แบงก์-นอนแบงก์
สถาบันคุ้มครองเงินฝากพัฒนาแผนยุทธศาสตร์ เดินหน้าสร้างความเชื่อมั่นผู้ฝากเงิน


สถาบันคุ้มครองเงินฝากเดินหน้าสร้างความเชื่อมั่นผู้ฝากเงิน ชี้พัฒนาแผนยุทธศาสตร์มุ่งมั่นพัฒนาระบบปฏิบัติการจ่ายคืนผู้ฝาก และระบบการชำระบัญชีและบริหารจัดการสินทรัพย์ต่อเนื่อง       แจงล่าสุดดูแลผู้ฝากเงินที่อยู่ภายใต้ความคุ้มครองกว่า 70 ล้านราย
    

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ประธานกรรมการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก แถลงผลการดำเนินงานของสถาบันคุ้มครองเงินฝากในปี 2559 ที่ผ่านมา และแผนการดำเนินงานในปี 2560 โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2559 และแนวโน้มเศรษฐกิจปี 2560
    

เศรษฐกิจไทยปี 2559 ขยายตัวร้อยละ 3.2 ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตสูงสุดในรอบ 4 ปี โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่ขยายตัวต่อเนื่อง ประกอบกับการลงทุนภาคเอกชน การส่งออกสินค้าและบริการ ที่ปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อน ขณะที่การลงทุนภาครัฐขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง แต่ยังคงอยู่ในระดับสูง
    สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2560 สำนักงานเศรษฐกิจการคลังคาดว่าจะขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นที่
ร้อยละ 3.6 (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.1 – 4.1) จากแรงขับเคลื่อนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โครงการลงทุนภาครัฐ ซึ่งจะทำให้เอกชนมีความเชื่อมั่นในการลงทุน รวมทั้งแนวโน้มรายได้เกษตรกรที่ปรับตัวดีขึ้นซึ่ง จะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้ต่อเนื่อง ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวยังคงขยายตัวต่อเนื่อง และการส่งออกมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นเช่นกัน  

เสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินในปี 2559


ระบบสถาบันการเงินยังคงมีเสถียรภาพอยู่ในเกณฑ์ดี ซึ่ง ณ สิ้นปี 2559 สถาบันการเงินทั้งระบบมีฐานะเงินกองทุนแข็งแกร่ง และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากการจัดสรรกำไรเป็นสำคัญ โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 18.05 จากร้อยละ 17.44 ในปีก่อน และอัตราส่วนเงินกองทุน    ชั้นที่ 1 (Tier-1 Ratio) เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 15.08 จากร้อยละ 14.60 ในปีก่อน สำหรับการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบเพื่อรองรับสถานการณ์ด้านสภาพคล่องที่มีความรุนแรง (Liquidity Coverage Ratio: LCR) ตามเกณฑ์ Basel III อยู่ที่ร้อยละ 175.19 โดยธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งมี LCR สูงกว่าเกณฑ์ที่ ธปท. กำหนดที่ร้อยละ 60 อยู่มาก

สำหรับสินเชื่อรวมของระบบสถาบันการเงิน (รวมสินเชื่อระหว่างธนาคารและตลาดเงิน) ณ สิ้นปี 2559 มีจำนวน 13.64 ล้านล้านบาท โดยขยายตัวในอัตราเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 3.11 เทียบกับปี 2558 ที่ขยายตัวได้ร้อยละ 2.71  สำหรับสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวม (NPL Ratio) อยู่ที่ร้อยละ 2.83 จากร้อยละ 2.56 ในปีก่อน ขณะที่เงินสำรองสินเชื่อยังอยู่ในระดับสูง คิดเป็นร้อยละ 136.47 ของสินเชื่อที่         ไม่ก่อให้เกิดรายได้  ดังนั้น แม้ว่าสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้น แต่สถาบันการเงินได้มีการตั้งสำรองสำหรับสินเชื่อเพิ่มขึ้นเพียงพอที่จะรองรับคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลง

สำหรับเงินฝาก ณ สิ้นปี 2559 มีจำนวนทั้งสิ้น 12.61 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.44 จากสิ้นปี 2558 และในปี 2559 สถาบันการเงินมีกำไรสุทธิจำนวน 1.99 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ร้อยละ 3.60 เป็นผลจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่เพิ่มขึ้นจากการบริหารจัดการต้นทุนดอกเบี้ย
    

ทั้งนี้ หากวิเคราะห์สถาบันการเงินในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทย (ธพ.ไทย) ทั้งกลุ่ม ธพ. ไทย        ขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก ก็มีเสถียรภาพอยู่ในเกณฑ์ดี มีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) และมีการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ไทยเพื่อรองรับสถานการณ์ด้านสภาพคล่องที่มีความรุนแรง (Liquidity Coverage Ratio: LCR) ตามเกณฑ์ Basel III สูงกว่าเกณฑ์ที่ ธปท. กำหนดอยู่มาก

เงินฝากที่ได้รับการคุ้มครอง
    

ณ สิ้นปี 2559 สถาบันการเงินที่อยู่ในความคุ้มครองของสถาบันคุ้มครองเงินฝากมีจำนวน 35 แห่ง โดยมีจำนวนผู้ฝากเงินที่อยู่ภายใต้ความคุ้มครองเงินฝากรวมทั้งสิ้นประมาณ 70.93 ล้านราย หรือคิดเป็นจำนวนเงินฝากในระบบกว่า 11.9 ล้านล้านบาท โดยเงินฝากที่อยู่ในวงเงินคุ้มครองไม่เกิน 15 ล้านบาท ต่อรายผู้ฝากต่อสถาบันการเงิน จำนวน 70.85 ล้านราย หรือคิดเป็นร้อยละ 99.90 ของผู้ฝากเงินทั้งระบบ อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนแปลงวงเงินคุ้มครองจาก 25 ล้านบาท เป็น 15 ล้านบาท เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2559 โดยรวมแล้วไม่มีสัญญาณการโยกย้ายเงินฝากออกจากระบบสถาบันการเงิน

ฐานะของกองทุนคุ้มครองเงินฝากปี 2559

กองทุนคุ้มครองเงินฝาก ณ สิ้นปี 2559 มีจำนวน 116,596 ล้านบาท โดยสถาบันลงทุนทั้งหมดในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูง ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก กฎกระทรวง และนโยบายการลงทุนที่กำหนดการลงทุนของสถาบันเน้นลำดับความสำคัญ คือ ความมั่นคง สภาพคล่อง และผลตอบแทน   โดย ณ สิ้นปี 2559 มีการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล ตราสารหนี้ที่กระทรวงการคลังค้ำประกันต้นเงินและดอกเบี้ย เงินฝากธนาคารแห่งประเทศไทย ตราสารหนี้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้ออก และการฝากเงินกับธนาคารที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น

ผลการดำเนินงานตามแผนงานของสถาบันปี 2559

สำหรับปี 2559 คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2559 ได้มีมติที่สำคัญ 2 เรื่องที่เกี่ยวข้องกับ  การคุ้มครองเงินฝาก ได้แก่

1.    การขยายระยะเวลาที่จะบังคับใช้วงเงินคุ้มครอง 1 ล้านบาท จากเดิมบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2559 เลื่อนเป็นตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2563 โดยมีการทยอยปรับวงเงินคุ้มครองเป็นลำดับขั้น     ซึ่งช่วยสนับสนุนความมั่นใจและเสริมสร้างเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจและสถาบันการเงินเพิ่มขึ้นและ     ทำให้ผู้ฝากเงินมีระยะเวลาในการปรับตัวเพิ่มขึ้นที่จะบริหารจัดการเงินฝาก และเงินลงทุนอย่างเหมาะสม

2.    การแก้ไขพระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ.2551 เกี่ยวกับขั้นตอนกระบวนการจ่ายคืนเงินฝากแก่ผู้ฝากเงิน โดยประเด็นสำคัญ คือ การกำหนดให้สถาบันจ่ายคืนเงินแก่ผู้ฝากทุกรายภายใน 30 วันนับแต่วันที่สถาบันการเงินถูกเพิกถอนใบอนุญาต โดยที่ผู้ฝากไม่ต้องมายื่นคำขอรับเงิน ซึ่งจะช่วยอำนวย   ความสะดวกให้แก่ผู้ฝากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ กระบวนการแก้ไขพระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝากดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว อยู่ระหว่างขั้นตอนการนำเสนอคณะรัฐมนตรี ก่อนเสนอ
สภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

เพื่อให้การสนับสนุนและรองรับกับนโยบายของภาครัฐซึ่งเป็นประโยชน์แก่ประชาชนผู้ฝากเงิน สถาบันได้มุ่งดำเนินการที่สำคัญ 2 ด้าน ได้แก่ ด้านแรก คือ ด้านการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ สถาบันได้เดินหน้าสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนและเจ้าหน้าที่สถาบันการเงิน และร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง จัดสัมมนาให้ความรู้ด้านการคุ้มครองเงินฝากในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ รวมถึงประสานกับสถาบันการเงินสมาชิกในการเผยแพร่ข้อมูลการคุ้มครองเงินฝาก ซึ่งได้รับผลตอบรับจากประชาชนผู้ฝากเงินเป็น   อย่างดี โดยประชาชนมีความเข้าใจและความเชื่อมั่นกับการคุ้มครองเงินฝากเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้     เพื่อพัฒนาการเสริมสร้างความรู้ด้านการคุ้มครองเงินฝาก สถาบันได้มีการสำรวจการรับรู้ของประชาชนที่มีต่อสถาบันและระบบคุ้มครองเงินฝาก เพื่อนำผลมาพัฒนากระบวนการสร้างความรู้ความเข้าใจและประสิทธิภาพงานด้านการสื่อสารต่อไป  

ด้านที่สอง ด้านการจ่ายคืนผู้ฝาก  สถาบันมุ่งให้ความสำคัญกับภารกิจนี้เป็นอย่างยิ่ง เพื่อพัฒนาให้การจ่ายคืนผู้ฝากมีความสะดวกและรวดเร็ว โดยมีการพัฒนาระบบปฏิบัติงานจ่ายคืนผู้ฝากซึ่งเป็นการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วยในการปฏิบัติงานของกระบวนการจ่ายคืนเงินผู้ฝากเมื่อสถาบันการเงิน        ถูกเพิกถอนใบอนุญาต ซึ่งช่วยให้กระบวนการจ่ายคืนเป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็ว

นอกจากการดำเนินการเพื่อรองรับและสนับสนุนนโยบายของภาครัฐ สถาบันได้ดำเนินงานด้านที่สำคัญอื่นๆ สำเร็จเป็นอย่างดี โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1.    ด้านการชำระบัญชี  เพื่อให้การเตรียมความพร้อมในการชำระบัญชีสถาบันการเงินที่ถูก         ปิดกิจการอย่างมีประสิทธิภาพ สถาบันได้พัฒนากระบวนการด้านการชำระบัญชีและบริหารสินทรัพย์อย่างครบถ้วน และพร้อมในการปฏิบัติงานตามพันธกิจ นอกจากนี้ สถาบันยังมี        การทบทวนและปรับปรุงจัดทำแนวทางการปฏิบัติงานของสถาบันในช่วงที่สถาบันการเงิน         ถูกควบคุม ช่วงการจ่ายคืน และช่วงการชำระบัญชีให้พร้อมใช้งานเมื่อเกิดเหตุการณ์  

2.    ด้านการสร้างเครือข่ายกับหน่วยงานภายนอก  สถาบันได้สร้างเครือข่ายความร่วมมือทั้งหน่วยงานภายในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2559 สถาบันได้ลงนามในบันทึกความร่วมมือกับสถาบันประกันเงินฝากประเทศเกาหลีใต้ (KDIC) และต่ออายุบันทึก    ความร่วมมือกับกองทุนปกป้องผู้ฝากเงินสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

3.    ด้านการพัฒนาบุคลากรและองค์กร  สถาบันได้มีการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศให้ครบถ้วนเพียงพอ มีการพัฒนาระบบการตรวจสอบให้ครบถ้วนตามมาตรฐานสากล เพื่อให้      การบริหารงานของสถาบันเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลและการบริหารจัดการที่ดี และมี        การรักษาและพัฒนาบุคลากรให้มีความพร้อมเพื่อปฏิบัติงานตามพันธกิจ

ยุทธศาสตร์และแผนการดำเนินงานที่สำคัญของสถาบันปี 2560

ในปี 2560 สถาบันมีเป้าหมายที่จะพัฒนาระบบจ่ายคืนผู้ฝากและชำระบัญชีให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงการเพิ่มช่องทางการสื่อสารประชาสัมพันธ์แก่ผู้ฝากเงิน สถาบันการเงิน และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในตาข่ายความมั่นคงทางการเงินให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

1.ด้านการจ่ายคืนผู้ฝาก  สถาบันเดินหน้าพัฒนาระบบจ่ายคืนผู้ฝากให้ดำเนินการได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
โดยจัดให้มีการประมวลผลข้อมูลรายผู้ฝากเพื่อการจ่ายคืนของสถาบันการเงินทุกแห่งได้อย่างรวดเร็วและพัฒนาระบบปฏิบัติงานจ่ายคืนผู้ฝาก ซึ่งนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาสนับสนุนการจ่ายคืนแก่ผู้ฝากให้  แล้วเสร็จ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ฝากได้รับความสะดวกและรวดเร็วในการจ่ายคืน

2. ด้านการชำระบัญชีและบริหารสินทรัพย์  เพื่อให้การบูรณาการการชำระบัญชีและบริหารสินทรัพย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในปี 2560 สถาบันจะดำเนินการทบทวนและปรับปรุงนโยบายชำระบัญชี กรอบแนวทางที่จะนำไปจัดทำแผนและคู่มือปฏิบัติการในการชำระบัญชีและบริหารจัดการสินทรัพย์ รวมถึงกระบวนการในการทำงาน และคู่มือปฏิบัติงานด้านการชำระบัญชีและบริหารจัดการสินทรัพย์ ตั้งแต่สถาบันการเงินถูกควบคุม จนถึงสถาบันการเงินเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย นอกจากนี้ สถาบันจะจัดทำแนวทาง    การนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้สำหรับงานด้านการชำระบัญชีและบริหารจัดการสินทรัพย์ เพื่อให้   การดำเนินการชำระบัญชีและบริหารสินทรัพย์ของสถาบันการเงินที่ถูกปิดเป็นไปได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

3. ด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์  สถาบันยังคงเดินหน้าเพิ่มระดับการรับรู้ของประชาชนที่มีต่อระบบคุ้มครองเงินฝากอย่างต่อเนื่อง โดยมีการพัฒนาสื่อประชาสัมพันธ์ในรูปแบบต่าง ๆ เกี่ยวกับการคุ้มครอง
เงินฝากที่เข้าใจได้ง่ายยิ่งขึ้น

4. ด้านการพัฒนาบุคลากรและองค์กร  สถาบันจะพัฒนาการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เพื่อป้องกันและปิดช่องโหว่ของ IT Architecture จาก
ภัยคุกคามไซเบอร์ (Cyber-security risk assessment) รวมทั้งการมุ่งมั่นสร้างบุคลากรที่มีความสามารถ     โดยปี 2560 สถาบันมุ่งเน้นพัฒนาบุคลากรและสร้างความผูกพันของพนักงานต่อองค์กรให้เพิ่มขึ้นต่อไป


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 27 ก.พ. 2560 เวลา : 15:42:38
13-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 13, 2025, 7:45 am