การจัดอันดับความโปร่งใสขององค์กรความโปร่งใสนานาชาติ ที่ลดอันดับไทยลงมากว่า 20 อันดับ จากอันดับที่ 76 มาอยู่อันดับที่ 101 แม้หากดูที่คะแนนจะเห็นว่าลดลงเพียง 3 คะแนน แต่จำนวนประเทศที่มีมากและมีคะแนนใกล้เคียงกันจำนวนมาก ทำให้อันดับของไทยร่วงลงมามาก ซึ่งทำให้ทุกฝ่ายโดยเฉพาะรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ประกาศในช่วงแรกที่เข้ามาบริหารบ้านเมือง โดยได้กำหนดให้การปราบปรามทุจริตและการคอร์รัปชั่นเป็นวาระแห่งชาติ
ซึ่งนายกรัฐมนตรี ยอมรับว่า การปราบปรามการทุจริตวันนี้ยังมีปัญหาอีกมาก เพราะระบบที่ยังมีปัญหา ทำให้ต้องใช้หลายๆ กลไกด้วยกัน ต้องมีระบบที่ดีสามารถตรวจสอบและป้องกันได้ในการทำโครงการต่างๆของรัฐ เช่น การทุจริตในระบบการจัดซื้อจัดจ้าง,การสมยอมราคา (การฮั้วประมูล), การกำหนดราคากลางที่ไม่เป็นมาตรฐาน,การกำหนดขอบเขตงาน (ทีโออาร์) ที่ไม่ชัดเจน – ล็อกสเปก หรือการจัดซื้อผ่านตัวแทนจำหน่าย
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้เตรียมจัดตั้งคณะกรรมการดูแลโครงการจัดซื้อจัดจ้างขนาดใหญ่ หรือ ซูเปอร์บอร์ด เพื่อติดตามท้วงติงโครงการขนาดใหญ่ไม่ให้มีการของบเพิ่มเติม หรือมีปัญหาในขั้นตอนของการจัดทำทีโออาร์ เพื่อป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่นที่จะเกิดขึ้น
และ ในที่สุด พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ใช้อำนาจตาม ม.44 ออกคำสั่งเรื่องกำกับการจัดซื้อจัดจ้างหน่วยงานรัฐ โดยมีการตั้งคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างหน่วยงานรัฐ ซึ่งจะทำให้กระบวนการทำงานรวดเร็วขึ้น เนื่องจากคณะกรรมการชุดนี้มีอำนาจในเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐทั้งหมด ตั้งแต่ขั้นตอนการร่างทีโออาร์จนถึงการประมูล
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะกรรมการกำกับการจัดซื้อจัดจ้างหรือซูเปอร์บอร์ด จะมีหน้าที่พิจารณาโครงการจัดซื้อจัดจ้างโครงการขนาดใหญ่ที่มีวงเงินตั้งแต่ 5,000 ล้านบาทขึ้นไป หรือเป็นโครงการที่สำคัญ ซึ่งรัฐบาลต้องการผลักดันโครงการให้เป็นไปด้วยความรวดเร็ว ขณะเดียวกันก็ต้องการให้เกิดความโปร่งใสให้มากที่สุด และยืนยันว่าจะไม่ทำให้โครงการต่างๆ ล่าช้า แต่จะดูช่วยดูรายละเอียดต่างๆ อย่างรอบคอบ
โดยผู้ทรงคุณวุฒิที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง 4 ราย ประกอบด้วย นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล เป็นประธานกรรมการ นายกานต์ ฮุนตระกูล เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ นายมนัส แจ่มเวหา เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และ นายสมพล เกียรติไพบูลย์ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อให้คำปรึกษาเกี่ยวกับ กฎเกณฑ์ต่างๆ ที่เปลี่ยนไปตามสถานการณ์และข้อเท็จจริง ซึ่งอาจนอกเหนือจากมุมมองของข้าราชการ
ทั้งนี้ ในคำสั่งหัวหน้า คสช.เรื่องการกำกับการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานของรัฐ ได้ระบุรายชื่อโครงการที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรรมการชุดนี้เบื้องต้น ประกอบด้วย 7 โครงการ ได้แก่ โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ประกอบด้วย 1.สายชายฝั่งทะเลตะวันออกช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย 2.ช่วงชุมทางถนนจิระ- ขอนแก่น 3.ช่วงมาบกะเบา- ชุมทางถนนจิระ 4.ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ 5.ช่วงนครปฐม-หัวหิน 6.ช่วงหัวหินประจวบคีรีขันธ์ 7.ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร
ข่าวเด่น