เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
"กรุงศรีฯ" คาดเงินบาทสัปดาห์นี้ แกว่งตัวในกรอบ 34.85-35.15 บาท/ดอลลาร์


ฝ่ายส่งเสริมธุรกิจและกำกับดูแลโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีความเห็นต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า น่าจะเคลื่อนไหวในกรอบ 34.85-35.15 บาทต่อดอลลาร์ หลังจากที่ปิดแข็งค่าขึ้นที่ 34.98 บาทต่อดอลลาร์ในสัปดาห์ที่แล้ว จากเงินทุนไหลเข้าตลาดพันธบัตรไทยและการอ่อนค่าของดอลลาร์ในตลาดโลกส่งผลให้เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 3 เดือนครั้งใหม่ ปฏิกิริยาของตลาดที่มีต่อคำกล่าวของประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ว่าการชะลอปรับขึ้นดอกเบี้ยอาจทำให้เฟดตามสถานการณ์ไม่ทัน และการปรับนโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติช้าเกินไป ได้สร้างความประหลาดใจ โดยเยลเลน ประธานเฟด อ้างถึงแนวโน้มตลาดแรงงานตึงตัวและเงินเฟ้อที่จะเพิ่มขึ้นสู่เป้าหมาย แม้ไม่ได้ชี้ชัดว่าจะขึ้นดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีนี้ หรือการขยับดอกเบี้ยครั้งแรกของปีจะเกิดขึ้นเมื่อใด ขณะที่เยลเลนทิ้งท้ายด้วยว่า นโยบายเศรษฐกิจภายใต้รัฐบาลนายโดนัลด์ ทรัมป์ มีทิศทางไม่แน่นอน

ฝ่ายส่งเสริมธุรกิจและกำกับดูแลโกลบอลมาร์เก็ตส์ คาดว่า เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยเดือนมิถุนายนและธันวาคม  0.50% ในปีนี้ และเมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ในตลาดซึ่งยังไม่เชื่อว่า เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยได้ถึง 2 รอบ อีกทั้งความกังวลในยุโรปซึ่งส่งผลให้ส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรฝรั่งเศสเทียบกับเยอรมัน สะท้อนความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น ทำให้เรามองว่า ความเสี่ยงด้านขาลงของค่าเงินดอลลาร์ยังมีจำกัด อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า ปัจจัยชี้นำตลาดในระยะนี้ จะมาจากการส่งข้อความผ่านทวิตเตอร์ของนายทรัมป์ และข้อบ่งชี้เกี่ยวกับรายละเอียดการปฏิรูปภาษีรวมถึงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งนักลงทุนให้น้ำหนักมากกว่าตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ  

สำหรับปัจจัยในประเทศ ประเดิมสัปดาห์ด้วยรายงานจีดีพีจากสภาพัฒน์ฯ ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ โดยเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4/59 เติบโต 3.0% เทียบรายปี ตามที่ตลาดคาดไว้ และขยายตัว 0.4% เทียบรายไตรมาส ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่นักวิเคราะห์ประเมินไว้ที่ 0.6% อย่างไรก็ดี สำหรับทั้งปี 2559 จีดีพี เติบโต 3.2% ตามคาด เทียบกับปี 2558 ที่มีการปรับปรุงตัวเลขเป็น +2.9% อนึ่ง สภาพัฒน์ฯ คงประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจปีนี้ไว้ในกรอบ 3.0-4.0% ท่ามกลางแนวโน้มการฟื้นตัวของภาคส่งออกที่กระเตื้องขึ้น ทั้งนี้ เรามองว่าข้อมูลในส่วนที่พลาดเป้าดังกล่าวอาจส่งผลด้านจิตวิทยาต่อทิศทางค่าเงินบาทและตลาดตราสารหนี้ไทยชั่วคราว แต่หากพิจารณาพื้นฐานภาพรวม แรงส่งของกิจกรรมเศรษฐกิจด้านต่างๆ สามารถประคองตัวได้ค่อนข้างดี ขณะที่การเคลื่อนไหวของค่าเงินดอลลาร์ในตลาดโลกและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯยังคงมีอิทธิพลสำคัญต่อไป


LastUpdate 21/02/2560 15:46:45 โดย : Admin
26-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 26, 2024, 6:34 pm