การแข็งค่าของเงินบาทได้กลับมาเป็นปัจจัยที่ผู้ส่งออกให้ความสนใจอีกครั้ง หลังค่าเงินบาทได้ปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2559 ที่ผ่านมา
โดย นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และรองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ภาคส่งออกกำลังติดตามภาวะค่าเงินบาทใกล้ชิด เนื่องจากเริ่มมีทิศทางของการแข็งค่าขึ้นมากในช่วงเดือนก.พ.ต่อเนื่อง โดยเคลื่อนไหวระดับ 34.80-34.99 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เองก็เฝ้าติดตาม เพื่อไม่ให้เกิดความผันผวน อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (เฟด) ว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงเดือน มี.ค.นี้ อีกหรือไม่
โดยหากเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ก็จะทำให้เงินบาทกลับมาอ่อนค่าได้ จากเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้น และขณะนี้ยอมรับว่าค่าเงินบาทค่อนข้างมีความผันผวน
ทั้งนี้ ยอมรับว่า สิ่งที่ผู้ส่งออกกังวลขณะนี้ คือ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น เพราะจะมีผลต่อขีดความสามารถทางการแข่งขันในการส่งออกของสินค้าไทย ดังนั้นสิ่งสำคัญ คือ ธปท.ต้องดูแลเงินบาทไม่ให้ผันผวน และให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นในทิศทางเดียวกับประเทศคู่แข่งทางการค้า ก็จะทำให้ผู้ส่งออกไม่ต้องลำบากมาก เพราะหากแข็งค่ากว่าคู่แข่งอำนาจต่อรองราคาสินค้าก็จะลำบาก อย่างไรก็ตาม กรณีที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายที่จะผลักดันการส่งออกปี 2560 ให้เติบโตระดับ 5% จากปีที่แล้วนั้น เป็นเรื่องของเป้าหมายที่ตั้งไว้ เพื่อท้าทายการทำงานร่วมกันทั้งรัฐและเอกชน
โดยเป้าหมายการส่งออกดังกล่าว ยอมรับว่า หากค่าเงินบาทยังคงแข็งค่า อาจจะทำให้มีข้อจำกัดต่อการเติบโตการส่งออก แต่ก็หวังว่าจะเป็นระยะสั้นๆ เนื่องจากภาพรวมการส่งออกปี 2560 คาดว่าจะดีกว่าปีที่แล้ว แต่จะเติบโตได้ถึง 5% หรือไม่ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องคงต้องร่วมมือในการผลักดัน แต่สิ่งหนึ่งที่ไทยจำเป็นจะต้องเร่งดำเนินการ คือ การผลักดันสินค้าส่งออกตามแนวชายแดน ซึ่งปีที่ผ่านมายอมรับว่าการเติบโตมีเพียง 2.8% เท่านั้น ขณะที่ตั้งเป้าไว้จะโตถึง 7% เพราะภาวะเศรษฐกิจโลกภาพรวมชะลอตัว โดยเฉพาะจากจีน แต่ในปีนี้คาดหวังว่าการค้าชายแดนของไทยน่าจะกลับมาขยายตัวได้ดีอีกปีหนึ่ง เนื่องจากเศรษฐกิจประเทศเพื่อนบ้านมีทิศทางปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก
ด้าน นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ยอมรับว่า การที่ นักลงทุนต่างชาติมองประเทศไทยเป็นตลาดที่ปลอดภัย เพราะมีทุนสำรองระหว่างประเทศสูง บัญชีเดินสะพัดเกินดุล ทำให้เงินบาทแข็งค่าและมีความผันผวนมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ธปท.มีกลไกดูแลค่าเงินอย่างใกล้ชิด แต่ ธปท.ทำได้แค่ชะลอเท่านั้น ไม่สามารถทำในลักษณะที่สวนทางตลาดได้ ดังนั้นผู้ลงทุนควรจะต้องบริหารความเสี่ยงของค่าเงินอย่างระมัดระวัง
นางสาวปารีณา พ่วงศิริ ผู้ชำนาญการงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุนอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ค่าเงินบาทของไทยในช่วงที่ผ่านมา แข็งค่าขึ้น 2.29% มาอยู่ที่ 34.98 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ (ณ 23 ก.พ.) จากสิ้นปี 2559 อยู่ที่ 35.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งนับว่าแข็งค่าเป็นอันดับ 4 ในภูมิภาค รองจากเงินวอนของเกาหลี เงินดอลลาร์ไต้หวัน และดอลลาร์สิงคโปร์ ขณะที่มีค่าความผันผวน 0.7% ซึ่งต่ำที่สุดในภูมิภาค โดยสกุลเงินที่มีค่าความผันผวนสูงสุดเป็นอันดับหนึ่ง คือ ริงกิต มีค่าความผันผวน 6.2% ตามมาด้วย เปโซ วอน รูเปียห์ ดอลลาร์สิงคโปร์ ผันผวน 3.4%, 3.1%, 2.5% และ 2.5% ตามลำดับ
ข่าวเด่น