พันเอก ดร. นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รองประธาน กสทช.) และประธานกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) กล่าวว่า ทิศทางอุตสาหกรรมโทรทัศน์ในปี 2560 ยังมีทิศทางเป็นบวกจากการออกมาตรการสำคัญต่างๆ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการประกอบกิจการของผู้ประกอบการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล (ดิจิตอลทีวี) ตามมาตรา 44 ทั้งการขยายระยะเวลาการชำระค่าใบอนุญาต และสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตามประกาศ Must Carry เป็นระยะเวลา 3 ปี ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ประกอบการแต่ละรายมีค่าใช้จ่ายลดลงชัดเจนในปีนี้ และมีเงินทุนหมุนเวียนในอุตสาหกรรมเพิ่มสูงถึง 12,615 ล้านบาท เฉพาะในปี 2560 ผู้ประกอบการจะมีเงินลงทุนหมุนเวียนเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 4,984 ล้านบาท ส่งผลให้แต่ละช่องสามารถนำเงินมาลงทุนพัฒนาช่องรายการ และลงทุนคอนเทนต์ได้มากขึ้น
การเติบโตของ GDP และ แนวโน้มการบริโภคของประชาชนในปี 2559 เป็นไปในทิศทางบวก จึงสามารถคาดการณ์ได้ว่า เพื่อกระตุ้นการบริโภคของประชาชนในปี 2560 บริษัทผู้ผลิตสินค้าและบริการจะใช้งบโฆษณาทางโทรทัศน์มากขึ้น ขณะเดียวกัน การเคลื่อนย้ายทุนจากกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่เข้าสู่อุตสาหกรรมโทรทัศน์ผ่านการ ซื้อหุ้นในช่อง ดิจิตอลทีวี เช่น ช่องวัน และช่องอมรินทร์ทีวี จะช่วยให้ช่องดิจิตอลทีวีมีความแข็งแกร่งทางการเงิน ส่งผลต่อภาพรวมอุตสาหกรรมโทรทัศน์ โดยเฉพาะการอัดฉีดเม็ดเงินโฆษณา
ประธาน กสท. กล่าวว่า ปีนี้จะเห็นธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอุตสาหกรรมโทรทัศน์เติบโตมากขึ้น ทั้งธุรกิจที่ใช้โครงข่ายอินเทอร์เน็ตเพื่อรับชมคอนเทนต์โทรทัศน์ หรือ OTT ทีวีโฮมช้อปปิ้ง และ Mobile DTV เนื่องจากปัจจุบันประชาชนมีช่องทางการรับชมเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้อินเตอร์เน็ตเพื่อรับชมคอนเทนต์โทรทัศน์ ส่งผลให้การให้บริการ OTT มี แนวโน้มเติบโตสูงขึ้น และกลายเป็นแพลตฟอร์มสำคัญในการนำเสนอคอนเทนต์ สร้างความ ท้าทายให้แก่ กสทช. ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแล และผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ทั้งฟรีทีวีและเพย์ทีวี ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องเร่งปรับตัว
“ในกรณีของฟรีทีวีขณะนี้ก็สามารถเชื่อมโยงคอนเทนต์ที่ออกอากาศทางโทรทัศน์กับแพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ต (Cross Platform) เพื่อสร้างความสะดวกในการรับชมให้แก่ประชาชน ส่วนในกรณีของเพย์ทีวี ก็ต้องปรับปรุงด้านคอนเทนต์ให้มีความน่าสนใจในราคาที่เหมาะสม นอกจากนี้ การกำกับดูแลที่ยังมีความแตกต่างระหว่างฟรีทีวีและ OTT สะท้อนความจำเป็นในการสร้างโมเดลการอนุญาตที่มีความชัดเจนต่อการให้บริการประเภทดังกล่าวด้วย” ประธาน กสท. กล่าว
ประธาน กสท. กล่าวด้วยว่า ธุรกิจ โฮมช้อปปิ้งก็เป็นอีกธุรกิจที่จะเห็นการเติบโตชัดในปีนี้ และยังมีโอกาสขยายตัวได้มาก ซึ่งน่าจะเห็นผู้เล่นรายใหม่สนใจเข้าสู่ตลาดนี้มากขึ้น ปัจจุบันผู้ประกอบการทีวีโฮมช้อปปิ้งเลือกที่จะนำสินค้าและบริการมาโฆษณา ผ่านทางฟรีทีวี และดิจิตอลทีวี ทำให้ผู้ประกอบการโทรทัศน์มีรายได้จากการเช่าเวลาออกอากาศเพื่อเสนอขาย สินค้า แต่ในแง่กฎกติกาของหน่วยงานกำกับก็ต้องมีความชัดเจนตามไปด้วย เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจ
นอกจากนี้ยังมีตลาด Mobile DTV ที่จะเห็นแนวโน้มการขยายตัวต่อเนื่อง โดยในช่วงปี 2556-2559 มีจำนวน Mobile DTV ที่ขายในท้องตลาดประมาณ 1.53 ล้านเครื่อง ซึ่งการเติบโตของตลาด Mobile DTV เกิด จากหลายปัจจัย เช่น ความต้องการของผู้บริโภคในตลาดที่เพิ่มสูงขึ้น และการขยายโครงข่ายและสัญญาณดิจิตอลทีวีที่ครอบคลุมเกือบทุกพื้นที่
ประธาน กสท. กล่าวว่า สำหรับอุตสาหกรรมโทรทัศน์ในปีที่ผ่านมา คนไทยมีการรับชมโทรทัศน์ผ่านระบบดาวเทียมมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วน 55% รองลงมาเป็นการรับชมผ่านดิจิตอลทีวี 30% การรับชมในระบบแอนะล็อก 9% และรับชมผ่านเคเบิลทีวีน้อยที่สุด 6%
ในปี 2559 สัดส่วนผู้ชมช่องรายการเดิมลดลงตลอดทั้งปี จากเดิมเดือน ม.ค. อยู่ที่ 61.1% ลดเหลือ 46.8% ในเดือน ธ.ค. สวนทางกับสัดส่วนผู้ชมช่องรายการดิจิตอลที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากเดือน ม.ค. อยู่ที่ 38.9% เพิ่มเป็น 53.2% ในเดือน ธ.ค. ขณะที่การขยายโครงข่ายดิจิตอลทีวีขณะนี้ครอบคลุมพื้นที่ทั้งประเทศถึง 91.7% แล้ว
ข่าวเด่น