LH BANK เดินเครื่องจับมือทุกบริษัทในกลุ่ม ลุยธุรกรรมดิจิตอล ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้า ตั้งเป้าสินเชื่อโต 6-10% คุมเอ็นพีแอลไม่เกิน 18% กันสำรองไม่เกิน 120% "ศศิธร" เผยเหตุล่าช้า "CTBC" ร่วมทุน อยู่ระหว่างการพิจารณาอนุมัติจากทางการไต้หวัน ให้กำหนดเวลาแค่สิ้นมีนาคม 60 ก่อนจะเดินแผนสอง ระบุผู้ถือหุ้นเดิมพร้อมเพิ่มทุน
นางศศิธร พงศธร (ฉัตรศิริวิชัยกุล) กรรมการผู้จัดการ ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) (LH Bank) เปิดเผยถึงแผนธุรกิจปี 2560 ว่า ในปีนี้ตั้งเป้าการเติบโตของสินเชื่อ ที่ 6-10% โดยคาดว่าสินเชื่อรายย่อยจะเติบโตที่ 10-15% และสินเชื่อรายใหญ่เติบโตที่ 5-6% อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ จะเพิ่มความระมัดระวังในการควบคุมคุณภาพสินทรัพย์และสินเชื่อ โดยจะควบคุมอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวม (NPL-to-Loan Ratio) ให้ไม่เกิน 1.80% จากปีก่อนอยู่ที่ 1.76% ซึ่งต่ำกว่า NPL ของทั้งระบบที่เฉลี่ยอยู่ที่ 2.8% ขณะที่จะกันสำรองหนี้สงสัยจะสูญไม่เกิน 120% จากปีก่อนที่ 119.6% จึงมีความแข็งแกร่งด้านเงินสำรองและสามารถรองรับความผันผวนทางเศรษฐกิจในอนาคต
สำหรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจจะขยายสินเชื่อ ฐานเงินฝาก และเพิ่มรายได้ค่าธรรมเนียม โดยธนาคารจะกำหนดเป้าหมายลูกค้าที่ชัดเจน โดยการทำ Customer Segmentation เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้ตอบโจทย์และตรงกับ ความต้องการที่หลากหลายของลูกค้าแต่ละกลุ่ม นอกจากนี้ จะลดต้นทุนทางการเงินด้วยการขยายฐานเงินฝากต้นทุนต่ำ รวมถึงบริหารจัดการค่าใช้จ่ายให้มีประสิทธิภาพ โดยรักษาระดับ Cost-to-Income ไม่เกิน 45% โดยมองว่าการพัฒนาเทคโนโลยีเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลดีต่อต้นทุนในระยะยาว ตลอดจนการพัฒนาศักยภาพและองค์ความรู้ของพนักงาน โดยเฉพาะพนักงานสาขาจะมีการปรับบทบาทหน้าที่ ให้เป็นที่ปรึกษาด้านการเงิน ตลอดจนเป็นนักวางแผนการเงินให้ลูกค้า เพื่อให้ลูกค้าได้รับประโยชน์จากการลงทุนและการออมสูงสุด
“ช่วง2-3 ปีที่ผ่านมา ธนาคารได้เน้นพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อเข้าสู่การเป็นธนาคารดิจิตอล หรือ Digital Banking อย่างเต็มตัว ซึ่งจากนี้ไปเทคโนโลยีที่ทันสมัย ความสะดวกสบาย ปลอดภัย และรวดเร็วจะเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการ รวมทั้งการทำ Big Data Analysis เพื่อช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้เหมาะกับความต้องการของลูกค้าในเชิงลึกมากขึ้น”นางศศิธรกล่าว
กรรมการผู้จัดการ ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับ Platform ที่ธนาคารพัฒนาบริการ ได้แก่ แอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ หรือ Mobile Banking Application ที่สามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้สะดวกและรวดเร็ว ทุกวัน ทุกที่ ทุกเวลา และมีความปลอดภัยสูง , การออกบัตรเดบิตร่วมกับ UnionPay ที่สามารถเบิกถอนเงินสดหรือซื้อสินค้าจากร้านค้าต่างๆ ได้ทั่วโลก ที่มากับมาตรฐานความปลอดภัยด้วยบัตร LH Bank Debit Chip Card ที่มีความปลอดภัยสูง ป้องกันการปลอมแปลงจากภัย Skimmer รวมถึงบริการ LH Bank PromptPay (พร้อมเพย์) ซึ่งเป็นบริการรับ-โอนเงินรูปแบบใหม่ เพื่อลดการพกพาเงินสด โดยการผูกบัญชีเงินฝากของธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ กับหมายเลขบัตรประชาชนหรือหมายเลขโทรศัพท์มือถือ ก็สามารถรับ-โอนเงินได้ง่ายๆ เพียงใช้หมายเลขบัตรประชาชนหรือหมายเลขโทรศัพท์มือถือ โดยไม่ต้องใช้เลขที่บัญชีเงินฝาก สามารถใช้บริการ LH Bank PromptPay ผ่าน 4 ช่องทาง ได้แก่ 1. โทรศัพท์มือถือ (LH Bank M Choice) 2. อินเตอร์เน็ตแบงกิ้ง (LH Bank Speedy)3. ตู้ ATM LH Bank 4. สาขาของธนาคาร
สำหรับการขยายเครือข่ายสาขาของ ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ปัจจุบันมีสาขารวม 133 สาขา แบ่งเป็นสาขาในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล 47 สาขา และสาขาในภูมิภาค 86 สาขา หรือคิดเป็นสัดส่วน 35% และ 65% ตามลำดับ ซึ่งกลยุทธ์ด้านสาขาจะมุ่งเน้นด้านการให้บริการที่มีคุณภาพ เป็นที่ปรึกษาด้านการเงิน และการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจจากลูกค้า และการปรับรูปแบบการให้บริการให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของลูกค้ามากขึ้น
ด้านการดำเนินธุรกิจ ธนาคารยังคงมุ่งเน้นความเชื่อมโยงกันของกลุ่มการเงินแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ โดยการนำผลิตภัณฑ์และบริการของบริษัทในกลุ่มมาเพิ่มช่องทางบริการด้านการเงินให้สมบูรณ์ ครบวงจร เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ลูกค้า เช่น ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ร่วมกับ บมจ. หลักทรัพย์ แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ให้บริการเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ Online ผ่านเว็บไซต์ www.lhbankspeedy.com โดยใช้รหัสผู้ใช้งานเดียวกัน (Single Sign On) ซึ่งทำให้ง่ายต่อการใช้บริการ อาทิ การเปิดบัญชีหุ้นและอนุพันธ์ การชำระค่าซื้อ/ฝากเงิน/โอนเงินหลักประกันการหักบัญชีอัตโนมัติ การดูข้อมูลพอร์ตการลงทุน เป็นต้น ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะเพิ่มความสะดวกให้กับลูกค้าในการเข้าถึงการลงทุนหุ้นหรืออนุพันธ์ได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องล็อกอินอีกครั้ง
นอกจากนี้ ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จะร่วมกับ บลจ. แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ในการออกผลิตภัณฑ์กองทุนรวมต่างๆ ร่วมกับผลิตภัณฑ์ทางการเงินของธนาคาร รวมถึงการเพิ่มช่องทางให้ลูกค้าสามารถตรวจสอบความเคลื่อนไหวในพอร์ตการลงทุนผ่าน Internet Banking ของธนาคารที่สามารถดูยอดคงเหลือในบัญชีกองทุน ดูกำไร ขาดทุน ในพอร์ตการลงทุน
ทั้งนี้ ธนาคารมองว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ดีจากปีก่อนที่อยู่ที่ 2.8% เป็นประมาณ 3.2% ผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผลการดำเนินงานของธนาคารสามารถทำได้ดี และคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2560 จะขยายตัวได้ดีจากปี 2559 จากปัจจัยหนุนหลักๆ ได้แก่ การฟื้นตัวของการส่งออก การลงทุนของเอกชน การลงทุน เมกะโปรเจกต์ของภาครัฐขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนธุรกิจภาคการท่องเที่ยวและโรงแรม อันเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ
นางศศิธรกล่าวถีงผลการดำเนินงานในปี 2559 ของ บริษัท แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (LHBANK) ว่า มีกำไรสุทธิ 2,696 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 63.3% หลักๆ มาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่เพิ่มขึ้น 10.8% ตามการขยายตัวของสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 5.7% รวมทั้งรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนสูงถึง 80.8% มาจากกำไรจากเงินลงทุน เงินปันผล ตลอดจนรายได้ค่าธรรมเนียมที่เพิ่มขึ้น 46.1% สะท้อนถึงการควบคุมค่าใช้จ่ายได้อย่างประสิทธิภาพ ทำให้ค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้รวม (Cost-to-Income Ratio) ลงมาอยู่ที่ 37.3% จากปีก่อนอยู่ที่ 43.3%
ด้านสินทรัพย์รวมอยู่ที่ 212,147 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อน 6.3% เป็นผลมาจากการเติบโตของสินเชื่อ 5.7% โดยมีสัดส่วนโครงสร้างสินเชื่อ Corporate 65% สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อ SMEs อยู่ที่ 20% และ 15% ตามลำดับ มีสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) ในระดับต่ำเพียง 1.76% ของเงินให้สินเชื่อรวม สะท้อนให้เห็นถึงการควบคุมคุณภาพของสินเชื่ออยู่ในเกณฑ์ดี และการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญต่อสำรองพึงกันที่ 185% อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ที่ 120%
โดยที่ผ่านมา ธนาคารได้รับการจัดอันดับเครดิตองค์กร โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ที่ระดับ “A-” (Single A Minus) และอันดับเครดิตตราสารหนี้ประเภทหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ที่ระดับ “BBB” (Triple B Straight) และเครดิตพินิจ (Credit Alert) แนวโน้ม “Positive” แสดงให้เห็นถึงสถานะทางธุรกิจและการเงิน ของธนาคารที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการมีคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีและมีเงินทุนที่แข็งแกร่ง
นางศศิธรกล่าวถึง ความคืบหน้าการร่วมเป็นพันธมิตรกับ CTBC ธนาคารจากประเทศไต้หวันว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาอนุญาตจากทางการไต้หวัน ซึ่งคาดว่าทุกอย่างจะจบสิ้นได้ในเดือนกันยายน ปี 2560 นี้ ซึ่งเมื่อเดือน พ.ค.2559 ที่ผ่านมา ทาง CTBC ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบฐานะทางการเงิน หรือ ดิวดิลิเจนท์ เสร็จเรียบร้อยแล้ว ฉะนั้นเรื่องคุณภาพสินเชื่อและ NPL จึงไม่ใช่ประเด็นที่ CTBC กังวลแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม ธนาคารขอยืนยันว่าสาเหตุความล่าช้าในการร่วมเป็นพันธมิตรกับ CTBC ไม่ใช่ประเด็นเรื่องคุณภาพสินเชื่อหรือ NPL ของธนาคารแต่อย่างใด เพราะจะเห็นได้ว่าสินเชื่อด้อยคุณภาพของธนาคารอยู่ในระดับต่ำเพียง 1.76% เท่านั้น ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำสุดในระบบ แต่สาเหตุเกิดจากทางการของไต้หวันยังไม่ได้อนุมัติให้ CTBC เข้าร่วมทุนกับธนาคารได้ ทำให้ขั้นตอนดำเนินการต่างๆ ต้องรอการอนุมัติจากทางการไต้หวันก่อน โดยตามแผน CTBC จะเข้ามาถือหุ้นในสัดส่วน 35.6% คิดเป็นเม็ดเงินลงทุนประมาณ 16,000 ล้านบาท
สำหรับกระบวนดำเนินการ หากทางการไต้หวันอนุมัติแล้วซึ่งจะต้องไม่เกินเงื่อนเวลาที่ธนาคารกำหนดคือเดือนมีนาคม 2560 หลังจากนั้นธนาคารก็จะนำเรื่องทั้งหมดเสนอขออนุมัติต่อธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ธนาคารสามารถดำเนินการร่วมทุนได้ จากนั้นจึงจะส่งเรื่องไปที่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และหลักทรัพย์ (ก,ล,ต,) และตลาดหลักทรัพขย์ และจัดประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อขออนุมัติเพิ่มทุน เพื่อนำหุ้นใหม่เสนอขายเป็นการเฉพาะเจาะจงกับ CTBC โดยไม่มีการจัดสรรให้กับผู้ถือหุ้นเดิม ต่อจากนั้นเมื่อผู้ถือหุ้นอนุมัติแล้ว จะต้องส่งกลับไปที่ทางการไต้หวันอีกครั้งหนึ่งเพื่ออนุมัติเม็ดเงินให้ CTBC นำเงินมาลงทุนได้ กระบวนการทั้งหมดนี้หากไม่มีความล่าช้าอะไรเลยจะเสร็จสิ้นภายในเดือนกันยายน 2560 อย่างไรก็ดี อยากจะเรียนว่าอะไรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการอนุมัติของทางการ ต้องเข้าใจว่าเป็นสิ่งที่ไม่อาจจะควบคุมได้ ซึ่งธนาคารก็เข้าใจซึ่งกันและกัน แต่ทั้งนี้หากในที่สุดเลยกำหนดเวลาก็เตรียมแผนสำรองไว้แล้ว ซึ่งแผนสองที่เตรียมไว้แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ ซึ่งแผนสองธนาคารก็ยังเติบโต
“เราให้เวลา CTBC จนถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2560 เท่านั้น หากเลยเวลาดังกล่าว ธนาคารคงจะต้องล้มเลิกแผนการร่วมทุนของ CTBC อย่างไรก็ตาม ธนาคารได้เตรียมแผนสองไว้แล้วในการหาเงินทุนเพื่อสร้างการเติบโตให้กับกลุ่มธุรกิจของธนาคารในอนาคต และเรื่องนี้ทางกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมต่างก็ยืนยันและพร้อมที่จะใส่เงินเพิ่มทุนเพื่อให้ธนาคารขยายธุรกิจและเติบโตต่อไปได้ ธนาคารขอยืนยันไม่ว่าจะมีพาร์เนอร์เข้ามาร่วมทุนหรือไม่ก็ตาม ธนาคารและกลุ่มธุรกิจของธนาคารก็ต้องเติบโตต่อไป ซึ่งเป็นปรัชญาของกลุ่มผู้ถือหุ้นอยู่แล้ว แบงก์ยังต้องโต กลุ่มการเงินของธนาคารก็ต้องโต เพราะในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา บ่งชี้ชัดเจนว่าเราเติบโตได้ด้วยตนเองจริงๆ”นางศศิธรกล่าว
นางศศิธรกล่าวอธิบายถึง กระบวนดำเนินการหลังได้ผู้ร่วมลงทุนใหม่แล้ว ว่า วันที่ 1 กันยายน 2560 จะต้องใส่เงินเข้ามา หลังจากนั้นจะใช้เวลาในการเตรียมการวางระบบต่างๆอีกไม่เกิน 1 ปี ถึงจะเริ่มดำเนินธุรกิจอย่างจริงจังได้ ซึ่งสิ่งที่ธนาคารปรารถนาจากการดึง CTBC เข้ามาร่วมลงทุนด้วย คือ การต่อยอดธุรกิจให้กับกลุ่มธุรกิจการเงินของธนาคารได้ โดยเฉพาะ ทางด้านเทรดไฟแนนซ์ ที่ทาง CTBC มีฐานลูกค้าอยู่ในประเทศไทยพอสมควร ทั้งลูกค้าชาวไต้หวันและต่างชาติ จากการที่เขาตั้งสำนักงานอยู่ในประเทศไทยมากว่า 20 ปี ซึ่งธุรกรรมทางด้านเทรดไฟแนนซ์จะเอื้อประโยชน์ทำให้ธนาคารรุกเข้าไปขยายธุรกรรมใน CLMV เปิดฐานลูกค้าที่เป็น CLMV ซึ่งทาง CTBC เองก็มีฮับเป็นอันดับหนึ่งในประเทศเวียดนามอยู่แล้ว ฉะนั้นหลังจากธนาคารรุกขยายธุรกิจได้อย่างเต็มที่ตามแผน สินเชื่อก็จะเติบโตมากขึ้นอย่างแน่นอน แต่เป้าสินเขื่อโต 6-10% เป็นเป้าเฉพาะปีนี้เท่านั้น ยังไม่รวมที่มีผู้ร่วมลงทุนใหม่เข้ามา นอกจากนี้เม็ดเงินใหม่ที่ CTBC ใส่เข้ามาจะรองรับการเจริญเติบโตและขยายธุรกิจและสินเชื่อได้อีกหลายปีทีเดียว
นางศศิธรกล่าวทิ้งท้ายว่า ขบวนการคัดเลือกผู้ร่วมลงทุนใหม่ ธนาคารต้องการอยากได้ผู้ร่วมทุนที่มาช่วยต่อยอดธุรกิจให้กับกลุ่มธุรกิจการเงินของเราได้ เป็นบิสสิเนตพาร์เนอร์จริงๆ ไม่ใช่เพียงนำเงินมาลงทุนและรอรับผลประโยชน์กลับไป โดยไม่ได้มาช่วยนำเสนอผลงานและลงมือปฎิบัติ ซึ่งก็ถือว่า CTBC ตอบโจทย์สิ่งที่เราต้องการได้
ด้าน นายมนรัฐ ผดุงสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (LH Fund) กล่าวว่า แผนในปีนี้ ตั้งเป้า AUM เติบโต 15-20% จากปีก่อนที่มีมูลค่ารวม 64,200 ล้านบาท โดยปีนี้จะออกกองทุนใหม่ประมาณ 15-18 กองทุน มูลค่ารวม 15,000 ล้านบาท เน้นการออกกองทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศโดยเฉพาะในประเทศแถบเอเชีย อาทิ ญี่ปุ่น
“ปี 2560 LH Fund มีแผนออกกองทุนใหม่อย่างต่อเนื่อง ทั้งกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในไทยและในต่างประเทศ เพื่อเป็นทางเลือกในการกระจายการลงทุนและเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนที่ดี รวมทั้งวางเป้าหมายที่จะเพิ่มขนาดกองทุนภายใต้การบริหารจัดการเพิ่มขึ้นอีก 15-20% และเพิ่มส่วนแบ่งตลาดในอุตสาหกรรมให้มากขึ้น โดยอาศัยความเชี่ยวชาญการบริหารจัดการภายใต้กลยุทธ์ Asset Allocation ที่กระจายการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีแก่นักลงทุน”นายมนรัฐกล่าว
นายมนรัฐกล่าวต่อไปว่า สำหรับภาพรวมผลการดำเนินงานการบริหารจัดการกองทุนในปี 2559 อยู่ในระดับที่น่าพอใจ แม้ปีที่ผ่านมาต้องเผชิญกับภาวะตลาดเงินตลาดทุนที่ค่อนข้างผันผวนจากทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศที่ส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุน ปี 2559 LH Fund มีขนาดกองทุนรวมที่อยู่ภายใต้การบริหารจัดการทั้งสิ้นประมาณ 64,200 ล้านบาท แบ่งเป็น กองทุนรวม กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ และทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) รวมกันเพิ่มขึ้น 29% เมื่อเทียบกับปี 2558 และมีส่วนแบ่งการตลาดในอุตสาหกรรมเป็นอันดับที่ 10 จากทั้งหมด 22 บลจ.ซึ่งการเติบโตดังกล่าวดีกว่าภาพรวมอุตสาหกรรมกองทุนที่มีขนาดกองทุนโดยรวมเพิ่มขึ้น 14.4% ส่วนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มีขนาดกองทุนอยู่ที่ 2,200 ล้านบาท เติบโต 23% กองทุนส่วนบุคคล มีขนาดกองทุนอยู่ที่ 3,500 ล้านบาท เติบโต 210% ซึ่งบริษัทมีกองทุนที่ได้รับการตอบรับจากนักลงทุนเป็นอย่างดีและได้รับการจัดอันดับ 5 ดาวจาก Morningstar ได้แก่ กองทุนเปิด แอล เอช โกรท (LHGROWTH) กองทุนเปิด แอล เอช ตราสารหนี้ ชนิดจ่ายเงินปันผล (LHDEBT-D) กองทุนเปิด แอล เอช ไทย พร็อพเพอร์ตี้ (LHTPROP) กองทุนเปิด แอล เอช เฟล็กซิเบิ้ล (LHFL) และกองทุนเปิด แอล เอช เฟล็กซิเบิ้ลเพื่อการเลี้ยงชีพ (LHFLRMF)
นางสาวเยาวลักษณ์ อร่ามทวีทอง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) (LH Securities) กล่าวว่า แผนธุรกิจปี 2560 บริษัทได้พัฒนาระบบเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มความได้เปรียบในการแข่งขันและเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าในการใช้บริการ การขยายสาขาให้ครอบคลุม การพัฒนาคุณภาพของบุคลากรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ การให้คำแนะนำการลงทุน และการเปิดให้บริการผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ๆ ตลอดจนการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย
“ปีนี้ตั้งเป้าบัญชีอีกกว่า 1,000 บัญชี จากปีก่อน 7,703 บัญชี โดยมีบัญชีที่แอ็คทีฟหรือเคลื่อนไหวอย่างสม่ำเสมอ 40% โดยมีลูกค้าที่ซื้อขายผ่านระบบออนไลน์ 70% และออฟไลน์ 30% ทั้งนี้ ตั้งเป้ามาร์เก็ตแชร์โบรกเกอร์ปีนี้แตะ 1% จากปีก่อน 0.43% โดยตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันมีมาร์เก็ตแชร์เพิ่มขึ้น 0.44%”นางสาวเยาวลักษณ์กล่าว
นางสาวเยาวลักษณ์กล่าวต่อไปว่า สำหรับผลการดำเนินงานในปี 2559 บริษัทมีกำไรสุทธิ จำนวน 105.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 642.43 เมื่อเทียบกับปี 2558 เป็นรายได้ค่านายหน้าจากการซื้อขายหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้าจำนวน 90.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37.5 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 70.67 ซึ่งเป็นผลจากการทำการตลาดและการขยายฐานลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันบริษัทมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ร้อยละ 0.41 เพิ่มขึ้นร้อยละ 40 จากปี 2558
“สำหรับภาพรวมตลาดหุ้นไทยปี 2559 เติบโตเป็นที่น่าพอใจ แม้จะได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัยทั้งภายในและภายนอกแต่ด้วยพื้นฐานประเทศที่แข็งแกร่งภายใต้การขับเคลื่อนจากนโยบายภาครัฐ และศักยภาพของบริษัทจดทะเบียนไทยที่ปรับตัวรับสถานการณ์ได้เป็นอย่างดี ทำให้มีการเติบโตที่ดีและโดดเด่น เมื่อเทียบกับตลาดอื่นในภูมิภาค ตลาดทุนไทยมีศักยภาพแข็งแกร่งต่อเนื่องในระดับภูมิภาค โดยดัชนี SET Index ณ วันที่ 30 ธันวาคม 2559 ปิดที่ 1,542.94 จุด สร้างผลตอบแทนเติบโตถึง 19.79%และสภาพคล่องสูงเป็นอันดับหนึ่งในภูมิภาคติดต่อกันเป็นปีที่ 5 อยู่ที่ 52,525.6 ล้านบาทต่อวัน สัดส่วนมูลค่าการซื้อขายของผู้ลงทุนบุคคลและสถาบัน (ไม่นับรวมบัญชีหลักทรัพย์) อยู่ที่ 53% และ 47% โดยมีผู้ลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิสูงถึง 78,545.9 ล้านบาท”นางสาวเยาวลักษณ์กล่าว
ข่าวเด่น