เป็นที่ค่อนข้างจะชัดเจนว่า ในอนาคตการส่งออกจะถูกลดบทบาทลง จากที่เคยเป็นพระเอกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา หลังจากที่เศรษฐกิจโลกมีการเปลี่ยนแปลง โดยเน้นพึ่งพาการบริโภคในประเทศเป็นหลัก "ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ EXIM BANK" ซึ่งเป็นสถาบันการเงินที่ให้บริการด้านนี้ ก็ต้องปรับบทบาทเช่นกัน
นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า ปีนี้ถือเป็นช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านของการปรับบทบาทองค์กรครั้งใหญ่ของ EXIM BANK โดยจะเร่งการผลักดันให้เกิดโครงการต้นแบบของการพัฒนารูปแบบการให้บริการประกัน การส่งออกผ่านช่องทางใหม่ๆ อาทิ การให้บริการทางออนไลน์ เนื่องจาก EXIM BANK เป็นสถาบันการเงินของไทยรายแรกและรายเดียวที่ให้บริการนี้
เพื่อให้ผู้ประกอบการไทย มีเครื่องมือลดความเสี่ยงจากการไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้าส่งออก เนื่องจากความเสี่ยงทางการค้าและการเมือง ควบคู่กับการส่งเสริมการค้าและการทำธุรกรรมออนไลน์ เพื่อช่วยลดต้นทุนให้แก่ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะเอสเอ็มอีในการส่งออกสินค้าไทยไปยังตลาดค้าปลีกและค้าส่งทั่วโลก
ขณะเดียวกัน เมื่อโมเดลการค้าการลงทุนเปลี่ยนไป การส่งออกไม่ใช่ตัวหลักในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ขณะที่การลงทุนในต่างประเทศเป็นทางเลือกใหม่ ที่ช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าถึงตลาด และก้าวข้ามมาตรการทางการค้าที่มิใช่ภาษีศุลกากร
ดังนั้น ปีนี้ เอ็กซิมแบงก์ จะเร่งส่งเสริมการลงทุนของไทยในต่างประเทศ โดยจะทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ สนับสนุนข้อมูลในเชิงลึกและเงินทุนสำหรับโครงการลงทุนให้แก่นักลงทุนไทยที่พร้อม และมีศักยภาพขยายการลงทุนไปต่างประเทศ ทั้งการสร้างโรงงานผลิตและการประกอบกิจการการค้าในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะใน CLMV (กัมพูชา,สปป.ลาว,เมียนมา,เวียดนาม) ซึ่งเอ็กซิมแบงก์กำลังทยอยเข้าไปเปิดสำนักงานตัวแทน เพื่อทำงานร่วมกับไทยแลนด์ทีมในการสนับสนุนการขยายการค้าการลงทุนของไทยในตลาดดังกล่าว
ทั้งนี้ ภายใต้บทบาทใหม่ของ EXIM BANK เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประเทศ ในปี 2560 EXIM BANK จะเริ่มต้นดำเนินงานตามแผนแม่บท 10 ปี (ปี 2560-2570) โดยมีเป้าหมายเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (Specialized Financial Institution : SFI) ชั้นนำระดับโลกที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การค้าและการลงทุนระหว่างประเทศของไทย ที่สอดคล้องกับ Thailand 4.0 แผนยุทธศาสตร์ 20 ปีของประเทศ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (ปี 2560-2564)
โดย แผนแม่บท 10 ปี จะใช้จุดแข็งของเอ็กซิมแบงก์เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ไทยอย่างยั่งยืนในระยะยาว จากปัจจุบัน เอ็กซิมแบงก์ เป็น SFI ที่มีส่วนสนับสนุนรายได้มวลรวมประชาชาติ (Gross National Income : GNI) ของไทย 1.0% จะเพิ่มขึ้น 1.5% ในอีก 10 ปีข้างหน้า เป็น 2.5% ของ GNI ช่วยสนับสนุนผู้ส่งออกและการเติบโตของภาคการส่งออกของไทยได้เพิ่มมากขึ้น การส่งเสริมการลงทุนโดยตรงของไทยในต่างประเทศ ตลอดจนการส่งเสริมการจ้างงาน การเสริมสร้างองค์ความรู้ทางการเงินให้แก่ผู้ประกอบการไทย ส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมของผู้ประกอบการไทย การขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล และการพัฒนาประเทศไทยอย่างยั่งยืน
สำหรับผลการดำเนินงานของเอ็กซิมแบงก์ ปี 2559 ที่ผ่านมา มีกำไรสุทธิ 1,304 ล้านบาท โดย สิ้นเดือน ธ.ค.2559 มีเงินให้สินเชื่อคงค้าง 83,169 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อน 9,630 ล้านบาท ซึ่งเป็นสินเชื่อใหม่ที่เบิกจ่ายเพิ่มขึ้นในระหว่างปี 25,327 ล้านบาท และมีการชำระคืนของสินเชื่อเดิมบางส่วน ทำให้เกิดปริมาณธุรกิจ (Business Turnover) 133,993 ล้านบาท โดยเป็นปริมาณธุรกิจของ SMEs เท่ากับ 86,497 ล้านบาท และมีเงินให้สินเชื่อคงค้างแก่ SMEs 35,031 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5,848 ล้านบาท หรือ 20.04% เมื่อเทียบกับปีก่อน
ด้านการรับประกันการส่งออกและการลงทุน ในปี 2559 เอ็กซิมแบงก์ มีปริมาณธุรกิจส่งออกและลงทุนรวมด้านรับประกัน 56,486 ล้านบาท โดย 11,255 ล้านบาท เป็นธุรกิจส่งออกของ SMEs หรือ19.92% ของปริมาณธุรกิจสะสมรวม ส่วนด้านการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยขยายฐานการค้าและการลงทุนไปยังตลาดใหม่ ปัจจุบัน EXIM BANK มีวงเงินให้การสนับสนุนแก่สินเชื่อโครงการระหว่างประเทศรวมทั้งสิ้น 56,382 ล้านบาท
อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพของธนาคาร (NPLs Ratio) ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2559 อยู่ที่ 3.57% โดยมีสินเชื่อด้อยคุณภาพ จำนวน 2,970 ล้านบาท ลดลง 1,023 ล้านบาทจากปีก่อน และมีเงินสำรองหนี้สงสัยจะสูญจำนวน 6,842 ล้านบาท โดยเป็นสำรองหนี้พึงกันตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทยจำนวน 2,675 ล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินสำรองที่กันไว้แล้วต่อสำรองพึงกัน 255.81% ทำให้ธนาคารยังคงดำรงฐานะการเงินที่มั่นคง
ข่าวเด่น