การตลาด
สกู๊ป "ฟาสต์ฟู้ด" เปิดศึก เร่งธุรกิจเติบโตเร็ว


คึกคักตั้งแต่ต้นปีสำหรับธุรกิจร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด เนื่องจาก 2 ยักษ์ยักษ์อย่างเคเอฟซี และแมคโดนัลด์  ออกมาประกาศแผนการดำเนินธุรกิจกันอย่างดุเดือด  เริ่มจากบริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ออกมาประกาศแผนว่า จะขายจำนวนร้านสาขาเคเอฟซีที่บริหารด้วยตัวเองทั้งหมด  ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 244 สาขา ให้กับนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศที่สนใจจะเข้ามาร่วมทำธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดภายใต้แบรนด์เคเอฟซี เพื่อลดความเสี่ยงในการทำธุรกิจและลดต้นทุนในการบริหารงาน

 

แนวทางธุรกิจดังกล่าว ถือว่าสอดคล้องกับแนวทางของบริษัทแม่ในต่างประเทศ ที่มีเป้าหมายจะปรับรูปแบบธุรกิจร้านเคเอฟซี ให้เป็นระบบแฟรนไชส์ 98%  ส่วนที่เหลืออีก 2% ดำเนินธุรกิจด้วยตัวเอง เพื่อสร้างเป็นร้านต้นแบบให้กับนักลงทุนที่เข้ามาร่วมธุรกิจแฟรนไชส์ แต่สำหรับในประเทศไทย บริษัท ยัมฯ ได้มีการปรับรูปแบบธุรกิจให้ต่างไปจากบริษัทแม่เล็กน้อย ด้วยการให้ธุรกิจขยายโดยแฟรนไชส์ 100%  โดยมีบริษัท ยัมฯ ทำหน้าที่เป็นผู้สนับสนุนแฟรนไชส์ในด้านการสร้างแบรนด์ ปกป้องชื่อเสียงแบรนด์ ดูแลตรวจสอบสาขาให้เป็นไปตามมาตรฐาน ออกแบบสาขารูปแบบใหม่ ออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ และเน้นสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า

นางแววคนีย์ อัสโสรัตน์กุล ผู้จัดการทั่วไปเคเอฟซี ประเทศไทย บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ในปีนี้บริษัทได้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการดำเนินธุรกิจ จากเดิมเป็นเจ้าของธุรกิจลงทุนเปิดสาขาด้วยตัวเอง ปรับเปลี่ยนมาเป็นผู้ให้บริการแฟรนไชส์ 100% (รีแฟรนไชส์) ซึ่งในปีที่ผ่านมาบริษัทได้เริ่มมีการปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจเป็นแฟรนไชส์ไปบ้างแล้ว  ด้วยการขายแฟรนไชส์ร้านเคเอฟซีจำนวน 130 สาขา ที่บริษัทลงทุนด้วยตัวเองให้กับบริษัท เรสเทอรองตส์ ดีเวลลอปเม้นต์ จำกัด (อาร์ดี)  หลังจากก่อนหน้านี้ได้ขายแฟรนไชส์ไชส์ร้านเคเอฟซีให้กับบริษัท ซีอาร์จี อินเตอร์เนชั่นแนล ฟู้ด จำกัด ไปประมาณ 219 สาขา

ทั้งนี้ ในส่วนของร้านแฟรนไชส์ที่ขายให้กับบริษัท เรสเทอรองตส์ฯ ไปนั้น ขณะนี้ได้รับมอบ เพื่อนำไปบริหารต่อแล้วจำนวน 123 สาขา  ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 7 สาขา  คาดว่าภายใน 3-4 เดือนนับจากนี้ น่าจะรับไปบริหารได้ครบ ซึ่งจากแนวทางการดำเนินธุรกิจดังกล่าว ส่งผลให้ปัจจุบันบริษัท ยัมฯ มีบริษัทที่สนใจเข้ามาซื้อธุรกิจแฟรนไชส์ของร้านเคเอฟซีแล้วด้วยกัน 2 ราย คือ บริษัท เรสเทอรองตส์ ดีเวลลอปเม้นต์ จำกัด และบริษัท  ซีอาร์จี อินเตอร์เนชั่นแนล ฟู้ด จำกัด

นางแววคนีย์  กล่าวต่อว่า ตั้งแต่วันที่ 25 ม.ค.ที่ผ่านมา บริษัทได้มีการปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจร้านเคเอฟซีเข้าสู่กระบวนการรีแฟรนไชส์อย่างเต็มรูปแบบไปเรียบร้อยแล้ว โดยจะขายสาขาที่เป็นเจ้าของที่เหลือทั้งหมด 244 สาขาให้แฟรนไชส์ดำเนินการต่อ มีบริษัท ไพร์ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ ดูแลกระบวนการต่างๆ ในการขาย คาดจะดำเนินการจบเดือน ก.ย.นี้ ซึ่งจะทำให้ร้านเคเอฟซีทั้งหมดในไทยเป็นระบบแฟรนไชส์ 100% จากปัจจุบัน บริษัท ยัมฯ ลงทุนขยายธุรกิจด้วยตัวเองประมาณ 42%  ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 58%  เป็นของแฟรนไชส์ 58%  แบ่งเป็นของบริษัท ซีอาร์จี อินเตอร์เนชั่นแนล ฟู้ด  จำกัด  219 สาขา หรือประมาณ 37% และบริษัท เรสทอรองตส์ ดีเวลลอปเม้นต์ จำกัด  จำนวน 123 สาขา หรือประมาณ 21%

สำหรับ เงื่อนไขสำคัญผู้ที่จะเข้ามาซื้อแฟรนไชส์ร้านเคเอฟซีนั้น  บริษัท ยัมฯ กำหนดไว้ว่า  ต้องเป็นบริษัทที่มีเงินที่จะขยายสาขาได้, มีความเข้าใจในธุรกิจและมาตรฐานต่างๆ ของเคเอฟซีเป็นอย่างดี ส่วนพนักงานร้านทั้ง 244 แห่ง หรือ เกือบ 10,000 คน ทางบริษัท ยัมฯ ก็จะเยียวยามากกว่าที่กฎหมายในประเทศไทยกำหนดไว้ พร้อมทั้งให้นักลงทุนรายใหม่ช่วยพิจารณาให้ทำงานต่อ รวมถึงดูแลสวัสดิการต่างๆ  แต่ทั้งนี้ทุกอย่างก็จะขึ้นอยู่กับพันธมิตรรายใหม่

นางแววคนีย์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของการขายแฟรนไชส์ให้กับบริษัท เรสเทอรองตส์ฯ ไปเมื่อปีที่ผ่านมา จำนวน 130 สาขานั้น ยังใช้พนักงานเดิมเกือบทั้งหมด เพราะพนักงานส่วนใหญ่สามารถทำงานได้ทันทีโดยไม่ต้องเสียเวลาในการฝึกทักษะด้านต่างๆ ใหม่  ส่วนพนักงานขององค์กรบริษัท ยอมรับว่าจำเป็นที่ต้องลดจำนวนพนักงานลงเช่นกัน เพื่อให้มีความเหมาะสมกับรูปแบบและบทบาทของธุรกิจใหม่ ซึ่งทีมผู้บริหารมีความตั้งใจที่จะช่วยเหลือพนักงานทุกคนอย่างเต็มที่

สำหรับแนวทางการขยายธุรกิจร้านเคเอฟซีในปีนี้นั้น บริษัท ยัมฯ มีแผนที่จะเปิดร้านเคเอฟซีสาขาใหม่อีกประมาณ 52 สาขา เพื่อให้ธุรกิจเดินไปตามแผนการดำเนินงาน
ที่วางไว้ว่า ในปี 2563  ร้านเคเอฟซีจะต้องมีจำนวนสาขาที่เปิดให้บริการทั่วประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 800 สาขา จากปัจจุบันมีร้านเคเอฟซีเปิดให้บริการทั่วประเทศประมาณ 586 สาขา พร้อมกันนี้ ยังเตรียมที่ใช้งบการตลาดอีกกว่า 700 ล้านบาท  เพื่อสร้างแบรนด์สินค้าให้เข้าไปอยู่ในในของผู้บริโภค  ด้วยการทำกิจกรรมการตลาดอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการเปิดตัวสินค้าใหม่เข้ามาทำตลาด เพื่อกระตุ้นยอดขายให้เติบโตได้ตรงตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยในปี 2560 นี้ คาดว่าจะมีรายได้เติบโตเป็นตัวเลข 2 หลัก

 

ในด้านของร้านแมคโดนัลด์ แม้ว่าจะไม่มีแผนขายแฟรนไชส์ต่อให้กับผู้ที่สนใจเหมือนกับประเทศมาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ที่มีการขายแฟรนไชส์ต่อให้กับผู้ประกอบการที่สนใจเข้ามาร่วมธุรกิจ เพราะภูมิประเทศไม่เอื้อต่อการขายส่งสินค้า โดยเฉพาะประเทศฟิลิปปินส์ เนื่องจากภูมิประเทศเป็นหมู่เกาะ ทำให้การเดินทางขนส่งสินค้าทำได้ยากลำบาก  การมีพันธมิตรที่เชี่ยวชาญในด้านของเส้นทางเพื่อร่วมขยายธุรกิจ จึงมีความสำคัญอย่างมากสำหรับการดำเนินธุรกิจร้านแมคโดนัลด์ในประเทศฟิลิปปินส์

ส่วนแผนการดำเนินธุรกิจในปีนี้  บริษัท แมคไทย มีแผนที่จะกลับมาขยายร้านแมคโดนัลตามปกติเหมือนที่ผ่านมา  ด้วยการเปิดร้านใหม่ไม่ต่ำกว่า 20-25 สาขาต่อปี  หลังจากปีที่ผ่านมาต้องประสบกับปัจจัยลบทางเศรษฐกิจ และกำลังซื้อ รวมไปถึงธุรกิจค้าปลีกมีการเลี่อนเปิดโครงการใหม่ ส่งผลให้บริษัท แมคไทย  ต้องลดจำนวนการเปิดสาขาร้านแมคโดนัลลงเหลือเพียง 17 สาขาเท่านั้น

 

นายเฮสเตอร์ ชิว ประธานกรรมการ และ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แมคไทย จำกัด กล่าวว่า การดำเนินธุรกิจในปีที่ผ่านมา นับเป็นปีที่ยากลำบาก ทั้งในแง่ยอดขายและแผนการดำเนินธุรกิจที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย แต่อย่างไรก็ดี  บริษัทมีความเชื่อมั่นในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่เป็นไปในทิศทางบวก รวมถึงโครงสร้างธุรกิจที่แข็งแกร่งและบุคลากรของแมคไทยที่มีความมุ่งมั่นในการทำงาน โดยในปี 2560 นี้ บริษัทมีแผนที่จขยายตลาดให้ครอบคลุมลูกค้าใหม่ ด้วยการขยายร้านใหม่จำนวน  20 – 25 สาขาทั้งในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด ซึ่งในจำนวนดังกล่าว 50% จะเป็นการเปิดสาขาในรูปแบบไดร์ฟ ทรู

นอกจากนี้ บริษัท แมคไทย ยังจะใช้กลยุทธ์การทำตลาด เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยการรสร้าง engagement ของพนักงาน ผ่านการฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากร เพราะการบริหารร้านที่ดีด้วยทีมงานที่ได้รับการฝึกอบรมอย่างดี และการสร้างแรงจูงใจในการทำงานเป็นทีมนั้น เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งในการดำเนินธุรกิจร้านอาหาร เพื่อมอบการบริการที่ประทับใจให้กับลูกค้า

ปัจจุบัน ร้านแมคโดนัลด์ มีจำนวนสาขาเปิดให้บริการอยู่ที่ประมาณ 239 สาขา มีลูกค้าเข้ามาใช้บริการมากกว่า 8 ล้านคนต่อเดือน เนื่องจากมีเมนูอาหารที่หลากหลายตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งในส่วนของปีนี้บริษัท แมคไทย ก็มีแผนที่จะเปิดตัวเมนูอาหารใหม่ๆ เข้ามาทำตลาดอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความตื่นเต้นและเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้า

อย่างไรก็ดี หลังจากบริษัท แมคไทยเดินหน้าขยายร้านแมคโดนัลด์สาขาใหม่อย่างต่อเนื่องปีละ 20-25 สาขา  ภายใต้งบลงทุนปีละประมาณ 1,000-1,100 ล้านบาท คาดว่าอีกประมาณ 10 ปีนับจากนี้จะมีจำนวนสาขาเปิดให้บริการทั่วประเทศไม่ต่ำกว่า 500 สาขา ส่วนภาพรวมรายได้สิ้นปี 2560 นี้ หลังจากออกมารุกหนักคาดการณ์ว่าจะกลับมาเติบโตได้ที่ 15-18% ได้อย่างแน่นอน ซึ่งถือว่าเติบโตสูงกว่าปีที่ผ่านมาที่มีรายได้เติบโตไม่ถึง 10%  เพราะได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบเศรษฐกิจ

การออกมาปรับแผนการดำเนินธุรกิจของร้านเคเอฟซี ด้วยการขายแฟรนไชส์ร้าน เพื่อให้ธุรกิจขยายตัวเร็วขึ้นและลดต้นทุนในการลงทุน กับร้านแมคโดนัล์ที่ยังคงยืนยันที่จะขยายสาขาด้วยตัวเองปีละ 20-25 สาขา ใครจะประสบความสำเร็จมากกว่ากัน คงต้องดูที่ประสิทธิภาพในด้านของการบริการด้วย ถ้าค่ายไหนบริการได้โดนใจของผู้บริโภคก็รับใจจากผู้บริโภคเต็มๆ

              


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 09 ก.พ. 2560 เวลา : 05:38:10
26-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 26, 2024, 8:47 am