เริ่มมีแนวโน้มการขยายตัวในทิศทางที่ดีขึ้นสำหรับทีวีดิจิทัลไทย เห็นได้จากเม็ดเงินโฆษณาที่เริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 17.7% จากเม็ดเงินทีวีรวมที่มีอยู่ประมาณ 70,530 ล้านบาท หรือมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 20,276 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่ทีวีดิจิทัลมีสัดส่วนเม็ดเงินอยู่ที่ประมาณ 16.1% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 20,758 ล้านบาท เม็ดเงินที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นดังกล่าว ปัจจัยหลักมาจากการปรับราคาโฆษณาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปีที่ผ่านมา หลังจากหลายช่องเริ่มมีเรตติ้งปรับตัวเพิ่มขึ้น
จากเรตติ้งทีวีดิจิทัลที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลเริ่มขยับราคาโฆษณาขึ้นอีกรอบ ในช่วงต้นเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา โดยเฉพาะช่องใหม่ใน 5 อันดับแรก ซึ่งจากแนวโน้มที่เกิดขึ้นดังกล่าว ส่งผลให้คาดการณ์กันว่า อีก 1-2 ปีนับจากนี้ สัดส่วนเม็ดเงินโฆษณาทีวีดิจิทัลอาจขยับขึ้นมาแซงหน้าทีวีอนาล็อคที่ปัจจุบันมีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 40.9% เนื่องจากปัจจุบันช่องทีวีอนาล็อคเดิมไม่สามารถขยับราคาโฆษณาขึ้นได้ เพราะเพดานสูงกว่าทีวีทีวีช่องใหม่อยู่แล้ว ประกอบกับปัจจุบันการแข่งขันในธุรกิจทีวีดิจิทัลค่อนข้างรุนแรง จึงทำให้ช่องยักษ์ใหญ่ขยับตัวค่อนข้างลำบาก
อย่างไรก็ดี การแข่งขันที่รุนแรงของธุรกิจทีวี ยังคงส่งผลให้ปี 2559 ที่ผ่านมา สื่อทีวียังคงเป็นสื่อที่สร้างรายได้หลักให้กับอุตสาหกรรมสื่อของไทยคิดเป็นมูลค่า 70,530 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราส่วน 61.4% จากมูลค่ารวม 114,819 ล้านบาท แบ่งเป็นสื่อทีวีอนาล็อค 40.9% สื่อทีวีดิจิทัล 17.7% สื่อเคเบิลทีวีและแซทเทลไลท์ทีวี 2.9% ซึ่งจากแนวโน้มที่ดีของอุตสาหกรรมทีวี คาดว่าปี 2560 อัตราส่วนรายได้ธุรกิจทีวี จะปรับเพิ่มขึ้นมาเป็น 63.6% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 81,500 ล้านบาท แบ่งเป็นสื่อทีวีอนาล็อค 37.5% สื่อทีวีดิจิทัล 23.4% สื่อเคเบิลทีวีและแซทเทลไลท์ทีวี 2.7%
ทั้งนี้ จากแนวโน้มของทีวีดิจิทัลช่องน้องใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้แต่ละช่องน้องใหม่ที่มีเรตติ้งอยู่ในอันดับท็อป 5 ต่างออกมาประกาศเขย่าผังรายการกันตั้งแต่ต้นปี ขณะเดียวกันก็ออกมาประกาศปรับค่าโฆษณากันอย่างคึกคัก โดยบางช่องประกาศว่าจะขึ้นค่าโฆษณาถึง 100% ในรายการที่เรตติ้งพุ่งขึ้นสูงเทียบชั้นช่องยักษ์ใหญ่อนาล็อค
เริ่มกันที่ช่องโมโนออกมาประกาศใช้งบ 700-900 ล้านบาท ลงทุนในด้านของคอนเทนต์ ซึ่งจะมีทั้งซื้อลิขสิทธิ์มาจากต่างประเทศและผลิตขึ้นมาเอง โดยในส่วนของภาพยนตร์ต่างประเทศบริษัทยังคงเตรียมภาพยนตร์ใหม่นำมาออกอากาศประมาณ 200-300 เรื่อง ส่งผลให้ปัจจุบันช่องโมโนมีภาพยนตร์หมุนเวียนออกอากาศตลอดทั้งปีไม่ต่ำกว่า 1,000 เรื่อง
ในส่วนของซีรีส์ไทย ปีนี้ช่องโมโนก็มีการผลิตเพิ่มจากปีละ 4-5 เรื่อง เป็น 8-10 เรื่อง เน้นออกอากาศทุกวันจันทร์และอังคาร เริ่มด้วยเรื่องตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เดอะซีรีส์ เรื่องหัวใจและไกปืน เรื่องเพชฌฆาต ตาเพชร เรื่องโปรเจ็กต์ เอ็กซ์ แฟ้มลับ เกมสยอง และเรื่อง ดิ แองเจิล นางฟ้าล่าผีปี3 เป็นต้น
นายนวมินทร์ ประสพเนตร ผู้ช่วยประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด บริษัท โมโน เทคโนโลยี จำกัด ผู้บริหารช่องโมโน 29 กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้บริษัทหันมาผลิตซีรีส์ไทยเพิ่มขึ้น เพราะบริษัทต้องการขยายฐานผู้ชมไปยังตลาดต่างจังหวัดให้เพิ่มขึ้น หลังจากสร้างความแข็งแกร่งฐานผู้ชมในกรุงเทพฯและหัวเมืองใหญ่ได้สำเร็จ นอกจากนี้ การผลิตซีรีส์ไทยยังช่วยให้บริษัทมีทรัพยากรที่เป็นของตัวเองเพิ่มชึ้น และสามารถนำซีรีส์ดังกล่าวไปต่อยอดในต่างประเทศได้ ด้วยการนำคอนเทนต์ที่ผลิตได้ไปขายในตลาดต่างประเทศ โดยขณะนี้เริ่มมีผู้ประกอบการจากต่างประเทศสนใจซื้อคอนเทนต์ของบริษัทไปออกอากาศบ้างแล้ว
ปัจจุบัน ช่องโมโน 29 มีเรตติ้งในเดือนม.ค.อยู่ที่ 1.2 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดือนธ.ค.ซึ่งมีเรตติ้งอยู่ที่ประมาณ 0.9 ซึ่งจากเรตติ้งที่ปรับเพิ่มขึ้นดังกล่าว ส่งผลให้ต้นเดือนม.ค.ที่ผ่านมา ช่องโมโนได้มีการปรับค่าโฆษณาเพิ่มขึ้นประมาณ 40-50% ในรายการที่มีเรตติ้งมากกว่า 2 ซึ่งจะคิดค่าโฆษณาที่ประมาณ 1 แสนบาทต่อนาที เพื่อให้สอดคล้องกับจำนวนผู้ชมที่เพิ่มสูงขึ้น ส่วนค่าโฆษณาเฉลี่ยทั้งวันจะอยู่ที่ประมาณ 2 หมื่นบาทต่อนาที ซึ่งหลังจากนำรายการใหม่ๆมาออกอากาศอย่างต่อเนื่อง ช่องโมโนคาดว่าสิ้นปี 2560 นี้จะมีเรตติ้งเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1 ส่วนภาพรวมรายได้สิ้นปี 2560 คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตเท่าตัว เนื่องจากปี 2559 รายได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้เล็กน้อย เนื่องจากมีปัจจัยลบเกิดขึ้นในช่วงต้นไตรมาส 4 ประกอบกับภาพรวมเศรษฐกิจในปี 2559 ที่ผ่านมาค่อนข้างชะลอตัว จึงทำให้การดำเนินธุรกิจได้รับผลกระทบตามไปด้วย
อีกหนึ่งช่องที่ออกมาประกาศปรับผังรายการใหม่ตั้งแต่ต้นปี คือ ช่อง 8 ซึ่งคอนเทนต์หลักที่สร้างเรตติ้งให้ช่อง 8 เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ยังคงเป็นในส่วนของรายการข่าว และกีฬา โดยเฉพาะมวย เนื่องจากบางช่วงเวลาสามารถขยับเข้าไปตีตื้นช่องอนาล็อคเดิมอย่างช่อง 3 และช่อง 7 ได้ ซึ่งจากความสำเร็จที่ได้รับดังกล่าว ส่งผลให้บริษัท อาร์เอส ยังคงเดินหน้าปั้นคอนเทนต์ข่าวและกีฬาเป็นหัวหอกหลักในการเรียกเรตติ้ง
นายสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แผนการดำเนินธุรกิจของบริษัทในปีนี้ ยังคงให้ความสำคัญกับกลุ่มธุรกิจทีวีดิจิทัลเป็นหลัก ด้วยการเตรียมงบลงทุนผลิตคอนเทนต์ใหม่ในปีนี้ไว้ที่ประมาณ 700 ล้านบาท เน้นคอนเทนต์ซีรีส์ต่างประเทศและละครเป็นหลัก ซึ่งในส่วนของซีรีส์ต่างประเทศที่คาดว่าจะได้ผลการตอบรับที่ดีเหมือนซีรีส์เกาหลีในปีที่ผ่านมา คือ สีดาราม ศึกรักมหาลงกา อภิมหาซีรีส์ฟอร์มยักษ์จากประเทศอินเดีย โดยจะนำมาออกอากาศทุกวันจันทร์ถึงพฤหัสบดี เวลา 19.00 น.เริ่มวันจันทร์ที่ 23 ม.ค.ที่ผ่านมา เน้นเจาะกลุ่มเป้าหมายทุกเพศทุกวัย
นอกจากนี้ ทุกวันจันทร์ถึงวันพฤหัสบดี ช่อง 8 ยังจะมีละครใหม่แกะกล่องมาออกอากาศ โดยในเฟสแรกจะมีละครมาออกอากาศด้วยกัน 12 เรื่อง ประกอบด้วย เชลยศึก เริ่มออกอากาศวันที่ 1 ก.พ.นี้ และ “เงาเสน่หา” เริ่มออกอากาศวันที่ 20 มี.ค.2560 ส่วนเรื่องอื่นๆ ได้แก่ ทรายย้อมสี, เงาอาถรรพ์, เพลิงรักไฟมาร, เกมรักพยาบาท, เสน่ห์นางครวญ, ใจลวง และคุณผู้หญิงบานเบอะ จะทยอยออกอากาศต่อเนื่องกันไป
ส่วนคอนเทนต์กีฬาวันศุกร์ จะพบกับ “มวยไทย แบทเทิ้ล ศึกค่ายชนค่าย” ศึกแห่งศักดิ์ศรีของค่ายมวยจากทั่วประเทศ, วันเสาร์พบกับ “เดอะ แชมเปี้ยน มวยไทยตัดเชือก” เวทีของผู้ชนะ และวันอาทิตย์พบกับ “8 แม็กซ์มวยไทย” มวยมันส์ระดับโลก สุดยอดแห่งสังเวียนมวย ถือเป็นคอนเทนต์จุดแข็งของช่อง ตอกย้ำการเป็น “คิง ออฟ ไฟต์ สปอร์ต (KING of FIGHT SPORT)”
ขณะที่คอนเทนต์ข่าว จะมีรายการ “ปากท้องต้องรู้” รายการข่าวแนววาไรตี้ ออกอากาศทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ เวลา 16.30 น. และ “ปากท้องต้องรู้ สุดสัปดาห์” ออกอากาศวันเสาร์ถึงอาทิตย์ เวลา 09.00 น. ขณะที่ “เสียงสวรรค์พิชิตล้าน” รายการวาไรตี้ที่ประสบความสำเร็จในปี 2559 ครองใจคอเพลงลูกทุ่งทั้งประเทศ ได้ต่อยอดสู่ “เสียงสวรรค์ฟันน้ำนม” เพื่อขยายฐานผู้ชมไปยังกลุ่มครอบครัว
นายสุรชัย กล่าวว่า จากเรตติ้งที่ปรับเพิ่มขึ้น บริษัทมีแผนที่จะปรับค่าโฆษณาเพิ่มขึ้นเฉลี่ยที่ประมาณ 35-40% ขณะเดียวกันก็จะปรับราคาในส่วนของรายการข่าวและรายการมวยที่ 100% โดยในส่วนของรายการข่าวจะปรับเพิ่มขึ้นจาก 2 หมื่นบาทต่อนาที เพิ่มเป็น 7 หมื่นบาทต่อนาที และรายการมวย ปรับจาก 3-6 หมื่นบาทต่อนาที เพิ่มเป็น 1.2 แสนบาทต่อนาที ซึ่งหลังจากปรับผังรายการใหม่ ช่อง 8 คาดว่าจะมีรายได้สิ้นปี 2560 อยู่ที่ประมาณ 1,945 ล้านบาท และมีผู้ชมเพิ่มขึ้นจาก 3.5 แสนคนต่อนาที เพิ่มเป็น 5.5 แสนคนต่อนาที
ความคึกคักของทีวีดิจิทัลน้องใหม่ที่เริ่มออกมาเขย่าผังรายการ เพื่อเพิ่มผู้ชมกันตั้งแต่ต้นปี น่าจะทำให้ช่องทีวีอนาล็อคเดิม ร้อนๆหนาวๆ พอสมควร เพราะปัจจุบันเรตติ้งและเม็ดเงินโฆษณาที่ไหลเข้าปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง หลังจากประเทศไทยมีฟรีทีวีเพิ่มเป็น 22 ช่อง
ข่าวเด่น