 2559 อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงจะเท่ากับ 20.40% และเงินกองทุนชั้นที่ 1 เท่ากับ 16.87%

ในส่วนของผลการดำเนินงานของธุรกิจธนาคารพาณิชย์นั้น สินเชื่อของธนาคารในปี 2559 หดตัวเล็กน้อยที่ 0.8% โดยการหดตัวชะลอลงเมื่อเทียบกับการหดตัวที่ 3.6% ในปี 2558 และ 3.1% ในปี 2557 ทั้งนี้ สินเชื่อของธนาคารที่มีการขยายตัวค่อนข้างดี ได้แก่ สินเชื่อ Lombard ขยายตัวที่ 208.2% สินเชื่อบุคคลขยายตัวที่ 105.0% สินเชื่อ Micro SMEs ซึ่งรวมสินเชื่อ KK SME รถคูณ 3 ขยายตัวที่ 90.7% และสินเชื่อเคหะ ขยายตัวที่ 289.5%
ในด้านคุณภาพของสินเชื่อ อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวม ณ สิ้นปี 2559 อยู่ที่ 5.6% ปรับตัวดีขึ้นจาก 5.8% ณ สิ้นปี 2558 โดยสินเชื่อด้อยคุณภาพในส่วนของสินเชื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีการปรับตัวดีขึ้นในระหว่างปีรวมถึงคุณภาพของสินเชื่อเช่าซื้อที่ยังคงมีการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สำหรับธุรกิจตลาดทุนนั้น บล.ภัทรมีส่วนแบ่งตลาด 4.81% เป็นอันดับที่ 4 จากจำนวนบริษัทหลักทรัพย์ทั้งหมด 36 แห่ง และมีรายได้ค่านายหน้า 1,610 ล้านบาท ในส่วนของธุรกิจจัดการกองทุน (Asset Management Business) โดย บลจ.ภัทร ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2559 มีทรัพย์สินภายใต้การจัดการของกองทุนเป็นจำนวน 42,999 ล้านบาท

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 30 ม.ค. 2560 เวลา : 21:05:13
16-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 16, 2024, 2:34 am